ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อุตฯสับปะรดประจวบคีรีขันธ์สดใส โกยรายได้ 40,000 ล้านบาท ตลาดส่งออกยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีนโตฉลุยผู้ประกอบการแปรรูปเฮ ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก หลังปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย ราคารับซื้อหน้าสวนลดเหลือ 7 บาท/กก. จากเดิมสูงสุด 13 บาท/กก. ด้านเกษตรจังหวัดเผยผลผลิตเพิ่มขึ้น 6 หมื่นตัน พร้อมเร่งส่งเสริมเกษตรกรปลูกสับปะรดพันธุ์ MD2 ขายผลสด หวังลดความเสี่ยงราคาผันผวนในอนาคต
ภัยแล้งคลี่คลายดันผลผลิตเพิ่ม
นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด โรงงานแปรรูปสับปะรดรายใหญ่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นแหล่งผลิตใหญ่ของอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดเพื่อการส่งออก มีโรงงานแปรรูปประมาณ 15 แห่ง ซึ่งภาพรวมการส่งออกในปี 2560 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกคำสั่งซื้อตลาด ยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เติบโตขึ้นทุกปี ทำให้โรงงานต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น
ขณะที่สถานการณ์ราคาสับปะรดผลสดหน้าสวนปรับตัวลดลงเหลือ 7 บาท/กิโลกรัม จากเมื่อปี 2559 ราคาสูงสุดอยู่ที่ 13 บาท/กก. ส่งผลดีต่อโรงงานแปรรูปทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้าได้มีการขอปรับลดราคาซื้อขายสับปะรดกระป๋องลงเล็กน้อยเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริงสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาลดลงคือปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลายทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น
“คู่ค้าต่างประเทศได้ขอปรับลดราคาสับปะรดกระป๋องจากไทยซึ่งมีฐานการผลิตใหญ่อยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ยินยอมโดยให้เหตุผลว่าช่วงที่ราคาสับปะรดผลสดปรับขึ้นสูงสุด ประสบปัญหาภัยแล้ง ผู้ประกอบการก็ไม่ได้ขอปรับขึ้นราคา จึงเห็นว่าไม่สมควรที่จะลดราคาลง จึงต้องเร่งชี้แจงให้คู่ค้าเข้าใจเรื่องต้นทุนการผลิต” นายวิรัชกล่าว
สำหรับการแข่งขันในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะปกติ โดยมีประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่ปัจจุบันไทยยังครองมาร์เก็ตแชร์สับปะรดกระป๋องทั่วโลกถึง 40% จุดแข็งของสับปะรดกระป๋องไทย คือ รสชาติยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่มาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีมูลค่าตลาดสับปะรดผลสดและแปรรูปสูงถึง 40,000 ล้านบาท/ปี
หนุนปลูกพันธุ์ MD2 กินผลสด
ด้านนายมงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ผลผลิตสับปะรดปี 2560 ว่า หลังจากที่ปัญหาภัยแล้งเบาบางลง และผลผลิตที่เกษตรกรแห่ปลูกช่วงที่ราคาสูงก็จะเริ่มทยอยออกปีนี้ ทำให้ผลผลิตจะออกสู่ตลาดจำนวนมาก แต่ไม่ถึงขั้นภาวะสินค้าล้นตลาด และราคาผันผวนจนเกินไป เพราะโรงงานส่วนใหญ่จะประกันราคาให้เกษตรกรขั้นต่ำอยู่ที่ 7 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาระดับกลาง จะไม่ส่งผลกระทบต่อโรงงานและเกษตรกร
ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่จะเน้นการปลูกสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวียซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะเฉพาะการแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋องเพื่อการส่งออกเท่านั้นและราคาผันผวนเป็นระยะๆ ในอนาคตจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสับปะรดพันธุ์ MD2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์จากอเมริกา เหมาะกับการรับประทานผลสด หรือส่งออกในรูปแบบผลสด จุดเด่นของสายพันธุ์นี้คือสามารถอยู่ได้นานกว่าพันธุ์อื่น ๆ จึงเหมาะแก่การส่งออก
สำหรับแผนการส่งเสริมจะเข้าไปแจกกล้าพันธุ์ และให้ความรู้วิธีการปลูก การดูแลรักษา โดยจะให้เกษตรกรปลูกเสริมกับสายพันธุ์ปัตตาเวีย เพื่อลดความเสี่ยง หากราคาผันผวนเกษตรกรสามารถนำสับปะรด MD2 มาจำหน่ายผลสดได้ ซึ่งมีแนวโน้มการบริโภคผลสดจะสูงขึ้นทั้งในต่างประเทศและในประเทศ

คาดผลผลิตมากถึง 9.2 แสนตัน
นายสมพงษ์ ไก่แก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตสับปะรดจะออกสู่ตลาดมากถึง 9.2 แสนตัน จากเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 8.6 หมื่นตัน หรือเพิ่มขึ้นราว 60,000 ตัน ส่วนพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจาก 4.2 แสนไร่เป็น 4.5 แสนไร่ ทำให้ปีนี้ผลผลิตจะเพียงพอต่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมสับปะรด เนื่องจากปีที่ผ่านมาประสบปัญหาภัยแล้งผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดสูงสุดประมาณเดือนมกราคม-ต้นเดือนมีนาคมของทุกปี
ขณะที่นายณัฐที พรหมเชื้อ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและจัดหาวัตถุดิบ บริษัท สยามอุตสาหกรรมการเกษตร สับปะรด และอื่น ๆจำกัด (มหาชน) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า บริษัทผลิตสับปะรดแปรรูปกระป๋องส่งออกต่างประเทศ 100% ได้แก่ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น โดยคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้รับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชุมพร อุตรดิตถ์ และหนองคาย ในราคา 6.80 บาท/กิโลกรัม หากเทียบกับปีที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 13 บาท/กก. ซึ่งถือว่าลดลงไปมาก เนื่องจากปีนี้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ปรากฏการณ์การแย่งผลผลิตไม่ค่อยเกิดขึ้นให้เห็นนัก
ขณะเดียวกันก็เริ่มมีเกษตรกรหน้าใหม่เข้ามาขายผลสับปะรดให้กับโรงงานมากขึ้นทั้งนี้ในปี2560บริษัทตั้งเป้าใช้สับปะรดในการแปรรูปประมาณ 150,000 ตัน/ปี และคาดว่าจะเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้