กยท. มั่นใจไทยพร้อมเป็นแหล่งวัตถุดิบพลังงานชีวมวลของโลก ขานรับมาตรการโค่น 400,000 ไร่/ปี

การยางแห่งประเทศไทย มั่นใจไทยพร้อมเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบไม้คุณภาพดีเข้าสู่โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลของโลก ขานรับมาตรการควบคุมผลผลิตโค่น 400,000 ไร่ต่อปี ย้ำ เกษตรกรต้องเดินตามหลักเกณฑ์การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรฐาน FSC ส่งผลราคาไม้ยางขยับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นอีกหนึ่งทางสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรชาวสวนยาง

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 การยางแห่งประเทศไทย โดยนายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของ กยท. ให้การต้อนรับผู้แทนจากบริษัท สยามฟอเรสแมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท  Idemitsu Kosan Co.,Ltd เพื่อหารือร่วมกันในเรื่องการดำเนินการจัดหาวัตถุดิบไม้ยางพารา เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานผลิต Black Pellet ซึ่งจะดำเนินการในประเทศไทย โดยจะเปิดในช่วงกลางปี 2561 นี้ เพื่อผลิตพลังงานชีวมวลสำหรับใช้ในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น ทดแทนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังจะปิดตัวลงในไม่ช้านี้

นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ กล่าวว่า บริษัท สยามฟอเรสแมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท  Idemitsu Kosan Co.,Ltd  ได้ให้ความสนใจในการลงทุนสร้างโรงงานเพื่อนำวัตถุดิบไม้ในประเทศไทยไปผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล หรือ Black Pellet เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น นับเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ตลาดการส่งออกพลังงานชีวมวล ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีความต้องการใช้ไม้เป็นจำนวนมาก

ไม้ยางพารา

โดยประเทศไทยถือว่ามีสวนยางมากเป็นอันดับแรกๆ ของโลก ประกอบกับมาตรการควบคุมปริมาณผลผลิต โค่นปีละ 400,000 ไร่ จะทำให้มีปริมาณเศษไม้ที่มาจากปีกไม้ และขี้เลื่อย มากถึง 8 ล้านตัน ซึ่งมากพอที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลหรือ Wood Pellets เพื่อนำไปใช้ในโรงงานผลิตไฟฟ้าทั้งในประเทศไทย และส่งออกวัตถุดิบไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ ซึ่งเบื้องต้น บริษัท Idemitsu Kosan Co.,Ltd  ได้แสดงความต้องการใช้ปีละประมาณ 1.2 ล้านตัน โดยเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะมีวัตถุดิบเพียงพอกับความต้องการแม้จะมีผู้สนใจอีกหลายรายที่มีตวามต้องการวัตถุดิบดังกล่าวเช่นเดียวกัน

นายณรงศักดิ์ ใจสมุทร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญคือไม้ที่จะนำไปผลิตนั้น จะต้องผ่านการคัดกรองในเรื่องคุณภาพที่ต้องได้ตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานแล้ว ซึ่งก็คือต้องเป็นไม้ที่มาจากสวนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน หรือ FSC

ซึ่งในปัจจุบัน กยท. ได้ร่วมกับหน่วยงานจากเอกชน สถาบันเกษตรกร ในการเดินหน้าจัดทำโครงการนี้ โดยนำร่องที่จังหวัดที่มีพื้นที่สวนยางเข้าร่วมโครงการ ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ตรัง นครศรีธรรมราชพัทลุง กระบี่ ภาคตะวันออก ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง และภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย จำนวนทั้งหมดประมาณ 200,000 ไร่ ขณะนี้มีจังหวัดระนอง ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว 1,300 ไร่ และในพื้นที่อื่นๆอยู่ระหว่างการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน FSC ต่อไป

นายกฤษดา กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเป็นผู้นำตลาดหรือแหล่งวัตถุดิบป้อนไม้ จากต้นยางหรือไม้โตเร็วต่างๆ เพื่อเข้าสู่โรงงานผลิตพลังงานชีวมวลนั้น ความมีเสถียรภาพของวัตถุดิบเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณหรือราคาที่จะต้องไม่ปรับตัวผันผวนขึ้นหรือลงมากเกินไปเพราะการดำเนินการจัดหาวัตถุดิบแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวลเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้านั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องวางแผนกันในระยะยาว ให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และราคาที่เหมาะสมกับสภาวะตลาด และนี่เป็นอีกทางหนึ่งที่จะสร้างรายได้ที่ดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางที่พร้อมเดินหน้าเข้าสู่โครงการจัดการสวนอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรฐาน FSC ที่การยางแห่งประเทศไทยผลักดันให้เกิดขึ้น”