ชาวนาอุทัยฯ เปลี่ยนที่ว่างเปล่าเป็นสวนมะกรูด ตัดใบส่งออกไกลถึงตลาดตปท.

วันที่ 9 มีนาคม 2560 เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี มีเกษตรกรใช้ช่วงเวลาที่งดเว้นจากการทำนา มาประกอบอาชีพเกษตรกรอย่างอื่นกันมากขึ้น เช่น ผักสวนครัว และทำไร่อ้อย เพื่อสร้างรายได้ขึ้นมาทดแทนในช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งไม่มีน้ำเพียงพอที่จะปลูกข้าวต่อไปได้ เช่น นายทวาย อาจหิรัญ อายุ 65 ปี เกษตรกรหมู่ที่ 3 บ้านขุดจัด ต.ดอนกลอย อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี ใช้พื้นที่ว่างเปล่าข้างบ้านปลูกพืชสุมนไพรอย่าง มะกรูด ซึ่งสามารถตัดใบขาย ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ สร้างรายได้ในช่วงฤดูแล้ง เป็นอย่างดี

นายทวาย เปิดเผยว่า อาชีพหลักนั้นจะทำนา รวมพื้นที่ 40 ไร่ แต่ช่วงที่ผ่านมานั้นประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และมีปัญหาภัยแล้งเข้ามาทำให้ต้องงดเว้นการทำนาในช่วงนี้ไปก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ใช้พื้นที่ว่างเปล่าข้างบ้านและที่ดินตามหัวไร่ปลายนา รวม 10 ไร่ ปลูกมะกรูดพันธุ์พื้นเมือง เอาไว้เพื่อตัดใบขาย ซึ่งตอนนี้ก็มีอายุตั้งแต่ 5 -20 ปีแล้ว โดยจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน และจะนำคนงานมาตัดเอง ซึ่งในหนึ่งปี จะตัดเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ทำให้มีรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้งปีละ 50,000-60,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ดี และยอมรับว่าดีกว่าทำนาเสียอีก อีกทั้งปลูกมะกรูดไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด พ่อค้ามาแย่งกันซื้อเลยทีเดียว ซึ่งบางแห่งส่งออกไปจำหน่ายที่ต่างประเทศ ทั้งตลาดยุโรปและเอเซีย พ่อค้าบางรายก็นำใช้เป็นพืชสมุนไพรส่วนผสมในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร มั่นใจว่ามะกรูดตัดใบนั้น ตลาดยังกว้างและมีความต้องการอีกมาก

“ส่วนวิธีการปลูกและการดูแลรักษานั้นไม่ได้ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรมาก มีเพียงศัตรูพืชกัดกินใบ เท่านั้นที่ระบาดแต่ไม่รุนแรง หากจะปลูกในพื้นที่นาต้องยกร่องสูง เนื่องจากมะกรูดไม่ชอบน้ำท่วมขัง จะทำให้ใบเหลืองและตายในที่สุด สำหรับเกษตรกรรายใหม่ที่ต้องการปลูกมะกรูดนั้น ควรมีแหล่งเก็บกักน้ำหรือสระน้ำประจำแปลงเอาไว้ เพื่อใช้ในยามขาดแคลนโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เพื่อไม่ให้ต้นมะกรูด ตายได้รับความเสียหายได้ แม้มะกรูดจะใช้น้ำน้อยก็ตาม แต่ก็ยังต้องใช้น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ” นายทวาย กล่าว