อดีตสัตวบาลเลี้ยงเป็ดไข่วันละ 3 ชั่วโมง สร้างรายได้เข้ากระเป๋าวันละเกือบพัน

คุณฉัตรชัย บัวทอง หรือ พี่เอ็ม อยู่บ้านเลขที่ 132 ตำบลท่าน้าว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน อดีตสัตวบาลกลับบ้านเกิด ก่อร่างสร้างตัวกับอาชีพเลี้ยงเป็ดที่ตนเองรัก ใช้ประสบการณ์จากงานสัตวบาลประจำฟาร์มเป็ดขนาดใหญ่ ปรับประยุกต์ใช้ทำฟาร์มของตนเอง เด่นที่การจัดการระบบที่ได้มาตรฐาน ทำให้สามารถมีรายได้เข้ามาทุกวัน เมื่อเทียบกับการดูแลเฉลี่ยเพียง 3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

คุณฉัตรชัย บัวทอง หรือ พี่เอ็ม

พี่เอ็ม เล่าถึงจุดเริ่มต้นการลาออกจากงานมาทำฟาร์มเป็ดเป็นของตัวเองว่า หลังจากที่เรียนจบตนเองได้เข้าทำงานเป็นสัตวบาลอยู่ที่ฟาร์มเป็ดแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเวลากว่า 6 ปี จนถึงจุดอิ่มตัว และมีความคิดที่อยากลาออกจากงานเพื่อที่กลับมาทำฟาร์มเลี้ยงเป็ด ซึ่งหลังจากที่มีความคิดนี้อยู่ไม่นานก็ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาทำตามความฝันประกอบธุรกิจทำฟาร์มเลี้ยงเป็ดเป็นของตนเองนับเป็นเวลากว่า 4 ปี สถานการณ์การเลี้ยงเป็ดไข่ของที่บ้านเป็นไปได้ดีมาตลอด เนื่องด้วยภายในจังหวัดยังมีฟาร์มเลี้ยงเป็ดไม่มาก ประกอบกับการเลี้ยงเป็ดที่มีจำเป็นต้องอาศัยทุ่งกว้าง แหล่งน้ำ ทำให้ใครหลายคนถอดใจไป แต่ถ้าหากเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมการเลี้ยงและมีการจัดการระบบรูปแบบฟาร์มที่ดี การเลี้ยงเป็ดนับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้ไม่น้อย แถมยังไม่ต้องใช้เวลาทั้งวันไปกับการเลี้ยง สามารถมีเวลาไปทำงานอย่างอื่นได้อีกด้วย

สภาพแวดล้อมรอบโรงเรือนอุดมสมบูรณ์ โอบล้อมด้วยธรรมชาติ

เลี้ยงเป็ดไข่ ซีพี ซุปเปอร์ 750 ตัว
มีรายได้ทุกวัน วันละ 2
,000-3,000 บาท

เจ้าของบอกว่า ตอนนี้ที่ฟาร์มเลี้ยงเป็ดอยู่จำนวนทั้งหมด 750 ตัว สายพันธุ์ที่เลี้ยงเป็นเป็ดไข่ ซีพี ซุปเปอร์ มีจุดเด่นตรงที่ ได้ไข่ฟองใหญ่ ไข่ดก รูปร่างแข็งแรง เลี้ยงง่าย ทนโรค

โดยมีรูปแบบการจัดสรรพื้นที่การเลี้ยงแบ่งออกเป็น 4 โซน ดังนี้

โซนที่ 1 โซนไข่ ไว้ให้เป็ดนั้นเข้ามาไข่ในพื้นที่ที่เตรียมไว้ โดยพื้นที่ตรงนี้จะปูพื้นด้วยฟางข้าวและแกลบ เพื่อที่เวลาเป็ดนั้นเข้ามาไข่จะได้รู้สึกสบาย แถมยังได้ไข่เป็ดที่สดและสะอาดอีกด้วย

โซนที่ 2 โซนอาหาร ไว้ให้อาหารเป็ด โดยจะใช้ถาดอาหารเพื่อให้เป็ดนั้นได้กินอาหารที่สะอาด

โซนที่ 3 โซนน้ำ ไว้ให้เป็ดได้กินน้ำ และจะต้องจัดเตรียมน้ำไว้ให้เพียงพอต่อปริมาณของเป็ด เพราะเป็ดกับน้ำคือของคู่กัน และ

โซนที่ 4 โซนพักผ่อน มีไว้เพื่อให้เป็ดได้ผ่อนคลาย เป็ดจะได้ไม่เครียด ส่งผลทำให้เป็ดให้ไข่ดีและดก และให้ไข่ได้นานขึ้น

เลี้ยงแบบอิงธรรมชาติ เป็ดได้ผ่อนคลาย

แต่กว่าจะประสบความสำเร็จ สามารถจัดสรรระบบพื้นที่การเลี้ยงให้ได้แบบนี้ก็ต้องใช้ประสบการณ์และอุปสรรคที่เคยเจอมาเป็นบทเรียน

“จากตอนแรกที่เริ่มเลี้ยงเป็ดไข่ชุดแรกประมาณ 500 ตัว ตอนนั้นยังไม่มีการจัดระบบพื้นที่การเลี้ยงที่ดี ทำให้พอถึงหน้าฝน ฝนตกลงมาหนัก น้ำท่วม สูญเสียเป็ดไปเกือบ 300 ตัว แต่ก็ไม่ยอมแพ้ เพราะหลังจากนั้นก็ใช้เวลาศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงเพิ่มเติมจากเป็ดที่เหลือจำนวน 200 กว่าตัว จนเกิดความชำนาญขึ้นและได้สั่งเป็ดไข่ชุดที่ 2 เข้ามาเลี้ยงเพิ่ม”

ได้เล่นน้ำผ่อนคลาย

ซึ่งเป็ดชุดที่ 2 ที่ทางฟาร์มสั่งมาเลี้ยงเป็นเป็ดสาวที่มีอายุประมาณ 4 เดือน ซื้อมาในราคาตัวละ 120 บาท รวมค่าจัดส่ง นำมาเลี้ยงต่ออีกเป็นระยะเวลา 1-1 เดือนครึ่ง เป็ดก็เริ่มให้ไข่รอบแรก ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ช่วยร่นระยะเวลาการเลี้ยงและช่วยประหยัดค่าอาหารการดูแลเป็ดในช่วงเล็กได้อีกด้วย

พื้นที่สำหรับฟักไข่ สะอาด แยกเป็นสัดส่วน

โรงเรือนที่เหมาะสมในการเลี้ยงเป็ดไข่

การเลี้ยงเป็ดไข่นอกจากจะมีการจัดสรรพื้นที่อิงตามธรรมชาติเพื่อให้เป็ดได้ผ่อนคลายแล้ว โรงเรือนที่เลี้ยงก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็ดเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย ฉะนั้นแล้ว มาตรฐานโรงเรือนต้องสร้างให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ชนิดอื่นเข้ามารบกวน หรือว่าในบางครั้งบริเวณใกล้โรงเรือนทำกิจกรรมที่ส่งเสียงดัง ก็จะเปิดเพลงคลายเครียดให้เป็ดฟัง เพราะถ้าเป็ดตกใจเมื่อไหร่จะส่งผลต่อปริมาณไข่ที่ลดลงหรือออกไข่ได้ไม่ต่อเนื่อง

เปิดไฟรักษาสมดุลภายในโรงเรือน

และนอกจากโรงเรือนที่มิดชิดแล้วยังมีเรื่องของการติดตั้งระบบไฟเข้ามาเพิ่มเติม เนื่องจากพื้นที่ของที่ฟาร์มอยู่ติดถนนมีรถผ่านบ่อย หากปล่อยให้แสงไฟของรถส่องเข้ามาในเล้าจะทำให้เป็ดตื่น จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการทำระบบไฟอัตโนมัติ ตั้งเวลาเปิด-ปิด ในช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินจนถึง 4 ทุ่ม และจะเปิดอีกครั้งในช่วงตี 4 เพื่อให้แสงสว่างสม่ำเสมอ ประกอบกับในช่วงเวลาที่เป็ดให้ไข่จะต้องมีระยะเวลาการให้แสงที่มากกว่าปกติ

มีน้ำให้เป็ดได้กินทั้งวัน

ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยง ก่อนหน้านี้ที่ฟาร์มมีการทดลองทำอาหารลดต้นทุนมาก่อน แต่ด้วยที่ฟาร์มไม่มีเครื่องผสมอาหารทำให้อาหารที่ผสมลงไปคลุกเคล้าได้ไม่ทั่วถึงทั้งหมด ส่งผลให้เป็ดบางตัวไม่ได้รับโปรตีน สารอาหารที่ครบถ้วน จึงจำเป็นต้องกลับมาใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปแบบเดิม โดยการให้อาหารเป็ดแต่ละครั้งมีการคำนวณว่าใน 1 วัน จะให้อาหาร 150 กรัมต่อตัวต่อวัน ด้วยการแบ่งให้วันละ 2 มื้อ คือช่วงหลังจากการเก็บไข่เสร็จ ประมาณ 7 โมงเช้าเริ่มให้อาหารรอบแรก และมื้อเย็นเริ่มให้ตอนประมาณ 4 โมงครึ่ง จากนั้นพอให้อาหารเสร็จก็จะเตรียมมาเปิดห้องฟักไข่ไว้

ถึงเวลาให้อาหาร

หากคิดเป็นค่าอาหารเฉลี่ยต่อวัน วันละประมาณ 1,700 บาท สามารถเก็บไข่ได้ทุกวัน วันละประมาณ 21 แผง 1 แผงมี 30 ฟอง ในขนาดไซซ์ที่ได้มาตรฐาน ได้เบอร์ใหญ่มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเป็ดที่เลี้ยง ขายในราคาแผงละ 100-120 บาท เมื่อหักต้นทุนค่าอาหารไปแล้วยังเห็นกำไรหรือให้คิดง่ายๆ ว่าจะได้กำไรจากเป็ดตัวละ 1 บาททุกวัน นับเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับเวลาในการเลี้ยงเฉลี่ยเพียง 3 ชั่วโมงต่อวัน จะใช้เวลาเพียงตอนเช้าเข้ามาให้อาหาร แล้วไปทำงานอย่างอื่นเสร็จแล้ว เย็นกลับมาให้อาหารอีกครั้งหลังเลิกงานได้

ได้ไข่เป็ดใบใหญ่

การตลาดไปได้สวย
เป็ดไข่ไม่ทันขาย

พี่เอ็ม บอกว่า เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่เลี้ยงเป็ดไข่ในจังหวัดน่านยังมีไม่มาก ก่อนหน้านี้แม่ค้าส่วนใหญ่ก็จะไปรับไข่จากที่อื่น ซึ่งไข่ที่ได้มาก็จะไม่สดเพราะใช้เวลาในการขนส่ง ทำให้ฟาร์มของเราได้รับความสนใจจากแม่ค้าหลายเจ้า โดยจุดเด่นของไข่เป็ดที่ฟาร์มจะฟองใหญ่ สด สะอาด และปลอดภัย เก็บใหม่ทุกวัน เนื่องจากที่ผ่านมาจากที่เคยได้พูดคุยกับแม่ค้า ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาเจอไข่เก่าหรือเจอไข่จากเป็ดไล่ทุ่งไม่มีที่ฟักไข่ที่เหมาะสม ไข่โดนน้ำหรือปนเปื้อนสิ่งสกปรกอย่างอื่นทำให้ไข่เสียเร็วขึ้น แต่ของเรามีโรงเพาะไข่ที่สะอาด ปลอดภัย ทำให้สามารถตรึงใจแม่ค้าประจำได้ยาวนาน โดยมีแม่ค้าที่มารับประจำหลักๆ อยู่ทั้งหมด 3 อำเภอด้วยกัน 1. อำเภอภูเพียง 2. อำเภอเมือง และ 3. อำเภอนาน้อย เพื่อนำไปขายต่อเป็นไข่สดและนำไปแปรรูป

ออกไข่วันละหลายร้อยฟอง เห็นแล้วชื่นใจ

หากมือใหม่ท่านใดสนใจเลี้ยงเป็ดอันดับแรกที่อยากแนะนำคือ 1. เทคนิคการเลี้ยง แนะนำให้ซื้อเป็ดพร้อมสาวมาทดลองเลี้ยงก่อน เพราะต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงตั้งแต่เล็กจนโต ก่อนที่เป็ดจะให้ไข่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ในบางครั้งอาจทำให้ผู้เลี้ยงเกิดความท้อแท้ แต่ถ้าหากซื้อเป็ดที่พร้อมไข่ มาเลี้ยงปรับระยะอีกสักนิดแล้วออกไข่ ก็จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนต่อยอดได้ 2. ศึกษาพฤติกรรมของเป็ดก่อน อย่างเป็ดเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำ ชอบเดินเล่นในทุ่งกว้าง ปัจจัยตรงนี้เราพอทำขึ้นมาได้ไหม ถ้าทำได้ก็จะส่งผลดีกับเป็ดในแง่ของการออกไข่ เป็ดไม่เครียด ได้อยู่กับธรรมชาติ ปริมาณและคุณภาพของไข่ก็จะออกมาดี และระยะการให้ไข่ก็จะยาวนานขึ้น และ 3. การตลาด หลายคนมีคำถามว่าถ้าเลี้ยงในจำนวนไม่เยอะจะคุ้มทุนหรือไม่ จะแนะนำว่าให้เลี้ยงเองแล้วนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำเป็นไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า ขนมหวาน จะเกิดความคุ้มค่า จากตอนแรกอาจจะได้กำไรจากตัวละ 1 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปแล้วกำไรจะเพิ่มขึ้นมาจากตัวละ 1 บาท เป็นตัวละ 2-3 บาท เลี้ยง 50 ตัว ก็มีเงินค่ากับข้าวเพิ่มเติม แถมบางวันเบื่อกับข้าวข้างนอกยังสามารถเก็บไข่เป็ดที่เลี้ยงนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย

ไข่แดง สีแดงสวย

ยกตัวอย่างของที่ฟาร์ม ช่วงแรกที่เลี้ยงเป็ดยังไม่มีแม่ค้าประจำ ที่ฟาร์มจะแก้ปัญหาด้วยการนำไข่มาแปรรูป แต่พอเริ่มเลี้ยงไปสักพัก ทางฟาร์มได้มีการโพสต์รูปและข้อความกิจกรรมการเลี้ยงเป็ด ทั้งการให้อาหาร การเก็บไข่ การปล่อยให้เป็ดเดินผ่อนคลาย ทำให้เป็นที่สนใจกับพ่อค้าแม่ค้าที่พบเห็นติดต่อมาขอซื้อ และก็ได้กลายเป็นแม่ค้าประจำกันจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ทุกวันนี้เป็ดที่เลี้ยงอยู่ประมาณ 750 ตัว ไข่ไม่ทันความต้องการของลูกค้าไปแล้ว พี่เอ็ม กล่าวทิ้งท้าย

แปรรูปขายสร้างมูลค่าเพิ่ม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 090-209-3281 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : Rimna Farm – ไข่เป็ดอารมณ์ดี