บ้านไร่ละมัยฟาร์ม ชัยบาดาล ผลิตพันธุ์แพะบอร์ 100% ป้อนตลาด

“เมื่อ 10 ปีก่อน ราคาซื้อขายแพะเนื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 35-40 บาทเท่านั้น เมื่อปี 2553 รัฐบาลหันมาส่งเสริมการเลี้ยงแพะตามนโยบาย “ไทยเข้มแข็ง” ส่งผลให้ราคาแพะเนื้อในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้นจากการที่พ่อค้ารายใหญ่ต้องการจัดหาแพะจำหน่ายเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จนถึงปัจจุบันราคาขายแพะเนื้ออยู่ที่ 120 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรหันมาสนใจเลี้ยงแพะกันอย่างกว้างขวาง” คุณธวัชชัย มากมี ปศุสัตว์อำเภอชัยบาดาล (โทร. (081) 365-8884) บอกเล่าถึงที่มาของตลาดเนื้อแพะที่ขายดี

คุณธวัชชัย มากมี ปศุสัตว์อำเภอชัยบาดาล

จังหวัดลพบุรีก็เป็นอีกหนึ่งในทำเลทองของการเลี้ยงแพะในพื้นที่ภาคกลาง นับตั้งแต่ปี 2554 จังหวัดลพบุรีได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณของจังหวัดให้กับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ กิจกรรมส่งเสริมทดลองการเลี้ยงแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจให้กับเกษตรกรจำนวน 50 ราย โดยสนับสนุนแพะพ่อ-แม่พันธุ์ ให้กับเกษตรกรจำนวนดังกล่าว รายละ 8 ตัว (เพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 7 ตัว) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอาชีพการเลี้ยงแพะก็ได้รับความสนใจจากเกษตรกรในจังหวัดลพบุรี เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

เฉพาะพื้นที่อำเภอชัยบาดาลเอง มีเกษตรกรรายย่อยสนใจเลี้ยงแพะมากกว่าหมื่นตัว ส่วนใหญ่เป็นแพะพันธุ์ลูกผสม (Mixed breed) เป็นลูกแพะที่เกิดจากการผสมพันธุ์ของพ่อแม่แพะต่างพันธุ์ซึ่งอาจเป็นการผสมพันธุ์กันระหว่างพันธุ์ซาแนนกับพันธุ์แองโกลนูเบียน พันธุ์ซาแนนกับพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ซาแนนกับพันธุ์บอร์ ฯลฯ

โรงเรือนเลี้ยงแพะตั้งแนวขวางตะวันเพื่อรับแดดช่วงเช้าและบ่าย

“เกษตรกรส่วนใหญ่ เลี้ยงแพะแบบชาวบ้านที่เรียกว่าเลี้ยงแพะดิน ซึ่งเป็นการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์แพะลูกผสมขายตัวผู้ให้ฟาร์มกลางน้ำนำไปเพื่อไปขยายพันธุ์หรือขุนต่อ นอกจากนี้ มีเกษตรกรรายใหม่ที่สนใจอาชีพเลี้ยงแพะ ลงทุนสร้างฟาร์มพ่อแม่พันธุ์แพะบอร์เลือด 100% เข้ามาเลี้ยงและจำหน่ายแพะให้แก่เกษตรกรที่สนใจ โดยแพะตัวเมียจะขายเป็นแม่พันธุ์ และแพะตัวผู้จะขายสำหรับใช้ขยายพันธุ์หรือขุนต่อ ทุกวันนี้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงแพะมากขึ้น สังเกตได้จากเกษตรกรบางรายลงทุนนำเข้าแพะพันธุ์ดีที่ชนะรางวัลจากต่างประเทศในราคาต่อตัวหลายแสนบาทเข้ามาเลี้ยงในไทยอย่างต่อเนื่อง” คุณธวัชชัย กล่าว

ลูกแพะพันธุ์บอร์ เลือด 100%

บ้านไร่ละมัยฟาร์ม

คุณธวัชชัย พาไปเยี่ยมชมกิจการฟาร์มพ่อแม่พันธุ์แพะของ คุณอำพัน-คุณเฟื่องฟ้า คำอุ่น เจ้าของบ้านไร่ละมัยฟาร์ม ในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจเลี้ยงแพะเป็นรายได้เสริม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอชัยบาดาล ที่เข้ามาช่วยเหลือให้ความรู้ด้านวิชาการ ด้านการดูแลสุขภาพสัตว์ รวมทั้งยกระดับปรับปรุงแปลงอาหารสัตว์ โรงเรือนให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

คุณอำพัน-คุณเฟื่องฟ้า คำอุ่น เจ้าของบ้านไร่ละมัยฟาร์ม

คุณอำพัน (โทร. (081) 994-1129) เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันผมทำธุรกิจเขียงหมูเป็นรายได้หลัก เนื่องจากมีใจชอบเลี้ยงสัตว์เป็นงานอดิเรก จึงลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงวัวเป็นรายได้เสริมมานานกว่า 10 ปี จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมหันมาสนใจเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริม โดยเรียนรู้วิธีการเลี้ยงแพะจากฟาร์มแพะของเพื่อนๆ ขอคำแนะจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอชัยบาดาล และไปเยี่ยมชมการประกวดแพะในพื้นที่ต่างๆ

ครั้งแรก คุณอำพันซื้อพ่อแม่พันธุ์แพะมาเลี้ยงจำนวน 7 ตัว เมื่อเลี้ยงจนเกิดความชำนาญจึงค่อยเพิ่มจำนวนแพะมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน เลี้ยงแพะแม่พันธุ์จำนวน 12 ตัว และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณแม่พันธุ์แพะให้ถึง 25 ตัวภายในปีหน้า แม้จะเป็นมือใหม่ที่หัดเลี้ยงแพะ และเป็นฟาร์มขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้ ผ่านการรับรองฟาร์มปลอดโรคบรูเซลโลสิส ระดับ B เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผ่านการตรวจทดสอบโรคอีกครั้งใน 6 เดือนต่อมา และให้ผลลบทุกตัว จึงยื่นขอการรับรองฟาร์มปลอดโรคบรูเซลโลสิส ระดับ A กับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอชัยบาดาลอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะได้ข่าวดีในเร็วๆ นี้

แพะชอบความสะอาด พื้นคอกไม่ควรเปียกหรือชื้น
คุณอำพันกับคอกอนุบาลลูกแพะ

ปัจจุบันคุณอำพันมีแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์ 5 ไร่ เพียงพอสำหรับเลี้ยงแพะกับวัวบราห์มันอีก 7 ตัว เนื่องจากมีแผนเพิ่มจำนวนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์แพะบอร์เลือด 100% และเลี้ยงแพะลูกผสมเพื่อผลิตแพะขุนป้อนตลาดในอนาคต ช่วงฤดูฝนปีนี้ เขาวางแผนปลูกหญ้าแพงโกล่าเพิ่มอีก 10 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำรอง โดยจะผลิตเป็นหญ้าแห้งสำหรับเลี้ยงแพะในช่วงฤดูร้อนปีหน้า ที่ผ่านมา คุณอำพันใช้หญ้าเนเปียร์ หญ้าแพงโกล่าเป็นอาหารหลักในการเลี้ยงแพะ ใช้แรงงานตัดต้นกระถินมาให้แพะกินเป็นอาหารเสริมในช่วงที่แม่แพะให้นมลูก

เลี้ยงแพะ อาชีพทำเงิน

การเลี้ยงแพะ สำหรับเกษตรกรมือใหม่ ไม่ยากอย่างที่คิด เพราะแพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม ทนแล้ง กินอาหารได้หลายชนิด เช่น พืชตระกูลหญ้า ใบไม้ หญ้าเนเปียร์ หญ้าแพงโกล่า ไม้พุ่ม ประเภท ใบมะขามเทศ ใบปอสา ใบพุทรา พืชตระกูลถั่ว เช่น ฮามาต้า คาวาเคต กระถิน ฯลฯ แพะขยายพันธุ์ได้เร็ว แพะมักจะให้ลูกแฝด ใช้เวลาอุ้มท้องเพียง 150 วัน ที่สำคัญเลี้ยงแพะใช้พื้นที่น้อยและใช้ระยะเวลาสั้นกว่าเลี้ยงโค-กระบือ

คุณอำพันกับลูกแพะที่มีน้ำหนักแรกเกิด 4 กิโลกรัม

คุณอำพัน เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจเลี้ยงแพะเป็นอาชีพทำเงินที่น่าสนใจ เพราะสร้างรายได้ที่ดีและคืนทุนเร็ว ก่อนหน้านี้ เขาเคยสนับสนุนเงินลงทุน 70,000 บาท ให้หลานชายเลี้ยงแพะลูกผสม ปรากฏว่า สามารถคืนทุนได้ระยะเวลา 1 ปี ตลาดแพะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เพราะเป็นสินค้าขายดีเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง ที่สำคัญแพะไม่ต้องใช้พื้นที่มาก แค่มีพื้นที่ 1-2 งานก็เพียงพอแล้ว แต่ต้องมีแปลงหญ้าอาหารสัตว์ 5-6 ไร่ เพื่อเป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงแพะทั้งปี

“ผมคิดว่า การลงทุนทำธุรกิจฟาร์มพ่อแม่พันธุ์แพะบอร์เลือด 100% ให้ผลตอบแทนดีกว่าการเลี้ยงวัวเนื้อเสียอีก การดูแลเลี้ยงแพะก็เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์ทั่วไปคือต้องดูแลให้มีสุขภาพแข็งแรง ให้หญ้าเป็นอาหารหยาบ ประมาณ 10% ต่อน้ำหนักตัวแพะ เสริมด้วยอาหารข้นตามน้ำหนักตัว ทำความสะอาดโรงเรือนของแพะอย่างสม่ำเสมอ” คุณอำพัน กล่าว

บอร์ เป็นแพะเนื้อขนาดใหญ่

วิถีตลาดแพะ

วิถีการตลาดแพะเนื้อเริ่มจากเกษตรกรทั่วไปที่เลี้ยงแพะเนื้อมีชีวิต ได้ขายแพะเนื้อมีชีวิตผ่าน 4 ช่องทางคือ 1. ขายให้เกษตรกรด้วยกันเองเพื่อไปขยายพันธุ์หรือขุนต่อ 2. ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง 3. ขายให้พ่อค้าขายปลีกเนื้อแพะชำแหละ และ 4. ขายให้กับพ่อค้ารวบรวมในท้องถิ่น ทำการรวบรวมแพะเนื้อมีชีวิตเพี่อขายต่อให้กับผู้บริโภค เกษตรกร และพ่อค้าขายปลีกเนื้อแพะชำแหละต่อไป ส่วนแพะชำแหละได้ขายต่อให้กับร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรม เพื่อปรุงอาหารให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยมบริโภคเนื้อแพะ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2557)

ทุกวันนี้ เนื้อแพะยังคงเป็นอาหารยอดนิยมเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเวียดนาม ชาวพม่า และคนจีนที่มีความเชื่อว่าการรับประทานเนื้อแพะจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมรายได้ อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงแพะเนื้อสามารถพัฒนาเป็นอาชีพหลักที่มั่นคงได้ไม่ยากเพราะปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อ ทั้งด้านการผลิต การตลาด และการส่งออก เพื่อเป็นอาหารฮาลาลสู่ตลาดโลก

คุณอำพันและคุณธวัชชัย โชว์แม่พันธุ์แพะบอร์เลือด 100%

คุณธวัชชัย กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรรายย่อยเลี้ยงแพะประมาณ 20-30 ตัว เลี้ยงเป็นแพะขุนให้ได้น้ำหนัก 20 กิโลกรัม หากคิดจากตัวแม่พันธุ์จะมีต้นทุนไม่เกินตัวละ 1,200 บาท แพะมีโอกาสคลอดลูกแฝดเท่ากับมีรายได้ 2,400 บาท ที่เป็นผลกำไร ฉะนั้น เกษตรกรที่เลี้ยงแพะจะมีรายได้ต่อปี หลายหมื่นบาททีเดียว

“ปัจจุบัน แพะเนื้อลูกผสมขายได้ในราคากิโลกรัมละ 130 บาท แพะตัวผู้ขายในราคา 12,000 บาท แพะตัวเมียขายได้ 15,000-20,000 บาท ลูกแพะบอร์เลือด 100% อายุ 3 เดือนที่หย่านมแล้ว ขายราคาตัวละ 30,000 บาท เกษตรกรบางรายลงทุนนำเข้าแพะต่างประเทศเข้ามา 200 แม่ ปรากฏว่า ปีหนึ่งทำรายได้กว่า 1 ล้านบาท ตลาดแพะยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากทั้งในประเทศและพัฒนาสู่ตลาดส่งออก ดังนั้น หากใครชื่นชอบการเลี้ยงสัตว์ ก็อยากชวนมาเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในอนาคต” คุณธวัชชัย กล่าวในที่สุด

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2563

Update 01/08/2021