เป็ดสายพันธุ์ต่างๆ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก กบินทร์บุรี

1. เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี (พันธุ์บาบารี)


พ่อแม่พันธุ์มีขนสีขาวตลอดลำตัว กลางหัวมีขนสีดำเป็นจุดเด่น โดยเฉพาะพ่อพันธุ์จะมีจุดดำใหญ่กว่าเพศเมีย ปากสีชมพู เท้าสีเหลืองอ่อน ใบหน้ามี่ผิวขรุขระเป็นสันนูนสีชมพูแดงเด่นชัด เริ่มตั้งแต่บริเวณฐานของปากขึ้นไปบนใบหน้า ส่วนแม่พันธุ์มีเฉพาะรอบฐานปากขึ้นไปเหนือจมูกเล็กน้อย พ่อพันธุ์โตเต็มที่หนัก 5-6 กิโลกรัม และแม่พันธุ์โตเต็มที่หนัก 2.6-2.8 กิโลกรัม

ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก กบินทร์บุรี ได้นำมาพัฒนาให้เลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว ขยายพันธุ์ได้ดี แม่พันธุ์สามารถฟักไข่ได้เอง แข็งแรงและต้านทานโรค ปัจจุบันสามารถปรับตัวเข้ากับภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศได้ดี

2. เป็ดไข่พันธุ์กากีแคมเบลล์ (พันธุ์บางปะกง)


พ่อพันธุ์ สีขนสีกากีตลอดลำตัว ขาและแข้งสีส้ม ส่วนปากสีเทาหรือสีน้ำเงินปนดำ บริเวณหัวมีขนสีเขียวเข้มเป็นมัน คลุมลงมาจนถึงกลางลำคอ จากนั้นลงมามีขนลำตัวสีกากี เป็ดหนุ่มอายุ 5-7 เดือน ขนหัวลงมาถึงคอจะมีสีเขียวแก่ชัดเจนและจะค่อยๆ จางลงจนเป็นสีเทาหรือน้ำเงินปนดำเมื่อเป็ดมีอายุมากขึ้น พ่อพันธุ์ทุกตัวจะมีขนหาง 2-3 เส้นโค้งงอเห็นได้ชัดเจน

แม่พันธุ์ มีขนลำตัวสีกากีเช่นกัน แต่ดูสีเข้มกว่าพ่อพันธุ์ ส่วนขาและแข้งสีส้ม ปากสีเทาหรือสีน้ำเงินปนดำ บริเวณส่วนหัวถึงลำคอไม่มีขนสีเขียวเข้มเป็นมันเหมือนพ่อพันธุ์ โดยทั่วไปขนาดลำตัวจะเล็กกว่าพ่อพันธุ์

3. เป็ดไข่พันธุ์นครปฐม


พ่อพันธุ์ มีขนลำตัวสีน้ำตาล อกและท้องสีขาว อมน้ำตาล บริเวณคอมีวงสีขาว ส่วนหัวมีสีดำอมเขียวเป็นมัน (โตเต็มที่) หางมีขนงอนขึ้น 2-3 เส้น สีปากและแข้งมีสีเหลืองอมแดง น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ 1.6-1.8 กิโลกรัม

แม่พันธุ์ ขนลำตัวมีสีน้ำตาลลายกาบอ้อยชัดเจนตลอดลำตัว สีปากและแข้งมีสีเหลืองอมแดง น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ 1.5-1.6 กิโลกรัม

4. เป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ


พ่อพันธุ์ ขนลำตัวสีดำตลอดตัว บริเวณคอถึงหัวมีสีดำอมเขียวเป็นมันเงา หางมีขนงอนขึ้น 2-3 เส้น สีปากและแข้งมีสีเทาหรือดำ

แม่พันธุ์ ขนลำตัวสีดำตลอดตัว สีปากและแข้งมีสีเทาหรือดำ ซึ่งเป็ดปากน้ำเป็นเป็ดพื้นเมืองที่ทำการพัฒนาต่อเนื่องมากว่า 30 ปี จนสามารถเลี้ยงต้านทานโรค แข็งแรง เหมาะสำหรับเกษตรกรในชนบท และใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมสัตว์พื้นเมือง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ.2560