แพะบูม หลังเวียดนามขาดแคลนเนื้อหมา แถมลาวส่งเสริมการเลี้ยง ประธานเครือข่ายแพะฯ ชี้ ทำให้ราคาแพะในประเทศกระฉูด

นายเชาวรัตน์ อ่ำโพธิ์ ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการสั่งซื้อแพะจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว และเวียดนาม เข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในประเทศลาวนั้นได้เริ่มมีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะจากภาครัฐ เช่น ที่แขวงอัตบือ ทางเจ้าแขวงได้มีนโยบายในการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อบริโภคในประเทศและส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม ในขณะที่ทางนครเวียงจันทน์มีนักลงทุนชาวไทยไปลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงแพะเพื่อป้องกันตลาดภายในของลาว และวางเป้าหมายที่จะส่งออกไปยังเวียดนามต่อไป

“ในประเทศลาวนั้น ข้อมูลล่าสุดเท่าที่ติดต่อผ่านทางเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะแห่งประเทศไทย แจ้งว่ามีความต้องการแพะเพื่อทั้งนำไปเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ และแพะขุน ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 ตัว ในขณะที่ทางเวียดนามมีความต้องการสูงเช่นกัน ทั้งผลมาจากการเติบโตด้านการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เข้าไปเที่ยวมากขึ้น และจากสาเหตุที่กรมปศุสัตว์ของไทยมีความเข้มงวดในการป้องกันการลักลอบส่งสุนัขไปยังเวียดนาม ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการบริโภค จากสุนัขมาเป็นแพะ แกะ มากขึ้น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาทางเวียดนามมีการเข้ามาสั่งซื้อแพะจากประเทศไทยโดยตรงด้วยการติดต่อผ่านนายหน้าคนไทย ให้ทางเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะแห่งประเทศไทยจัดหาแพะส่งไปยังเวียดนามโดยตรงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะปริมาณแพะที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ”

ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแห่งประเทศไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ความต้องการที่เกิดขึ้นนี้ ได้ส่งผลทำให้ราคาแพะในประเทศไทยที่เกษตรกรจำหน่ายได้สูงขึ้น อย่าง แพะเนื้อ จากเดิมราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 85 บาท ขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น กิโลกรัมละ 110-115 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในส่วนตัวมองจากสถานการณ์ความต้องการของลาวและเวียดนามแล้ว คาดว่าปริมาณแพะที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ไม่เพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน จึงควรเร่งส่งเสริมเพื่อให้เกิดการเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมการเลี้ยงแพะว่า กรมปศุสัตว์ ได้ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงแพะ จึงได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงแพะมาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติใน ปี 2558 มีแพะที่เลี้ยงรวม 539,583 ตัว เกษตรกร 43,118 ครัวเรือน โดยเฉลี่ยแล้วในพื้นที่ภาคใต้ มีแพะจำนวนกว่า 271,730 ตัว คิดเป็น ร้อยละ 50.36 เกษตรกร 36,196 ครัวเรือน คิดเป็น ร้อยละ 83.95 จำนวนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ทั่วประเทศในปัจจุบันมี จำนวน 1,466 กลุ่ม

สำหรับการส่งเสริมนั้น กรมปศุสัตว์ มีแผนงานโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะในพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ เขต 1, 6, 7, 8 และ 9 รวมจำนวน 40 จังหวัด และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ จำนวน 464 กลุ่ม จำนวนเกษตรกร 6,050 ราย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ งบประมาณจากจังหวัด งบประมาณจากกลุ่มจังหวัด และงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้นนอกจากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีแนวทางปรับเปลี่ยนอาชีพการเกษตรที่ผลผลิตมีปัญหาด้านการตลาด ได้แก่ การทำนา สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ปรับเปลี่ยนเป็นเลี้ยงแพะเป็นอาชีพมากขึ้น

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวอีกว่า จากการประมาณการพบว่าจำนวนแพะที่ใช้บริโภคในประเทศ ประมาณปีละ 452,600 ตัว มูลค่าประมาณ 1,358 ล้านบาท นอกจากนั้น สถิติของปีที่ผ่านมา มีการส่งแพะไปต่างประเทศ เป็นแพะพันธุ์ 1,157 ตัว และแพะมีชีวิต เพื่อบริโภคอีก 16,855 ตัว รวมมูลค่า 17.99 ล้านบาท