“ต่ายมะพร้าวแก้ว” เชียงคาน เลย เพิ่มมูลค่ามะพร้าว สู่รายได้ที่ยั่งยืน

เข้าสู่โหมดหน้าหนาวกันแล้ว หลายคนกำลังวางแผนท่องเที่ยวเพื่อไปสัมผัสกับธรรมชาติป่าเขาหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่ติดอันดับอากาศหนาวเย็นสุดขั้วอย่างจังหวัดเลย แล้วที่ห้ามพลาดคือเชียงคาน อำเภอที่หลายคนปักหมุดเที่ยวในช่วงหน้าหนาวเพราะได้สัมผัสกับบรรยากาศสุดชิลริมโขง ทำบุญใส่บาตรข้าวเหนียว พร้อมชิม-ช็อป-ใช้ที่ถนนคนเดินอย่างสนุกสนาน

ผลิตภัณฑ์ต่ายมะพร้าวแก้วบรรจุในซองที่ซิลมิดชิด ปลอดภัย

เสร็จจากการตะลอนเที่ยวก่อนกลับแวะซื้อของที่ระลึกติดไม้ติดมือ ซึ่งในบรรดาของฝากก็มีหลายชนิด แต่จะแนะนำขนมหวานไทยๆ พื้นบ้านที่เกิดจากฝีมือของชาวบ้าน อย่าง “มะพร้าวแก้ว” ที่นำมะพร้าวมาแปรรูปสร้างมูลค่าให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ มะพร้าวแก้วมีลักษณะทั้งแบบเป็นแผ่นและเส้น มีรสหวานน้อย ปัจจุบันมีการเพิ่มสีสันให้มีหลายหลากสีชวนน่ารับประทานยิ่งขึ้น

คุณกาญจนา สีดาเพ็ง หรือคุณตุ้ม เจ้าของร้านต่ายมะพร้าวแก้ว

คุณกาญจนา สีดาเพ็ง หรือ คุณตุ้ม เจ้าของร้าน “ต่ายมะพร้าวแก้ว” ตั้งอยู่เลขที่ 8/5 หมู่ที่ 4 ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย คุณตุ้ม เล่าว่า ครอบครัวยึดอาชีพทำมะพร้าวแก้วมากว่า 30 ปี โดยแม่เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิก เพราะมองว่าในชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว จากนั้นชาวบ้านรายอื่นสนใจทำกันแพร่หลาย จนเกิดแนวคิดพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานผลักดันให้เป็นสินค้าของชุมชนในรูปแบบ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อทำกันมากขึ้น ชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ได้แบ่งสินค้าไปขายที่แก่งคุดคู้ อีกหนึ่งสถานที่เที่ยวตั้งอยู่ไม่ไกลเชียงคาน

สมัยที่คุณตุ้มยังเรียนระดับมหาวิทยาลัย ได้เปิดเพจเพื่อขายมะพร้าวแก้วที่ทางบ้านผลิตควบคู่ไปด้วย เรียนจบแล้วไปทำงานเป็นนักโภชนาการ ยังขายสินค้าตามเพจต่ออีก หลังจากเห็นว่ามีลูกค้าสนใจสั่งซื้อทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทางบ้านรับมือไม่ไหว ทำให้คุณตุ้มตัดสินใจลาออกจากงานประจำแล้วเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อช่วยทางบ้านทำอาชีพนี้พร้อมผันตัวเองเป็นแม่ค้าเต็มตัวเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา

มะพร้าวแก้วแผ่นรสธรรมดา

ดังนั้น ถือว่าทางคุณตุ้มเป็นรายแรกที่บุกเบิก รูปแบบการนำเสนอมะพร้าวแก้วขายทางออนไลน์ ทำให้ช่วงแรกขายดีมาก ต่อมามีคนอื่นทำตามบ้างจึงทำให้ยอดการขายลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีลูกค้าประจำที่อุดหนุนกันมาแรมปีอยู่จึงไม่กระทบต่อรายได้เท่าไรนัก อีกทั้งลูกค้ายังรู้กันดีว่าผลิตภัณฑ์ต่ายมะพร้าวแก้ว ผลิตด้วยคุณภาพ มีความอร่อยแบบเข้มข้น แล้วยังปลอดภัย

นอกจากนั้นแล้ว คุณตุ้มยังมองหากลุ่มลูกค้ารายใหม่เข้ามาทดแทนด้วยการทำหน้าที่เป็นเซลล์นำสินค้าไปเสนอขายตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งทั่วประเทศเพื่อเพิ่มช่องทางขายให้มีมากขึ้น พร้อมกับพยายามผลักดันสินค้าให้มีมาตรฐานเพื่อยกระดับเข้าสู่ธุรกิจ SME ปูทางสู่อนาคตต่อไป

คุณตุ้มสั่งซื้อมะพร้าวเป็นมะพร้าวพื้นบ้านจากหล่มสัก เพชรบูรณ์ สั่งใส่รถสิบล้อมาคราวละ 1,500 ผล ต่อคัน ปกติจะสั่งทุกเดือนเฉลี่ย 1 คันรถเป็นอย่างต่ำ สั่งกันเป็นประจำมานานจนผู้ส่งรู้ว่าต้องคัดมะพร้าวที่มีขนาดผลใหญ่แบบที่ต้องการเพราะเมื่อนำมาแปรรูปจะได้มะพร้าวแก้วแผ่นใหญ่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดปัญหาขาดแคลนหรือจำเป็นต้องใช้จำนวนมากจนหาไม่พอก็จะสั่งซื้อมาจากทางราชบุรี

กระบวนการปอก แซะเนื้อ แล้วล้างเนื้อมะพร้าว

ขั้นตอนการผลิต

ผ่าผลมะพร้าวออก 2 ส่วน แล้วใช้ไม้พายที่มี 2 แบบ คือชนิดเหล็กที่เหมาะกับการแซะมะพร้าวเนื้อแข็งอย่างมะพร้าวทึนทึก กับอีกชนิดคือแบบยาง ที่เหมาะกับการแซะมะพร้าวเนื้ออ่อน หลังจากแซะเนื้อออกจากกะลาแล้วจะมีสีน้ำตาลจากกะลาติดที่ผิวเนื้อมะพร้าว จะต้องปาดด้วยมีดออกให้หมดเหลือเป็นเนื้อสีขาว แล้วนำมาหั่นผ่าครึ่งใช้ทางแบนของเนื้อคว่ำลง แล้วใช้มีดสองคม (เป็นมีดสั่งทำพิเศษไม่มีขาย) หั่นเนื้อมะพร้าวให้เป็นแผ่นใหญ่ สำหรับที่มีเนื้อแข็งจะใช้มีดสองคมด้ามเหลือง (แบบแม่ค้าส้มตำใช้) เพื่อให้ได้เนื้อมะพร้าวเส้นยาวขนาดใหญ่

ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายครั้ง
ต้มแล้วใส่น้ำตาลทราย

หลังจากได้เนื้อมะพร้าวหั่นแล้ว ให้นำมาล้างน้ำ 3 ครั้ง อีกทั้งยังแช่ในน้ำเกลือเพื่อขจัดคราบมันออก ปล่อยให้สะเด็ดน้ำจึงนำไปชั่งในอัตราเนื้อมะพร้าว 9 กิโลกรัม กับน้ำตาลทรายขาว 4 กิโลกรัม ใส่เกลือไอโอดีนเม็ดเล็กน้อยและน้ำเปล่าด้วย จากนั้นนำมาเคี่ยวเป็นเวลา 30 นาที จนน้ำมีลักษณะเหนียวเป็นน้ำเชื่อมแล้วปิดไฟ แล้วนำไปเทใส่กะละมังที่เจาะรูระบายอากาศ โดยทิ้งไว้ 2 วันให้เย็นแล้วเพื่อให้เนื้อมะพร้าวดูดซึมน้ำเชื่อมให้มากที่สุด จึงนำไปใส่ถุงซ้อน 2 ชั้น เขียนวันที่ผลิตกำกับไว้ก่อนจะนำไปใส่ในปี๊บแช่ไว้ในช่องเย็นเพื่อสต๊อกไว้ ในแต่ละวันเฉลี่ยผลิตไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 กิโลกรัม

น้ำตาลอ้อยกะทิ
น้ำตาลมะพร้าวเอามาผสมกันกับน้ำเชื่อม จากนั้นกวนไปจนได้สีน้ำตาลเข้ม

เมื่อได้ออเดอร์จึงทยอยนำมะพร้าวเคี่ยวเก็บไว้ออกมาผลิตเรียงตามวันที่จัดเก็บก่อนหน้า-หลัง แล้วนำมาเคี่ยวต่ออีกใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที โดยระหว่างเคี่ยวต้องคอยตักน้ำเชื่อมออกเรื่อยๆ จนแห้ง จากนั้นนำมาผึ่งลมสักครู่แล้วใส่ลงในเครื่องร่อนเพื่อต้องการทิ้งน้ำตาลออกให้มากที่สุด เพราะไม่ต้องการให้หวานมาก ต่อจากนั้นจึงนำไปแพ็กเตรียมส่ง

ต้ม 1 ชั่วโมง ดูว่าน้ำเชื่อมเหนียวแล้วตักน้ำเชื่อมออก

แต่เดิมร้านต่ายมะพร้าวแก้วผลิตขายมีเพียงรสธรรมดา ต่อมาได้มีการพัฒนาสินค้าด้วยการนำใบเตยสดมาปั่นแล้วบีบคั้นเฉพาะน้ำลงในระหว่างขั้นตอนการเคี่ยวจึงได้มะพร้าวแก้วรสใบเตยได้รับความนิยมมากเพราะอร่อย หวานน้อย กลิ่นหอม มีความเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังผลิตมะพร้าวแก้วเป็นสีสันต่างๆ โดยใช้สีผสมอาหารที่ปลอดภัยทั้งหมด จึงถือเป็นทางเลือกของลูกค้า

 ขนาด/ราคาขาย

ชนิดสินค้ามีทั้งแบบแผ่นและเส้น ถ้าเป็นแบบแผ่นใหญ่จะมีรสดั้งเดิมกับใบเตย ถ้าเป็นแบบเส้นจะใส่สีผสมอาหารที่ปลอดภัยมีทั้งหมด 6 สี ได้แก่ ขาว ชมพู เขียว เหลือง ม่วง และส้ม พร้อมกับปรุงด้วยน้ำหวานเฮลซ์บลูบอยเล็กน้อยเพื่อแต่งกลิ่นให้น่ารับประทาน

กระต่ายมะพร้าวแก้ว แบ่งประเภทสินค้าออกตามคุณภาพด้วยกัน 3 เกรด ได้แก่ เกรด A เนื้อมะพร้าวนิ่มมาก เกรด B เนื้อมะพร้าวแข็งเล็กน้อย และเกรด C เนื้อแบบเป็นเส้นมะพร้าวที่ใช้มะพร้าวทึนทึก ถ้าขายหน้าร้าน เกรด A กิโลกรัมละ 260 บาท ครึ่งกิโลกรัม 130 บาท, เกรด B กิโลกรัมละ 200 บาท ครึ่งกิโลกรัม 100 บาท และเกรด C หรือแบบเส้นขายกิโลกรัมละ 160 บาท ครึ่งกิโลกรัม 80 บาท

ทานคู่กับชาร้อน

โดยราคาขายส่งเป็นราคาเดียวกับที่ขายหน้าร้าน แต่ต้องสั่งจำนวนไม่ต่ำกว่า 7 กิโลกรัม ส่วนขายทางออนไลน์มีราคาขาย ได้แก่ เกรด A กิโลกรัมละ 300 บาท ครึ่งกิโลกรัม 150 บาท, เกรด B กิโลกรัมละ 240 บาท ครึ่งกิโลกรัม 120 บาท และเกรด C หรือแบบเส้นขายกิโลกรัมละ 200 บาท ครึ่งกิโลกรัม 100 บาท

คุณตุ้ม ชี้ว่า ทันทีที่ได้รับออเดอร์เริ่มผลิตทันทีโดยนำมะพร้าวที่เคี่ยวรอบแรกออกมาเคี่ยวเพื่อผลิตเป็นมะพร้าวแก้ว และทยอยผลิตไปตามออเดอร์ที่สั่งเข้ามาในแต่ละวัน โดยไม่มีการผลิตเก็บไว้ ดังนั้น สินค้าจึงมีความสด ใหม่ หากรับประทานไม่หมดเก็บไว้รับประทานต่อก็ยังมีความสดใหม่เช่นเดิม เพราะทุกขั้นตอนการผลิตให้ความสำคัญแล้วใส่ใจกับความสะอาด ปลอดภัย

มะพร้าวแก้วแผ่นรสใบเตย

นอกจากนั้น ยังผลิตน้ำตาลอ้อยกะทิ ทำจากขี้น้ำตาลมะพร้าวเอามาผสมกันกับน้ำเชื่อม จากนั้นกวนไปเรื่อยๆ จนได้สีน้ำตาลเข้มๆ หน่อย แล้วนำเอามาหยอดเป็นก้อน ราคาห่อละ 15 บาท (มี 3 แผ่น)

“อยากเชิญชวนมาเที่ยวอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่อากาศหนาวเย็น มีธรรมชาติที่สวยงามของแม่น้ำโขง แล้วอย่าลืมแวะมาซื้อมะพร้าวแก้วเป็นของติดกลับบ้านที่ร้านต่ายมะพร้าวแก้ว สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณตุ้ม โทรศัพท์ (084) 896-4473 fb: ร้านต่ายมะพร้าวแก้ว จำหน่ายปลีก-ส่ง”