เกษตรกรบุรีรัมย์ เลี้ยงแกะประหยัดต้นทุน ปลูกหญ้าเอง สัตว์มีอาหารกินตลอดปี

การทำเกษตรแบบผสมผสานคือการนำทุกอย่างที่ทำภายในฟาร์ม มาช่วยต่อยอดในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิตเป็นอีกสิ่งที่เกษตรกรหลายพื้นที่ทำ จึงทำให้มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สำคัญไม่เพียงช่วยลดต้นทุน แต่สามารถมีผลผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างเช่นการทำปศุสัตว์ นอกจากจะจำหน่ายสัตว์ได้แล้ว ยังสามารถนำมูลสัตว์ที่ได้มาใส่ให้พืชที่ปลูก ส่งผลให้ไม่ต้องซื้อปุ๋ย แต่ยังได้ผลผลิตที่ดีจากการปลูกพืชตามไปด้วย

คุณนิรันดร พันธุ์โยศรี หรือ คุณน้อย

คุณนิรันดร พันธุ์โยศรี หรือ คุณน้อย อยู่บ้านเลขที่ 26/1 หมู่ที่ 11 ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสมาชิกกลุ่มผลิตข้าวหอมอินทรีย์ลาวา เซราะตลุง และเป็นสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงแพะแกะจังหวัดบุรีรัมย์ (2017) จำกัด ได้นำแกะมาเลี้ยงภายในพื้นที่ และสิ่งที่ได้จากการเลี้ยงแกะของคุณน้อยก็คือ มูลแกะที่ได้นำมาใส่ในแปลงนาข้าวที่ปลูก นอกจากจะช่วยในเรื่องของการประหยัดต้นทุนปุ๋ยแล้ว ผลผลิตข้าวที่ได้ต่อไร่มีจำนวนสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ต้นทุนปุ๋ยแพง เลี้ยงสัตว์เอามูลคือคำตอบ

คุณน้อย เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่มาเลือกเลี้ยงแกะเกิดจากที่ราคาปุ๋ยมีราคาที่แพงขึ้น ทำให้เวลาต่อมาเริ่มอยากที่จะหาทางออกด้วยการหาแหล่งปุ๋ยคอกมาใส่ภายในนาข้าว โดยช่วงแรกได้นำแพะมาเลี้ยงเพื่อเอามูล ต่อมาได้ปรับการเลี้ยงมาเลือกเป็นแกะแทน เพราะแกะสามารถหาอาหารกินเองได้ และไม่ต้องกินกระถินทุกเวลาเหมือนแพะ จึงได้เปลี่ยนมาเลี้ยงแกะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“พอจะเริ่มเลี้ยงแกะ ผมก็หาข้อมูลต่างๆ อยู่เสมอ ว่าเราจะเลี้ยงยังไงให้มันรอด ทีนี้ก็ไปเจอกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะ ได้ไปพูดคุยกับเขา จึงได้รับความรู้มากขึ้น ช่วงแรกๆ ซื้อมาเลี้ยงแค่ 5-6 ตัว ทำไปทำมาขยายพันธุ์เรื่อยๆ จนทุกวันนี้มีแกะเลี้ยงมากกว่า 60 ตัว โดยปัจจุบันมีตัวผู้คุมฝูงอยู่ประมาณ 3 ตัว นอกนั้นก็จะเป็นตัวเมียและลูกๆ คละอายุกันไป” คุณน้อย บอก

 

แบ่งโซนการเลี้ยงชัดเจน ช่วยให้แกะมีหญ้ากินตลอดปี

การเลี้ยงแกะเพื่อให้ประหยัดต้นทุนอาหารนั้น คุณน้อย บอกว่า ได้จัดสรรที่ดินการเลี้ยงให้เป็นโซนๆ โดยแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าเป็นจำนวน 6 ไร่ และถ้าเป็นช่วงที่เป็นฤดูกาลทำนาและช่วงฤดูฝน จะเลี้ยงแกะให้ยืนโรงอยู่ตลอด ซึ่งคุณน้อยจะหาอาหารมาให้แกะกินถึงโรงเรือนนอน หรือบางวันถ้าสภาพอากาศดีจะปล่อยแกะลงไปเดินเล่นในแปลงหญ้าบ้างในบางครั้งคราว

แกะที่เลี้ยงภายในฟาร์มทั้งหมดมีตั้งแต่ลูกผสมไปจนถึงพันธุ์แท้ ซึ่งแกะที่เป็นพันธุ์แท้เลือดร้อยจะเป็นแกะพ่อพันธุ์ที่นำมาผสมพันธุ์ ส่วนแม่พันธุ์ภายในฟาร์มทั้งหมดจะเป็นเลือดผสม โดยอายุแกะที่สามารถนำมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หรือทำการผสมพันธุ์ได้นั้น จะต้องมีอายุอยู่ที่ 8 เดือนขึ้นไป ใช้การผสมพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติเป็นหลัก เมื่อผสมติดแล้วใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 5 เดือน แม่พันธุ์ก็จะคลอดลูกออกมา

มูลแกะ

“หลังจากที่ลูกแกะคลอดมาแล้ว ช่วงนี้เราจะช่วยดูแลบ้าง หากตัวแม่พันธุ์ตัวไหนที่คลอดยาก ผมจะมีเข้าไปช่วยทำคลอด ลูกแกะในช่วงแรกอาจจะให้อยู่ในคอกแยกกับแม่ไปก่อน ถ้าผ่านไปสักระยะเห็นลูกแกะแข็งแรงดีแล้ว จะปล่อยให้ออกมาเดินพร้อมกับฝูง เพื่อหาหญ้าในแปลงกินได้ นอกจากนี้ ก็ยังให้อาหารข้นประมาณ 10 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อให้แกะภายในฟาร์มได้กินควบคู่กันไป” คุณน้อย บอก

พื้นที่ปลูกหญ้า

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคที่ทำให้กับแกะ คุณน้อย บอกว่า เนื่องจากฟาร์มที่เลี้ยงเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ติดกับชุมชน จึงทำให้ไม่มีสัตว์อื่น หรือบุคคลจากภายนอกเข้ามาวุ่นวาย สาเหตุของการเกิดโรคจึงไม่มี แต่จะเน้นทำวัคซีนถ่ายพยาธิเป็นหลักทุก 3 เดือนครั้ง ส่วนการทำความสะอาดโรงเรือนจะจัดสรรเวลาอย่างชัดเจน จึงทำให้ในคอกมีความสะอาดไม่เกิดการสะสมของโรค

หญ้าข้างทางที่หามาให้แกะกิน

แกะอายุ 3 เดือน น้ำหนักพร้อมส่งขายได้

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายแกะภายในฟาร์ม คุณน้อย บอกว่า ช่วงแรกที่ทำการเลี้ยงแกะยังไม่สามารถทำจำนวนได้ จึงทำให้ส่งขายตลาดได้น้อย แต่ลูกค้ามีความต้องการอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อทำการเลี้ยงมาเรื่อยๆ จนทำจำนวนได้มากขึ้น พร้อมทั้งมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง เวลาต่อมาสามารถมีแกะส่งให้ลูกค้าได้ตลอดทั้งปี ช่วยให้การทำตลาดเดินได้ต่อเนื่อง

อายุแกะที่พร้อมจำหน่ายได้จะเป็นแกะที่มีอายุตั้งแต่ 3-4 เดือนขึ้นไป เป็นลูกแกะที่หย่านมแล้ว น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 20 กิโลกรัม ซึ่งราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท โดยราคาสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด แต่ถ้าการเลี้ยงให้อาหารที่สมบูรณ์อยู่เสมอกับแกะ ก็จะทำให้น้ำหนักต่อตัวสูงขึ้น ถึงแม้ว่าช่วงไหนที่ราคารับซื้อจะลดลงมาบ้าง แต่ก็จะได้น้ำหนักมาชดเชยกับราคาที่ลดลงไป

พื้นที่นาข้าว

“คนที่อยากจะเลี้ยงแกะสร้างรายได้ สิ่งที่อยากให้ทำก่อนเลย คือในเรื่องของการทำแหล่งอาหาร ต้องมีพื้นที่ปลูกหญ้าก่อน จากนั้นได้ทำการศึกษาแต่ละพื้นที่ หรือจากเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ก็จะช่วยให้สามารถพัฒนาการเลี้ยงแกะให้ดียิ่งขึ้นได้ เพราะฉะนั้นการลดต้นทุนการเลี้ยงถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ” คุณน้อย บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงแกะ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนิรันดร พันธุ์โยศรี หรือ คุณน้อย หมายเลขโทรศัพท์ 088-590-8931