จับตากยท.เปลี่ยนแผน”ขายยาง” วงการระบุหากใช้วิธีเจรจาต่อรองอาจเกิดข้อครหา

หวั่น กยท.ประมูลขายยางลอตสุดท้าย 1.04 แสนตันไม่หมด อาจเกิดข้อครหาหากเปลี่ยนแผนมาเจรจาต่อรองราคากันแทน วงการยางชี้ต้องทำให้ชัดเจนทั้งการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและใช้องค์คณะใหญ่เข้าเจรจาขายรายโกดัง เผยบอร์ด กยท.เสนอเก็บเงินเซสอัตราคงที่ กก.ละ 2 บาท หวังนำเงินมาให้สถาบันเกษตรกรกู้ไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าและรักษาเสถียรภาพราคายางให้ดียิ่งขึ้น

แหล่งข่าววงการยางพาราเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการประมูลยางพารารายโกดังของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ครั้งที่ 5 ปริมาณที่เหลืออยู่รวม 1.04 แสนตัน จากทั้งหมด 3.1 แสนตัน ในวันที่ 31 มีนาคมซึ่งจะประกาศผลการประมูลในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มสูงที่การประมูลยางรายโกดังที่ภาคใต้ซึ่งมีเอกชนขึ้นทะเบียนประมูลครั้งนี้ 15 ราย กยท.อาจประมูลขายได้ไม่หมด หลังจากครั้งที่ 4 ที่เปิดประมูลไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม มีเอกชนประมูลไปเพียง 1.3 หมื่นตัน หากผู้บริหาร กยท.ใช้แผน 2 ด้วยวิธีการเจรจาต่อรองราคาแทนการประมูลที่ชาวสวนยางไม่พอใจที่เปิดประมูลบ่อย อาจเกิดข้อครหาว่าสมยอมราคากับผู้ซื้อตามมาอีกได้

ดังนั้นผู้บริหาร กยท.จะต้องให้บริษัทตรวจสอบคุณภาพสินค้าหรือเซอร์เวเยอร์ตรวจสอบยางแต่ละประเภทให้ชัดเจนทั้งจำนวนและคุณภาพอีกครั้งรวมทั้งให้คณะกรรมการระบายยางต่อรองราคาโดยตรงแทนที่จะตั้งเพียง2-3 รายเจรจากับเอกชน เนื่องจากราคายางที่ต่อรองกันจะไม่ชัดเจนเหมือนราคาขายเริ่มต้นที่ตั้งในการประมูลที่นำมาจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าของสิงคโปร์แม้ว่าจะเป็นยางเก่าที่เก็บไว้ในโกดังนานก็ตาม

ทางด้านดร.ธีธัชสุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ปริมาณยางที่เก็บไว้ในโกดัง กยท.ประมูลขายไปแล้วมูลค่า 14,437 ล้านบาท คาดว่าหากขายในส่วนที่เหลือจะได้เงินรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับวงเงินที่กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ผ่านมา 5 ปี รัฐบาลต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเช่าโกดังทั้งปีประมาณ 160 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 1,000 ล้านบาท ฉะนั้นนโยบายรัฐบาลที่มอบให้ กยท.เร่งบริหารจัดการยางในสต๊อกให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้ราคายางเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งในแต่ละครั้งที่จะมีการประกาศขายยางในสต๊อก กยท.จะคำนึงถึงช่วงที่เหมาะสม เช่น ช่วงมกราคม 2560 ที่เป็นช่วงน้ำท่วมภาคใต้ ทำให้ปริมาณยางลดลง และช่วงที่เหมาะสม อีกช่วงคือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ที่เป็นฤดูกาลสุดท้ายของการเก็บเกี่ยวผลผลิต แนวโน้มผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง โดยจากการพิจารณาข้อมูลประกอบ จะพบว่าหากจัดการปัญหายางค้างสต๊อก ที่มักใช้เป็นเหตุในการกดดันด้านราคาในตลาดเก็งกำไรได้เร็ว จะช่วยแก้ปัญหาและทำให้การซื้อขายยางในอนาคตจะเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศจะไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้าซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาลด้วย

ดร.ธีธัชกล่าวเพิ่มเติมว่าในขณะที่แนวโน้มราคายางพาราเดือนมีนาคม-เมษายน2560มีผลจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของจีนที่เป็นประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ของโลกขยายตัวในอัตราคงที่ และเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการนำเข้ายางของจีนซึ่งสอดรับกับเป็นช่วงปิดกรีดของไทย กอปรกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงและอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น ดังนั้นราคายางในเดือนเมษายนนี้จะมีแนวโน้มปรับตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังคงรักษาระดับราคายางไว้ที่ 60-70 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่ กก.ละ 63 บาท

“เมื่อเปรียบเทียบราคายางแผ่นดิบในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่ กยท.มีการระบายยางในสต๊อกกับราคายางแผ่นดิบในช่วงเดือนเดียวกันในปี 2558-2559 จะเห็นได้ชัดเจนว่า ราคายางปี 2560 มีราคาสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้การระบายสต๊อกยางจะมีผลต่อราคายางบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้ราคายางตกต่ำไปกว่าอดีต และยังคงรักษาระดับไม่ต่ำกว่า 60-70 บาท/กก.”

“ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริหาร กยท.ได้ลงมติเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ให้เก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางหรือเงินเซสในอัตราคงที่ กก.ละ 2 บาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่เก็บได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยจะมีการนำเรื่องนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป การเก็บเงินเซส กก.ละ 2 บาทครั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐได้มีการวางยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพารา พืชเศรษฐกิจสำคัญ ต้องมุ่งเน้นให้สถาบันเกษตรกรนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาให้เกิดการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางมากยิ่งขึ้นและรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศให้มากที่สุดที่ประมาณกก.ละ70-80บาท ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมเรื่องราคายางให้แก่เกษตรกร ขณะเดียวกันผู้ส่งออกยางจะได้ทราบถึงต้นทุนที่แท้จริงและมีความมั่นใจต่อการเสนอราคาซื้อขายล่วงหน้า” ดร.ธีธัชกล่าว

นอกจากนี้ กยท.ได้มีการเตรียมปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหารการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางให้เกิดประสิทธิภาพ โดยร่วมกับกรมศุลกากรในฐานะหน่วยงานดูแลการนำเข้าส่งออก เพราะที่ผ่านมาพบว่า การส่งออกยางพาราออกนอกประเทศยังมีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลการส่งออกยาง ปัญหาในการนำใบชั่งน้ำหนักที่มีน้ำหนักลดลงมาขอคืนเงินค่าธรรมเนียม มีการแจ้งชนิดยางที่ส่งออกไม่ตรงความเป็นจริง ดังนั้นสิ่งที่ กยท.ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพของการดำเนินงานครั้งนี้ หลักสำคัญคือมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บค่าธรรมเนียม เพิ่มคุณภาพการให้บริการให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้องในการจัดเก็บ

“คงจะต้องมีการลงทุนสร้างด่านชั่งน้ำหนักที่ใกล้กับด่านศุลกากรขาออกและอุปกรณ์โรงเรือนกว่า 800 ล้านบาท แต่ กยท.จะไม่ลงทุนเอง จะเอาต์ซอร์ซเปิดประมูลให้เอกชนมาเสนอตัวดำเนินงานแทน ใครให้เงื่อนไขดีที่สุดก็ได้ไป ส่วนความคลาดเคลื่อนของค่าธรรมเนียมตกประมาณปีละ 200-300 ล้านบาท จะได้เข้าที่เข้าทาง”