Cow scoring แอปพลิเคชั่นประเมินคะแนนร่างกายของแม่โคนมระบบ Al

โคนมในประเทศไทย ได้รับความนิยมในการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย เพราะเนื่องจากผลผลิตของโคนมนั้นได้ผลตอบแทนที่ดี จึงมีเกษตรกรหลายรายที่หันมาเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

คุณพีรยุทธ นิลชื่น

เพราะประเทศไทยของเรานั้นมีพื้นที่และสภาพอากาศที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งในเรื่องของอาหารสัตว์ เช่น ทุ่งหญ้าที่ใช้ในการเลี้ยง ข้าวโพด มันสำปะหลัง เปลือกข้าว รำข้าว เปลือกสับปะรด ยอดอ้อย กากน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งมีราคาจำหน่ายที่ถูก สามารถใช้แทนกันได้ หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งจำหน่ายในราคาที่เพิ่มขึ้น

การเลี้ยงโคนมจึงเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตผลที่ผลิตได้ เช่น แทนที่จะผลิตมันสำปะหลังเพื่อส่งออก สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ในต่างประเทศ ก็นำมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ เพื่อส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า เป็นต้น นอกจากนี้ ทางรัฐบาลก็ได้ให้การส่งเสริมทางด้านสินเชื่อการเกษตร การปรับปรุงพันธุ์สัตว์โดยการผสมเทียม การบริการสัตวแพทย์ และเกษตรกรสามารถขายน้ำนมดิบได้ในราคาประกันที่เป็นธรรม

แอปพลิเคชั่น Cow scoring

สำหรับ Cow scoring แอปพลิเคชั่นประเมินคะแนนร่างกายของแม่โคนมด้วยระบบ Al เป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นและพัฒนาโดย คุณพีรยุทธ นิลชื่น สถานีวิจัยทับกวาง ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มองเห็นรูปแบบการประเมินร่างโคนมแบบเดิมๆ แต่ขาดความแม่นยำในการวิเคราะห์ จึงนำมาสู่การแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

การทำงานของแอปพลิเคชั่นสำหรับประเมินคะแนนร่างกายแม่โคนมในโทรศัพท์มือถือ

โดยนวัตกรรมตัวดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับมือถือที่ใช้ในการช่วยประเมินคะแนนร่างกายของโคนมโดยเฉพาะ ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อวิเคราะห์รูปถ่ายบริเวณด้านท้ายของโค จากนั้นระบบจะทำการประมวลผลเป็นคะแนนร่างกายตามระดับของคะแนนที่ต้องการ ทีมความแม่นยำสูง ตามหลักวิชาการ

Advertisement

จากปัญหา นำมาสู่การแก้ไขอย่างตรงจุด

Advertisement

คุณพีรยุทธ เล่าว่า การประเมินคะแนนร่างกาย (Body Condition Score : BCS) ซึ่งเป็นการประเมินทางอ้อมถึงระดับของพลังงานที่ร่างกายโคเก็บสะสมไว้ในรูปของไขมันและกล้ามเนื้อ โดยประเมินจากจุดต่างๆ ที่มีการสะสมไขมันและกล้ามเนื้อของร่างกายโค ซึ่งช่วยให้การจัดการโปรแกรมการให้อาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้ คะแนนร่างกายจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามและควบคุมไม่ให้แม่โคมีสภาวะอ้วนหรือผอมมากจนเกินไป

วิธีการประเมินคะแนนร่างกาย จะต้องมีการจัดให้โคอยู่ในซองเดี่ยวหรือมีเจ้าของจับโคเรียงเป็นแถวเดี่ยว เพื่อให้ผู้ประเมินสามารถเข้าไปใกล้จับและพิจารณาตามจุดส่วนต่างๆ ของร่างกายโค แต่วิธีดังกล่าวอาจมีความแม่นยำแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ผู้ประเมินเอง อีกทั้งการสัมผัสร่างกายของโคอาจทำให้โคเกิดความเครียดได้เนื่องจากการสัมผัสร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติได้

วิธีใช้งานแสนง่าย เพียงปลายนิ้ว

ข้อมูลการใช้ประโยชน์เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการช่วยประเมินคะแนนร่างกายของโคนมโดยเฉพาะ ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพียงแค่ถ่ายภาพด้านท้ายของโค ด้วยโทรศัพท์มือถือ หลังจากนั้นระบบ AI จะวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายนั้น โดยการสร้างเส้นกรอบล้อมรอบบริเวณด้านท้ายของโค แล้วประมวลผลภาพถ่ายว่ามีคะแนนร่างกายของโคอยู่ที่ระดับใด ดังนี้

  1. หากได้ 1 คะแนน คือ ผอมมาก
  2. หากได้ 3 คะแนน คือ ปานกลาง
  3. หากได้ 5 คะแนน คือ อ้วนมาก

ซึ่งทำให้การประเมินคะแนนร่างกายโคเป็นเรื่องที่ง่ายยิ่งขึ้น มีความแม่นยำสูง และถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยการทดสอบแอปพลิเคชั่นที่ติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือในการประเมินคะแนนร่างกายโคแต่ละตัวภายในภาคสนามของฟาร์มโคนม พบว่าแอปพลิเคชั่นมีค่าความถูกต้อง (Accuracy) ซึ่งเท่ากับ 87%

ปรับปรุง พัฒนา ทดสอบ จนเกิดความแม่นยำ

การทดสอบแอปพลิเคชั่นสำหรับประเมินคะแนนร่างกาย แม่โคนมในโทรศัพท์มือถือในภาคสนาม แอปพลิเคชั่นที่ติดตั้งบนโทรศัพทมือถือ (Galaxy A42, Samsung) ทดสอบการประเมินคะแนนร่างกายแม่โคนมจำนวน 30 ตัว พบว่าแอปพลิเคชั่นมีค่าความถูกต้องโดยรวมทั้งหมด (Accuracy) เท่ากับ 87%

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวแอปพลิเคชั่นดังกล่าว สามารถมาศึกษาพูดคุยกับ คุณพีรยุทธ นิลชื่น สถานีวิจัยทับกวาง ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 086-725-2969 คุณพีรยุทธยินดีให้คำแนะนำทุกท่านที่สนใจค่ะ