บาติก “ลายขอ” ลายพระราชทาน วิสาหกิจชุมชนบาติกบ้านโต๊ะเมือง แห่งแรกในตรัง

คุณสุภร พรมจิตร์ หรือ พี่สุ เล่าให้เราฟังว่า ชุมชนชาวบ้านโต๊ะเมืองเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีประกอบอาชีพทางการเกษตรคือการทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีราคายางพาราตกต่ำ และได้มีการร่วมกันหาแนวทางตอนนั้นมีสมาชิกในกลุ่มคนหนึ่งเห็นการทำผ้าบาติกจากที่อื่น จึงเกิดความสนใจและกลับมาพูดคุยกันของสมาชิกว่ามีความสนใจและความต้องการที่จะดำเนินการในการทำผ้าบาติกเพื่อพัฒนาอาชีพนอกจากการทำสวนยางซึ่งยังมีเวลาในช่วงบ่ายที่จะสามารถหาอาชีพเสริมได้ โดย กศน.อำเภอกันตังได้จัดหาบุคลากรเพื่อมาสอนการทำผ้าบาติกให้กับกลุ่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2546 ในขณะนั้นกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 15 คน ได้เกิดการเรียนรู้ และนำมาผสมผสานด้านภูมิปัญญาของชาวบ้านในการประดิษฐ์ผ้าบาติก จนมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง และจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินกิจกรรมมาจนถึงปัจจุบันและมีการพัฒนาตนเองมาอย่างต่อเนื่อง

“บาติกบ้านโต๊ะเมือง” มาจาก “โต๊ะ” เป็นคำสรรพนามของผู้อาวุโสของชุมชนมุสลิมทางภาคใต้ หมายถึง “ตา หรือ ปู่” ส่วนคำว่า “เมือง” เป็นชื่อบุคคลผู้เป็นต้นบรรพบุรุษของหมู่บ้าน โต๊ะเมือง “บาติก” เป็นชื่อผ้าขาวที่นำมาเขียนลวดลายต่างๆ ด้วยภูมิปัญญา โดยการนำเอาวิถีชีวิต ลักษณะภูมิประเทศหรือสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้มีสีสันสดใส สวยงาม คงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น

ปัจจุบันกลุ่มได้ทำผ้าบาติก “ลายขอ” พี่สุ เล่าว่า ตามดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระกรุณาธิคุณพระราชทานแบบลายผ้าแก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ และสื่อความหมายถึง การส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทยทุกคน และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ทุกสีทุกเทคนิค ตลอดทั้งนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่งเสริมกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส

วิสาหกิจชุมชนบาติกบ้านโต๊ะเมือง ได้น้อมนำ “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” มาผลิตเป็นลายผ้าบาติก ซึ่งทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย ดังนี้

  1. ลาย S หมายถึง Sirivannavari สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
  2. ลาย S จำนวน ๑๐ แถว หมายถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
  3. ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึงความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน = Eternal Love

เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผ้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน

การทำผ้าบาติลายขอ มีขั้นตอนดังนี้

  1. นำผ้าขาวขนาด 2 หลา มาวางบนโต๊ะ (ลายขอที่ได้จะเป็นสีขาว ถ้าต้องการสีอื่นให้ย้อมสีที่ต้องการก่อน)
  2. นำเทียนต้มให้เดือดหลอมละลายให้เหลว
  3. ใช้บล็อกลายขอที่ทำจากไม้แกะสลักลายขอ ลงไปจุ่มลงในเทียนที่เดือดได้ที่ ยกและสะบัดบล็อกไม้เบาๆ เพื่อให้เทียนหยดออก ปริมาณเทียนไม่มากจนเกินไป นำไปวางบนผ้ากดลงเบาๆ แล้วยกขึ้น ทำซ้ำจนเต็มแถว ตรวจสอบลายเส้นเทียนให้สมบูรณ์
  4. นำผ้าที่ลงเทียนหมดเสร็จแล้ว นำไปย้อมสีบาติก (สีที่ได้จะเป็นสีของพื้นผ้า) นำขึ้นไปผึ่งลมจนแห้งสนิท
  5. นำซิลิเกตมาเคลือบบนผืนผ้า เพื่อรักษาสีให้คงทน ทิ้งไว้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง
  6. นำผ้ามาล้างด้วยน้ำสะอาดจนซิลิเกตหมด
  7. นำผ้าไปต้มหรือลวกด้วยน้ำเดือดจนเทียนหลุดออกจากผ้าบาติกจนหมด
  8. ซักผ้าบาติกด้วยสบู่หรือผงซักฟอกสูตรอ่อนโยน ล้างด้วยน้ำสะอาด นำไปผึ่งไว้ในที่ร่มจนแห้ง
  9. นำผ้าบาติกมารีดให้เรียบ พร้อมจำหน่าย

พี่สุ ยังบอกอีกว่า ตอนนี้ผาบาติกลายขอมีผลการตอบรับดีมาก มีการสั่งจองจากองค์กรต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้สมาชิกกลุ่มมีงานทำและสามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวเดือนละ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน

สนใจผลิตภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ วิสาหกิจชุมชนบาติกบ้านโต๊ะเมือง คุณสุภร พรมจิตร์ ประธานกลุ่ม ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลบางหมาก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โทร. 089-0390-5925 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง โทร. 075-251-742