กวางผา สัตว์ป่าหายาก เพาะขยายพันธุ์ได้ที่อมก๋อย

การเพาะเลี้ยงกวางผา เป็นกิจกรรมหนึ่งของการเลี้ยงสัตว์ป่าที่หายากและมีโอกาสสูญพันธุ์ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ภายใต้โครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารหลายสาย เป็นแหล่งอาศัยหากินของสัตว์ป่าหายาก เช่น กวางผา ช้างป่า เสือ เลียงผา วัวแดง เก้ง กวาง ชะนี ลิง นก ไก่ฟ้า ฯลฯ

เมื่อความเจริญเริ่มเข้าไปสู่พื้นที่ป่า ผู้คนเข้าไปอาศัยทำมาหากิน ความอุดมสมบูรณ์ของป่าเริ่มสูญสลาย มีการล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหาร ดังนั้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534 นับเป็นวันแรกของการเริ่มต้นอนุรักษ์ป่าอมก๋อย ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยต่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าและชีวิตสัตว์ป่า จึงมีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปดำเนินงานในโครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อมก๋อย รวมถึงสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ได้รวบรวมพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิดเพื่อการอนุรักษ์และทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ โดยเฉพาะ “กวางผา” ที่นับเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยที่มีแนวโน้มว่าใกล้จะสูญพันธุ์ จัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ตามอนุสัญญาไซเตส แพร่กระจายอยู่ในไทย จีน เวียดนาม พม่า และอาจพบได้ในลาว

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย เริ่มเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2536 กวางผาจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับแพะ แกะ เลียงผา มีลักษณะคือ หูยาว ขนยาวหยาบ ขนสีเทาหรือสีน้ำตาลเทา มีเขาทั้งเพศผู้และเพศเมีย ขนาดลำตัวยาวประมาณ 82-120 เซนติเมตร ความสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 20-30 กิโลกรัม ถิ่นที่อยู่มักพบตามชะง่อนผาสูง บนเทือกเขาที่

มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000-2,500 เมตร พบการกระจายตัวอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดเล็กประมาณ 2-4 ตัว บางครั้งพบเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 12 ตัว

การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กวางผา เริ่มด้วยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ อายุ 2 ปีขึ้นไป โดยดูจากพันธุ์ประวัติไม่ให้มีสายเลือดใกล้ชิดเกินไป และกำหนดให้ได้ลูกต่อพ่อ-แม่พันธุ์ในแต่ละคู่ไม่เกิน 5 ตัว คอกผสมพันธุ์ควรกั้นด้วยตาข่ายถักตาขนาด 2 นิ้ว ความสูง 2.10 เมตร กว้าง 30 เมตร ความยาว 40 เมตร สร้างในพื้นที่ลาดชัน ให้ความยาวของคอกเพาะเลี้ยงยาวไปตามแนวลาดชันเหมือนธรรมชาติ เพราะกวางผาจะมีกิจกรรมส่วนใหญ่ไปตามแนวลาดชันมากกว่าแนวระดับ

อาหารกวางผา ได้แก่ อาหารข้นที่มีโปรตีนระหว่าง 6-8 เปอร์เซ็นต์ ให้อาหารช่วงเช้าเป็นอาหารข้นวันละ 500 กรัม และให้อาหารหยาบในช่วงบ่าย  ได้แก่ หญ้ารูซี่ หญ้าขน ใบเต็ง ใบมะเดื่อ ใบปอ เป็นต้น และเสริมวิตามินรวมให้กินอาทิตย์ละ 1 ครั้ง

กวางผาเพศเมียที่เพาะเลี้ยงจะเป็นสัดตลอดทั้งปี มีวงรอบเป็นสัด 21 วัน เมื่อตัวเมียเป็นสัด ตัวผู้จะเดินตามเพื่อคอยผสมพันธุ์ เป็นเวลา 2-3 วัน กวางผาอุ้มท้องประมาณ 6-7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจะหย่านมเมื่อ 2 เดือน จากนั้นลูกจะอาศัยอยู่กับแม่ต่ออีกประมาณ 1-2 ปี

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย สำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 หรือที่สวนสัตว์เชียงใหม่