เผยแพร่ |
---|
“เนื่องจากในสภาพอากาศแบบนี้ สัตว์จะอ่อนแอ และอาจไวต่อการติดเชื้อโรคระบาดได้ง่าย ดังนั้น เกษตรกรจึงควรจัดเตรียมน้ำ อาหาร และวิตามิน ให้สัตว์กินเสริม และทำวัคซีนป้องกันโรคไว้อย่างสม่ำเสมอ” นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝากข้อแนะนำถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ถึงการดูแลและป้องกันโรคในช่วงฤดูฝน
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกอีกว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคสัตว์ที่มักมากับหน้าฝนนั้น ในสัตว์ต่างชนิดก็มักจะเป็นโรคที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในโค กระบือ แพะ แกะ มักมีปัญหาเรื่องท้องอืด ท้องเสีย จากการกินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกยอดเมื่อได้รับน้ำฝนเข้าไปเป็นจำนวนมาก เพราะสัตว์จะกินแต่ฟาง หรือหญ้าแห้งตลอดในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ ยังมีโรคหวัด โรคปอดบวม โรคคอบวม โรคปากและเท้าเปื่อย
ส่วน สุกร ต้องระวังโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคพีอาร์อาร์เอส โดยจะแสดงอาการผิดปกติที่เกษตรกรสามารถสังเกตได้คือ ซึม เบื่ออาหาร หากเป็น โค-กระบือ จะมีขี้ตา หายใจลำบาก มีขี้มูก ไอหรือจาม หรือท้องเสีย และอาจมีการแท้งลูกได้
สำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องในเบื้องต้นมักจะไม่มีการเคี้ยวเอื้อง จมูกเปียกแฉะหรือแห้งผิดปกติ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หนังไม่สั่นไล่แมลง
สำหรับในสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ เป็นต้น โรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ ที่อาจสร้างความสูญเสียให้กับสัตว์ปีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีกโดยตรง ทำให้อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำลง อาการที่พบได้คือ คอตก คอบิด หายใจเสียงดัง หรืออาจมีน้ำมูกไหลได้
ขณะที่ นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องของการจัดการโรงเรือนหรือคอกสัตว์ที่ดี มีหลังคา ป้องกันฝน ลม และละอองฝนได้เป็นอย่างดี หรือจัดเตรียมสถานที่ให้สัตว์สามารถหลบฝนได้ มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างให้สุขภาพสัตว์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย และที่สำคัญควรทำวัคซีนแต่ละชนิดให้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดของแต่ละชนิด
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรเพื่อให้คำแนะนำ ความรู้ด้านป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด และค้นหาสัตว์ป่วย หรือตายที่มีอาการคล้ายโรคระบาด โดยหากตรวจพบการเกิดโรคให้ดำเนินการควบคุมโรคทันที” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวทิ้งท้าย
เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559