“กฤษฎา” เตรียมชงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการยางพาราควบคุมการผลิต-ราคายางพารา

“กฤษฎา”เตรียมชงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการยางพาราควบคุมการผลิต-ราคายางพารา พร้อมเรียก 4 ประเทศ ผู้ผลิตยางหารือแนวทางใหม่เพื่อลดการกรีดยาง

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ขณะนี้เตรียมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการยางพารา เนื่องจากอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ปี 2542 ซึ่งกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูกลไกราคายางพารา

โดยคณะกรรมการฯ จะประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาคราชการ เอกชน และชาวสวนยางพารา และมีอำนาจหน้าที่ในการไปดูต้นทุนยางพารา ดูการผลิตยางว่าราคาใดเหมาะสมกับการรับซื้อ หรือราคาใดเหมาะสมกับการส่งออก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร

“หากสามารถตกลงเรื่องข้อกฎหมายกับกระทรวงพาณิชย์ได้ ก็เตรียมนำเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อที่จะเสนอในที่ประชุม นอกจากแนวทางการหยุดกรีดยาง 3 เดือน ในการประชุม วันที่ 2 มี.ค. 61 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เรียกประเทศผู้ผลิตยางพาราส่งออก อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย มาร่วมหารือซึ่งทุกประเทศตอบรับคำเชิญเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแต่ประเทศอินเดีย ที่ทางกระทรวงเกษตรฯ กำลังส่งเจ้าหน้าที่เชิญมาร่วมหารืออีกประเทศ”

สาเหตุที่เชิญอินเดียมาเข้าร่วม เนื่องจากพบว่าประเทศอินเดียเริ่มส่งออกยางและขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอีกรายหนึ่ง ทั้งนี้ หากทุกประเทศเห็นชอบด้วยกับแนวทางของไทย ก็จะทำให้เกษตรกรทุกประเทศได้รับความเป็นธรรมในการขายสินค้า

สำหรับมาตรการหยุดกรีดยาง ขณะนี้มี 2 แนวทาง ที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังหารือกันอยู่ คือ 1.หยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. 61 และ 2.หยุดกรีดยางทุกไร่ แต่กรีดแบบวันเว้นวัน หรือกรีดยาง 15 วัน หยุดกรีดยาง 15 วัน เพื่อลดปริมาณยางในตลาด ซึ่งขณะนี้กำลังหาแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ระหว่างชะลอการกรียดยางหรือหยุดกรีดยาง

“แนวทางนี้จะต้องไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณ เนื่องจากเราเคยบริหารผิดพลาด ซื้อยางเอามาเก็บ ต้องเสียค่าเก็บ ราคายางก็ลดลง เกิดความเสียหายขาดทุน ทั้งนี้การที่ชะลอการกรีดยางนั้นเป็นการชะลอน้ำยางไว้ที่ต้น ทำให้ภาครัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”

ส่วนเรื่องการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือไปแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.) ทุกจังหวัด สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด ให้ดำเนินตามมติคณะรัฐมตรี วันที่ 12 ธ.ค. 60 เรื่องเร่งรัดการใช้ยางในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา อบจ. หลายแห่งไม่กล้าดำเนินการเพราะติดขัดเรื่องระเบียบอยู่ โดยจากการสอบถามพบว่ามีหลายจังหวัด เริ่มดำเนินการแล้วใช้ยางในการทำถนนแล้ว อาทิ จังหวัดบึงกาฬ และสงขลา ส่วนเรื่องบประมาณกระทรวงมหาดไทยให้อบจ. ใช้งบประมาณได้ 2 ทาง คือ งบสะสมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และงบสำรองจ่าย 25%

“ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่ามีน้อยและไม่เพียงพอนั้น ได้แจ้งว่าสามารถซื้อได้จากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือสถาบันเกษตรกรที่ กยท. รับรอง เพื่อที่จะได้อุดหนุนเกษตรกรโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่ กยท. รับรองกว่า 800 แห่ง กระจายอยู่ กว่า 60 จังหวัด ทั่วประเทศ”

ทั้งนี้เพื่อให้ความต้องการใช้ยางทั้งในและนอกประเทศมีความสมดุลกัน กระทรวงเกษตรฯ และกยท. คำนวณแล้วว่า จะต้องลดปริมาณยางออกสู่ตลาด จากเดิมไทยผลิตอยู่ที่ปีละ 4.5 ล้านตัน เหลือเพียง 3.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่พอเหมาะสม เพราะไทยส่งออกที่ประมาณ 3.8-4 ล้านตัน ต่อปี ดังนั้น หากลดผลผลิตได้้ราคายางก็จะอัพขึ้นจาก 50 บาท ต่อกิโลกรัม (กก.) ไปสู่ราคาเป้าหมาย 80 บาท ต่อกก. ซึ่งไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุน

“ผมไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ว่าราคายางจะขึ้นไปถึง 80 บาท ต่อกก. ที่ตั้งไว้เมื่อไร เพราะจะส่งผลต่อกลไกของตลาด และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่อยากให้เอาเรื่องราคาพืชผลมาใช้หาเสียง หรือสร้างผลงาน ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ จะทำเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกร และมั่นใจว่ามาตรการที่ออกไปอาจจะเห็นผลช้าแต่มีความมั่นคง โดยราคายางจาก 42 บาท ต่อกก. ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ราคา 49 บาท ต่อกก. แล้ว และภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณซื้อยางแม้แต่แผ่นเดียว”