“ข้าวเกรียบหอยสีทอง” ผลิตภัณฑ์แปรรูป สร้างมูลค่า ฟันยอดขายครึ่งแสนต่อเดือน

“หอยเชอรี่สีทอง” สัตว์เศรษฐกิจยอดฮิต เลี้ยงอย่างไรให้อยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น

หอยเชอรี่สีทองที่เลี้ยงเองภายในสวนผสมผสาน
คุณศิริวัฒน์ ซุยกระเดื่อง เกษตรกรหัวก้าวหน้า

คุณศิริวัฒน์ ซุยกระเดื่อง อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 249 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น อดีตพนักงานประจำ ผันตัวเป็นเกษตรกร นำประสบการณ์จากที่เคยไปทำงานที่ต่างประเทศมาประยุกต์ใช้พัฒนางานในสวน เน้นให้ความสำคัญกับเวลาในการทำงาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรง

หอยเชอรี่สีทองที่เลี้ยงเองภายในสวนผสมผสาน

คุณศิริวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะผันตนเองมาเป็นเกษตรกร เคยทำงานเป็นพนักงานประจำมาก่อน จากนั้นได้ลาออกจากงานประจำเพื่อไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานด้านการเกษตรที่เกาหลีใต้เป็นเวลากว่า 3 ปี ทำให้เห็นว่าภาคเกษตรกรรมของต่างประเทศจะเน้นให้ความสำคัญกับเวลา และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการภายในสวนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะมีการจ้างแรงงานคนที่น้อยมาก โดยพื้นที่การทำเกษตรจำนวน 10-20 ไร่ ใช้เพียงแรงงาน 2 คนในการดูแล แต่ได้ประสิทธิภาพสูง ซึ่งตนเองก็ได้เก็บเกี่ยวนำเอาสิ่งที่ได้ไปเรียนรู้ และได้ไปสัมผัสมาประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรที่บ้านได้เป็นอย่างดี

ออกบู๊ธขายตามงานขยายช่องทางการตลาด
เตรียมส่งของให้ลูกค้าที่สั่งผ่านช่องทางออนไลน์

โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนไร่อ้อยของพ่อแม่ มาทำเกษตรผสมผสาน ทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง เลี้ยงกุ้ง ปู และหอยเชอรี่สีทองเป็นรายได้เสริม เพราะถ้าหากย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หอยเชอรี่สีทองกำลังได้รับความนิยมและมองเห็นช่องทางการสร้างรายได้จากการเพาะพ่อแม่พันธุ์หอย  เชอรี่ขาย ซึ่งในช่วงปีแรกก็เป็นไปได้สวย แต่หลังจากนั้นเริ่มมีคนเพาะขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้การขายพ่อแม่พันธุ์ไม่ได้รับความนิยมเท่าเดิม ตนเองจึงหาทางออกด้วยการแปรรูปที่ต่อยอดมาจากผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบสมุนไพร ที่ได้ทำมาก่อนแล้ว

บ่อเลี้ยงหอยเชอรี่
ขั้นตอนบรรจุใส่ถุง เตรียมส่งลูกค้า มีหลายขนาดให้เลือก

“การหาทางรอดของผมคือการนำเอาหอยเชอรี่ที่มีมากเกินความต้องการของตลาดจับมาแปรรูป ที่เป็นนวัตกรรมการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบสมุนไพรที่ทำขายสร้างรายได้มาก่อน ในรูปแบบของการนำผักผลไม้ที่ปลูกเองและเน้นที่หาได้ง่ายในชุมชน อย่างเช่น ฟักทอง ใบเตย      มันม่วง กล้วย รวมถึงกุ้งฝอย และปูนา ผมก็จับมาแปรรูปทำข้าวเกรียบได้ จึงได้มองต่อไปว่าหอยเชอรี่สีทองที่มีอยู่ก็น่าจะเอามาแปรรูปทำข้าวเกรียบได้เหมือนกัน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจับหอยเชอรี่มาทำข้าวเกรียบ และกลายเป็นกิมมิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไปแล้ว”

จำหน่ายในราคากระปุกละ 35 บาท

ขั้นตอนการแปรรูป “ข้าวเกรียบหอยเชอรี่สีทอง”

คุณศิริวัฒน์ อธิบายว่า การแปรรูปข้าวเกรียบไม่ได้มีวิธีที่ซับซ้อน แต่ในบางขั้นตอนอาจจะต้องอาศัยประสบการณ์ความชำนาญ และการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการทุ่นแรง เพราะถ้าหากใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันความต้องการของลูกค้าที่มีออเดอร์เข้ามาในแต่ละวันเป็นจำนวนไม่น้อย

ตากแดดจนแห้ง ถ้าแดดจัดใช้เวลาประมาณ 1 วัน
นำก้อนแป้งที่คลึงขึ้นรูปแล้วจัดเรียงอย่าให้ติดกัน นึ่งจนกว่าแป้งจะสุก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

การแปรรูป

  1. คัดเลือกหอยเชอรี่สีทองที่มีอายุตั้งแต่ 2-4 เดือน มาทำให้สุก ด้วยวิธีการนึ่งหรือต้มก็ได้ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที (โดยหอยเชอรี่ที่นำมาแปรรูปจะเป็นหอยที่เลี้ยงเองส่วนหนึ่ง และเป็นหอยที่รับซื้อมาจากเกษตรกรในชุมชนอีกส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างเงินให้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง)
  2. นำหอยเชอรี่ที่ผ่านการนึ่งหรือต้มแล้วมาแกะเอาเฉพาะส่วนเนื้อไปล้างทำความสะอาด
  3. จากนั้นนำส่วนเนื้อของหอยเชอรี่ไปเข้าเครื่องปั่นให้ละเอียด
  4. นำส่วนของเนื้อหอยเชอรี่ที่ปั่นละเอียดแล้วไปผสมกับแป้งและเครื่องปรุงต่างๆ ตามสูตรเฉพาะของแต่ละที่ (สูตรของที่นี่จะไม่มีการใส่สีผสมอาหาร สีที่ลูกค้าเห็นคือสีที่มาจากธรรมชาติล้วนๆ)
  5. คนส่วนผสมให้เข้าจนเนียนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำมาปั้นขึ้นรูป ให้มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก
  6. นำก้อนแป้งที่คลึงขึ้นรูปแล้วจัดเรียง อย่าให้ติดกัน แล้วนึ่งจนกว่าแป้งจะสุก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
  7. ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำไปแช่ตู้เย็นทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน นำไปเข้าเครื่องหั่นตามขวาง เป็นชิ้นๆ สม่ำเสมอ
  8. นำไปตากแดดจนแห้ง ถ้าแดดจัดใช้เวลาประมาณ 1 วัน (ขั้นตอนตรงนี้จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ในการสังเกตสักหน่อย)
  9. เตรียมแพ็กใส่ถุงส่งลูกค้ามีทั้งแบบแผ่นสด และแบบทอดแล้วพร้อมกิน บรรจุในแพ็กเกจจิ้งสวยงาม กินไม่หมดสามารถเก็บไว้กินต่อได้
กระบวนการผลิต สะอาด ปลอดภัย
ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบปูนา กระปุกละ 35 บาท

นับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหลายคนมองว่าการแปรรูปทำข้าวเกรียบได้รายได้น้อย แต่ถ้าหากได้ลองลงมือทำและคลุกคลีอยู่กับตรงนี้ความคิดจะเปลี่ยนไปทันที หรืออธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ หอยเชอรี่จำนวน 1 กิโลกรัม หากขายเป็นหอยสดจะได้กิโลกรัมละ 60-70 บาท แต่พอนำมาแปรรูปทำข้าวเกรียบมูลค่าของหอยเพิ่มขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 200-300 บาท หรือถ้าเป็นในส่วนของข้าวเกรียบสมุนไพรก็ยิ่งมีกำไรเพิ่มขึ้นเพราะผักที่นำมาแปรรูปส่วนใหญ่เป็นผักที่คนในชุมชนปลูกกันเองได้เรื่องของความปลอดภัย และในแง่ของการสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุในชุมชน ที่ออกไปทำงานรับจ้างไม่ไหว งานตรงนี้ก็สามารถช่วยรองรับได้ในส่วนหนึ่ง

ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบหอยสีทองพร้อมกิน
สีสันจากธรรมชาติล้วนๆ โดยไม่ผ่านการปรุงแต่ง
วัตถุดิบหลักในการทำข้าวเกรียบสมุนไพร ฟักทอง มันม่วง กล้วยน้ำว้า และใบเตย

ผลิตได้ขายดี เน้นทำตลาดออนไลน์เป็นหลัก

คุณศิริวัฒน์ บอกว่า ตอนนี้เน้นทำตลาดออนไลน์เป็นหลัก ผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊ก วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านบะยาว จังหวัดขอนแก่น และช่องทาง Tik Tok ที่กำลังไปได้สวย สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 50,000-80,000 บาท เป็นรายได้ที่เยอะพอสมควรสำหรับการทำเกษตร

ใช้เครื่องหั่นตามขวาง เป็นชิ้นๆ สม่ำเสมอ

“ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อแผ่นสดครั้งละหลายกิโลแล้วเอาไปทอดขาย รวมถึงลูกค้าประจำรายเล็กรายน้อยที่สั่งเข้ามาไปทอดกินเอง รวมถึงซื้อแบบสำเร็จรูปพร้อมกิน ในราคากระปุกละ 35 บาท 3 กระปุก 100 เรามีออเดอร์เข้ามาทุกวัน ซึ่งผมพอใจกับตรงนี้มาก เพราะเมื่อหักลบต้นทุนออกแล้ว ยังมีกำไรให้เห็นเป็นที่น่าพอใจ จนทำให้มีแผนว่าในอนาคตอยากเปิดโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากตอนนี้ออเดอร์ล้น ผลิตไม่ทัน ด้วยจุดแข็งที่เรามีคือการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีความสม่ำเสมอ รวมถึงการตลาดที่เข้มแข็ง เพราะตอนนี้การตลาดของเรานำการผลิตอยู่ ซึ่งถ้าหากท่านใดสนใจและอยากทำให้ได้แบบนี้ ก็ต้องแนะนำว่าก่อนอื่นต้องให้มองศักยภาพของตนเองประกอบด้วย บางคนอาจจะถนัดไม่เหมือนกัน อย่างผมมีเกษตรกรหลายคนที่เข้ามาขอคำปรึกษา อยากขายดีแบบนี้บ้าง ผมก็แนะนำไปว่าการตลาดสำคัญมาก กับอีกข้อคือให้เน้นทำเกษตรผสมผสาน ที่มาพร้อมกับคุณภาพและความปลอดภัย อาจจะไม่จำเป็นต้องทำไปถึงเกษตรอินทรีย์ ให้ทำเป็นเกษตร GAP เริ่มต้นไปก่อนประเทศไทยก็รับได้แล้ว ซึ่งมาตรฐานตรงนี้ก็จะไปช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่าสิ่งที่เขากินเข้าไปมีความปลอดภัย เมื่อเขารู้สึกปลอดภัย สินค้าเราก็ขายได้ดีมากขึ้น ด้วยทัศนคติที่ผมมีแบบนี้ทำให้การประกอบอาชีพเกษตรของผมเป็นอาชีพที่มั่นคงได้” คุณศิริวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

แกะเอาเฉพาะส่วนเนื้อสำหรับนำไปแปรรูป
ทำให้สุก ด้วยวิธีการนึ่งหรือต้มก็ได้ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
คนส่วนผสมให้เข้าจนเนียนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำมาปั้นขึ้นรูป ให้มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก
ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบปูนา กระปุกละ 35 บาท

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 063-015-5106 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านบะยาว จังหวัดขอนแก่น

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 11 ธ.ค. 2022