หนุ่มเมืองสองแคว ทำฟาร์มแพะ ที่อุดรธานี ขายพ่อแม่พันธุ์ กำหนดราคาได้

จากที่มองว่า การเลี้ยงแพะขุนเนื้อขาย คงเป็นได้เพียงอาชีพเสริมในตอนแรก เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปี กลับทำให้ คุณนิเวศ แม้นพวก หนุ่มตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ มองเห็นช่องทางในการสร้างเม็ดเงินจากแพะ ที่ไม่ใช่แค่เพียงเลี้ยงแพะขุนเพื่อขายเนื้อ แต่มุ่งมั่นทำฟาร์มแพะ พัฒนาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพื่อขายพันธุ์ จะทำเงินได้ดีกว่าเลี้ยงแพะขุนขาย

คุณนิเวศ แม้นพวก กับแพะลูกผสม

20 กว่าปีก่อน คุณนิเวศ แม้นพวก เป็นเพียงหนุ่มรับจ้าง ทำหน้าที่พิธีกร โฆษกตามงานวัดในแถบจังหวัดภาคกลาง รายได้ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่คงที่ จึงคิดหาอาชีพเสริมทำ มองเห็นรอบข้างมีคนเลี้ยงแพะขุนขาย ทำให้คิดว่า สมัยเด็กๆ ช่วยพ่อเลี้ยงวัวก็ยังทำได้ เลี้ยงแพะก็คงไม่ต่างกัน จึงเป็นจุดเริ่มที่จะเลี้ยงแพะขุนเป็นอาชีพเสริม

จากคนที่ไม่รู้อะไรเลย เริ่มเลี้ยงแพะขุนเนื้อขายตามที่เห็นคนในละแวกบ้านใกล้เคียงเลี้ยง มีภรรยาเป็นชาวสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท จึงช่วยกันเลี้ยงแพะขุน และทำฟาร์มแพะเล็กๆ ขึ้นที่จังหวัดชัยนาท

โชว์แพะเลือดผสมที่กำลังพัฒนาพันธุ์

แรกเริ่มที่ 20 ตัว เห็นว่าน้อย จึงเพิ่มจำนวนภายในปีเดียวเป็น 85 ตัว เลี้ยงไปเลี้ยงมา เพิ่มจำนวนภายใน 3 ปี เป็นกว่า 300 ตัว ทำให้ต้องเริ่มจ้างแรงงานต่างด้าวมาช่วยเลี้ยงแพะ

จากแพะไม่พอ เพิ่มแกะเข้ามาด้วย เพราะเนื้อแกะก็บริโภคได้เช่นกัน

โรงเรือนที่สูง เปิดโล่ง ให้อากาศถ่ายเทสะดวก

ระหว่างการเลี้ยงแพะขุน คุณนิเวศเริ่มศึกษาเรื่องราวของแพะ และเข้ารับการอบรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะทุกครั้ง สะสมเพิ่มเติมความรู้ให้กับตนเองอยู่ตลอด รวมถึงประสบการณ์การเลี้ยงแพะโดยตรง และเห็นได้ว่าการเลี้ยงแพะขุน มีช่องทางของการเพิ่มรายได้ก็จริง แต่ถ้าผลิตแพะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เองได้ผลดี จะได้ราคา ตลาดต้องการมาก และสามารถกำหนดราคาขายแพะต่อตัวได้เอง

คุณนิเวศ เลี้ยงแพะขุนมาจนมีความชำนาญ มีลูกค้าทั่วประเทศ จึงเริ่มขยายฟาร์มจากจังหวัดชัยนาท ออกไปยังพื้นที่ที่เกษตรกรเลี้ยงแพะขุนรายอื่นมีความพร้อม เช่น พิษณุโลก ชลบุรี เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ให้เป็นลูกไร่ เพื่อจำหน่ายแพะขุนและรองรับออเดอร์ตามที่ลูกค้าต้องการ ถึงปัจจุบัน ฟาร์มแพะลูกไร่ก็ยังคงอยู่ แต่คุณนิเวศคงเหลือแพะขุนไว้ที่จังหวัดชัยนาทไว้ไม่มาก เพราะเล็งเห็นถึงความต้องการแพะของตลาดเพื่อนบ้าน ที่ สปป. ลาว ประกอบกับมีหุ้นส่วนที่มีเงินทุน ต้องการลงหุ้นการทำฟาร์มแพะด้วย จึงร้องขอให้คุณนิเวศขึ้นมาสำรวจพื้นที่และตลาดในแถบภาคอีสาน ที่จังหวัดอุดรธานี ทำให้คุณนิเวศวางมือจากจังหวัดชัยนาท ขึ้นมาบริหารจัดการฟาร์มแพะที่จังหวัดอุดรธานีทันที

Advertisement
แยกสายพันธุ์ไว้

“ผมลงหุ้นกับหุ้นส่วน ทางหุ้นส่วนลงทุนในส่วนของที่ดิน ส่วนผมมีแพะเป็นหุ้นส่วน รวมถึงการบริหารจัดการภายในฟาร์มทั้งหมด โดยใช้ชื่อฟาร์มว่า นิเวศสมพรฟาร์ม ซึ่งระยะแรกเป็นการเลี้ยงแพะขุนตามที่ตลาดเพื่อนบ้านใกล้เคียงต้องการ แต่ระยะหลังเกษตรกรในภาคอีสานเริ่มหันมาเลี้ยงแพะขุนมากขึ้น ทำให้มีเกษตรกรส่วนหนึ่งต้องการขยายพันธุ์แพะเอง จึงเริ่มมองหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อนำไปขยายพันธุ์ให้ลูกแพะ เลี้ยงเป็นแพะขุนจำหน่ายให้กับลูกค้าต่อไป”

คุณนิเวศ บอกว่า เมื่อรู้ถึงความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ไม่เพียงแต่มีแพะขุนต้องเลี้ยงเพื่อส่งให้ลูกค้าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังต้องการพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แพะเพื่อนำไปผสมให้ได้ลูกแพะ ทำให้แนวคิดการทำฟาร์มแพะของคุณนิเวศมีไอเดียที่แตกต่าง คือการพัฒนาพันธุ์แพะเพื่อให้ได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดี แล้วจำหน่ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จะทำให้กำหนดราคาซื้อขายได้ดีกว่าการเลี้ยงแพะขุนจำหน่าย

Advertisement
กองขี้แพะ สามารถเก็บใส่กระสอบจำหน่ายเป็น ปุ๋ยขี้แพะ

จากเดิมที่เลี้ยงแพะและแกะขุนเพื่อขายเนื้อ จึงค่อยๆ ลดจำนวนลง แล้วปรับเป็นการเลี้ยงแพะเพื่อพัฒนาพันธุ์เพื่อขายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แทน

พื้นที่ นิเวศสมพรฟาร์ม มีทั้งหมด 11 ไร่ แต่เป็นพื้นที่สำหรับฟาร์มแพะเพียง 5 ไร่ ที่เหลือปลูกพืชอาหารสดไว้ให้แพะ เช่น หญ้าแพงโกล่า หญ้าเนเปียร์ หญ้าหวานอิสราเอล หญ้ากินนีสีม่วง และพื้นที่น้ำท่วมขังซ้ำซาก ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

เมื่อคุณนิเวศทราบว่าจะเริ่มพัฒนาสายพันธุ์แพะ จึงเริ่มซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เลือดร้อย ก่อนเริ่มผสมและคัดสายพันธุ์ให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ

ปล่อยให้กินอาหารเป็นเวลา

เมื่อถามว่า ทำไมจึงต้องผสมหลายสายพันธุ์ คุณนิเวศ กล่าวว่า เราเห็นแพะพันธุ์ของฟาร์มอื่นมีขนาดใหญ่ จึงอยากผสมให้ได้สายพันธุ์ของตนเอง จึงพยายามพัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เช่น ที่ผ่านมา เกษตรกรเลี้ยงแพะจังหวัดนครราชสีมาพัฒนาสายพันธุ์แพะจนได้สายพันธุ์ผสมใหม่ขึ้นมาเป็นของตนเอง และตั้งชื่อว่า แดงโคราช จึงเป็นแรงกระตุ้นให้คุณนิเวศต้องการพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีด้วยเช่นกัน

โรงเรือนแกะขุน ขายเนื้อ

การดูแลแพะ คุณนิเวศให้คำแนะนำว่า ควรเลือกที่ตั้งฟาร์มให้ห่างไกลจากชุมชน เพราะแพะในเวลาเป็นสัด เพศผู้จะร้องเสียงดังมากตลอดเวลา จะรบกวนเพื่อนบ้าน และควรเลือกพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเท แต่ไม่ถึงกับลมพัดโกรก

โรงเรือนเลี้ยงแพะ ควรมีความสูง เพื่อให้อากาศถ่ายเทดี พื้นที่สำหรับเลี้ยงแพะ 1 ตารางเมตร ต่อแพะ 1 ตัว กั้นคอกแพะตั้งท้อง และแม่แพะที่เลี้ยงลูกแพะไว้ต่างหาก เมื่อแพะคลอดลูก ควรให้แม่แพะเลี้ยงลูกแพะเอง และปล่อยให้ลูกแพะลงเดินพื้นโรงเรือนด้านล่าง ก็ต่อเมื่อลูกแพะคลอดแล้ว 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการป่วยของลูกแพะ

แกะขุนก็มีหลายสายพันธุ์

ประการสำคัญของการเลี้ยงแพะคือ ความสะอาด จึงควรหมั่นทำความสะอาดโรงเรือนแพะ หรือ ใต้ถุนโรงเรือน ไม่ให้เกิดการหมักหมมของสิ่งปฏิกูลหรือมูลแพะ หากเกิดการหมักหมมจะก่อให้เกิดเชื้อโรค ทำให้แพะป่วยได้ นอกจากนี้ การถ่ายพยาธิเป็นสิ่งสำคัญ ตามหลักทางวิชาการระบุว่า ควรถ่ายพยาธิให้แพะทุก 6 เดือนนั้น สามารถทำได้ แต่สำหรับคุณนิเวศแล้ว การถ่ายพยาธิถือเป็นปัจจัยที่ช่วยให้แพะไม่ป่วยมากที่สุด เพราะจะถ่ายพยาธิให้แพะทุก 2 เดือน และในแพะอายุน้อยที่สุด 20 วัน ก็ควรเริ่มถ่ายพยาธิได้แล้ว

“โดยปกติ การเลี้ยงแพะควรปล่อยให้แพะได้เดินเล่น วิ่งเล่น เหมือนออกกำลังกายด้วย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง และควรให้อาหารวันละ 2 ครั้ง คือปล่อยให้กินอาหาร เวลา 10.00-12.00 น. แล้วเก็บเข้าโรงเรือนให้แพะนอน ระหว่างนั้นแพะจะขย้อนออกมากิน และปล่อยให้กินอาหารอีกครั้งเวลา 16.00-18.00 น. ก่อนเก็บเข้าโรงเรือนนอน ก็จะทำให้แพะกิน 2 ท้องพอดี ไม่ควรปล่อยให้แพะกินทั้งวัน เพราะจะส่งผลให้แพะไม่อ้วน”

การขายแพะขุน ลูกค้าจะเข้ามาเลือกที่ฟาร์ม ซื้อแพะในราคากิโลกรัมละ 140 บาท น้ำหนักต่อตัวอยู่ที่ 17-18 กิโลกรัม อายุประมาณ 3 เดือน ก็สามารถขายออกได้แล้ว

ส่วนแพะพันธุ์ จะเลี้ยงไว้เพื่อใช้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในการพัฒนาสายพันธุ์ เมื่อได้สายพันธุ์ที่ดี จึงจะขายออก ส่วนนี้ทางฟาร์มสามารถกำหนดราคาเองได้

“การขายพันธุ์ จะเริ่มขายตั้งแต่แพะอายุ 4 เดือน ขึ้นไป ในลูกแพะจะหย่านมแม่อายุประมาณ 3 เดือน หากสายพันธุ์ดีจะให้หย่านมตั้งแต่อายุ 2 เดือนครึ่ง จากนั้นนำไปให้อาหารเสริมและให้ยาบำรุงแทน อย่างไรก็ตาม การขายพันธุ์ จะไม่ขายเมื่อลูกแพะอายุ 3 เดือน จะขายได้ก็ต่อเมื่อลูกแพะอายุ 4 เดือน เป็นต้นไป”

การผสมสำหรับผลิตพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ ต้องรอให้แม่พันธุ์หรือพ่อพันธุ์ที่จะใช้ผสม มีอายุอย่างน้อย 12 เดือน ยกเว้นแพะเลือดร้อย ควรมีอายุไม่น้อยกว่า 16 เดือน จึงจะให้ผสมพันธุ์ได้

การขายแพะพันธุ์ ยิ่งอายุมากยิ่งขายได้ราคาดี แต่ส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะไม่รอให้แพะอายุมากขึ้น ก็จะติดต่อขอซื้อไปเลี้ยงเพื่อทำพันธุ์แล้ว ซึ่งเฉพาะรายได้จากการจำหน่ายแพะพันธุ์ ไม่น้อยกว่า 30,000-40,000 บาท ต่อเดือน ไม่นับรวมแพะขุนที่สามารถจำหน่ายได้ตลอดปี

ปัจจุบัน นิเวศสมพรฟาร์ม มีแพะจำนวน 300 ตัว แกะเกือบ 200 ตัว มีทั้งแพะขุน แกะขุน และแพะพันธุ์ หากท่านใดสนใจการเลี้ยงแพะ คุณนิเวศ ยินดีให้คำปรึกษา หรือต้องการความรู้ก็สามารถสอบถามได้ ไม่หวงวิชา ติดต่อได้ที่ คุณนิเวศ แม้นพวก นิเวศสมพรฟาร์ม บ้านบ่อน้อย ตำบลเชียงยืน อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โทรศัพท์ 085-052-5750

…….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2565.