สนค. นำร่อง มะม่วงแก้วขมิ้น ผลไม้เชื่อมโยงสินค้าเกษตรภาคตะวันออก 2 กับกัมพูชาแนวประชารัฐ

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ นำโดย ดร.ธนภัท แสงอรุณ นักวิชาการพาณิชย์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำโดย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าคณะวิจัย ได้จัดประชุมความร่วมมือภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกรภาคตะวันออก 2 คือ ตราด จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ตาม “โครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าและประชารัฐเมืองคู่มิตรเพื่อธุรกิจสู่สากล (Strategic Partnership for Sister Cities)” ณ ห้องประชุมพราวมณี โรงแรมนิวแทรเวลลอร์ด จังหวัดจันทบุรี

 

มะม่วงแก้วขมิ้น

ดร.ธนภัท แสงอรุณ นักวิชาการพาณิชย์สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า เมื่อปี 2559 มีข้อตกลงในเวที CLMV Forum ร่วมกันเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การค้าผลไม้ระหว่างกลุ่มจังหวัดของไทย-เพื่อนบ้านลาว กัมพูชา พม่า ในส่วนของภาคตะวันออก 2 คือ มี จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้วที่มีชายแดนติดกัมพูชา ตาม “โครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าและประชารัฐเมืองคู่มิตรเพื่อธุรกิจสู่สากล (Strategic Partnership for Sister Cities)” มีจุดประสงค์ศึกษารูปแบบการสร้างหุ้นส่วนเศรษฐกิจตามแผนความร่วมมือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างกลุ่มจังหวัดของไทยและเพื่อนบ้านสร้างฐานการผลิตร่วมกันตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ดร.ธนภัท แสงอรุณ

และได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดเลือกผลไม้ของฝั่งกัมพูชา นำร่องในปี 2560-2561 พัฒนาร่วมกันไทย-กัมพูชาในแนวประชารัฐ คือ ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อน ภาครัฐช่วยสนับสนุนทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หากประสบความสำเร็จจะมีการนำผลไม้ชนิดอื่นๆ มาพัฒนาในแนวเดียวกันต่อไป

การเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม มะม่วงแก้วขมิ้น

คิ้กออฟ “มะม่วงแก้วขมิ้น” นำร่อง ต้นแบบ

คาด 4 ปี เพิ่มมูลค่าจาก 23,462 ล้านบาท เป็น 30,501 ล้านบาท   

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักวิชาการหัวหน้าคณะวิจัย โครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าและประชารัฐเมืองคู่มิตรเพื่อธุรกิจสู่สากล (Strategic Partnership for Sister Cities) กล่าวว่า เป้าหมายหลัก คือ การคัดเลือกผลไม้ของประเทศบ้านมาพัฒนาร่วมกันให้ได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายโดยวางแผนและส่งเสริมธุรกิจสินค้าเกษตรเชื่อมโยงไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น

เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่นอกเหนือจากการเติบโตของเขตอุตสาหกรรม การค้าชายแดนหรือการค้าข้ามแดน ท่ามกลางสินค้าที่คล้ายคลึงกันระหว่าง 5 จังหวัดภาคตะวันออก 2 กับเพื่อนบ้านกัมพูชามีผลไม้หลายชนิดที่น่าจับตา

สรุปได้ว่ามะม่วงแก้วขมิ้นของกัมพูชา เป็นผลไม้ที่เหมาะสมนำมาต่อยอดแปรรูปในไทยเพื่อส่งออกต่างประเทศ เป็นการสร้างห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) เพิ่มมูลค่าสินค้า เพราะกัมพูชาเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพจำนวนมาก ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปได้หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการนำเข้าอยู่แล้วและแปรรูปผลิตภัณฑ์จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศกว่า 10 ชนิด

ปี 2560 กัมพูชามีปริมาณผลผลิตแก้วขมิ้น ประมาณ 1.3 ล้านตัน ส่งผลสดมาไทย 30% ประมาณ 388,656 ตัน เวียดนาม 70% ประมาณ 906,864 ตัน โดยเวียดนามส่งต่อไปจีนประมาณ 362,746 ตัน และเกาหลีประมาณ 90,686 ตัน (จีน เกาหลี บริโภคผลสุก) จังหวัดกัมปงสปือทางตะวันตกของพนมเปญเป็นแหล่งปลูกมะม่วงที่สำคัญมีจำนวนมากที่สุดอยู่ถึงร้อยละ 65 พื้นที่ปลูก 243,750 ไร่ ให้ผลผลิตปีละ 600,000-700,000 ตัน การนำเข้ามะม่วงแก้วขมิ้นมายังประเทศไทยทางด้านจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด จังหวัดจันทบุรีประมาณ 90% และประมาณ 70% เป็นการนำเข้าของผู้ประกอบการแปรรูปขนาดใหญ่จังหวัดจันทบุรี ราชบุรี ตราด ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นผู้ประกอบการรายย่อย

“มูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมแก้วขมิ้น ในปี 2560 ประมาณ 23,462 ล้านบาท แยกเป็นส่วนต้นน้ำประมาณ 5,830 ล้านบาท กลางน้ำ 10,882 ล้านบาท และปลายน้ำ 6,750 ล้านบาท คาดว่าอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่การผลิตประมาณ 30,501 ล้านบาท ที่สำคัญต้องขยายตลาดสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลางและสิงคโปร์ และกลุ่มตลาดอเมริกาและยุโรปที่ต้องการสินค้าประเภทออร์แกนิก ซึ่งตลาดในอนาคตจะกำหนดชนิดของผลิตภัณฑ์แปรรูปเอง ทั้งนี้ จันทบุรีจะเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยง ความสำเร็จขึ้นอยู่กับภาคเอกชนกลุ่มภาคตะวันออก 2 ผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัด กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ จากนี้จะสำรวจทำฐานข้อมูลแหล่งผลิตในกัมพูชา ศึกษาการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าระหว่างไทย-กัมพูชาและการอำนวยความสะดวกการนำเข้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

 บิสคลับภาคตะวันออก จันทบุรี

พร้อมทำการค้าเชื่อมโยง พระตะบอง ไพลิน

ดร.ณุกานดา กิติศุภวัฒนา

ทางด้าน ดร.ณุกานดา กิติศุภวัฒนา ประธานเครือข่ายบิสคลับจังหวัดจันทบุรีและภาคตะวันออก กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง (Sister Cities) ซึ่งเป็นผลดีกับท้องถิ่นทั้งไทยและกัมพูชาและเป็นการพัฒนาเกษตรกรรมของไทยไปสู่ 4.0 ในกลุ่มบิสคลับมีเครือข่ายเชื่อมโยงการค้าทุกภาคภายในประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนทำการค้าด้วยกัน ที่ผ่านมามีการทำข้อตกลงกับหอการค้าจังหวัดพระตะบอง ไพลินเป็นคู่ค้าผลไม้กันและมีคู่ค้าผลไม้พันธมิตรภาคเอกชนรายใหญ่ สามารถรวบรวมมะม่วงแก้วขมิ้นจากหลายจังหวัดเข้ามาได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรที่ถูกต้อง บิสคลับจันทบุรีจึงสนใจที่จะเป็นตัวแทนบิสคลับภาคตะวันออก เชื่อมโยงการค้าระหว่างจันทบุรีกับพระตะบอง ไพลินตามโครงการพัฒนาลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง (Sister Cities) ซึ่งกัมพูชาเป็นต้นน้ำแหล่งวัตถุดิบเพื่อนำเข้ามาแปรรูปและส่งออกจำหน่ายตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งบิสคลับภาคตะวันออกมีเครือข่ายเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้บิสคลับภาคตะวันออกได้ลงนามข้อตกลงเชื่อมโยงกับบิสคลับภาคใต้ จังหวัดยะลา ปัตตานี เพื่อจับคู่ทำการค้าแลกเปลี่ยนผลไม้กันโดยช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมบิสคลับจังหวัดจันทบุรีจะส่งสินค้าผลไม้จากภาคตะวันออกไปภาคใต้และสามารถส่งออกไปตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียได้ ซึ่งมะม่วงแก้วขมิ้นที่เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เขาให้ความสนใจมาก และเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จะนำผลไม้จากภาคใต้ส่งออกมาภาคตะวันออกเข้าไปกัมพูชาด้วย

ทางออกยั่งยืนขอพลังภาครัฐ

สนับสนุนการตลาด

คุณบุญเที่ยง พฤกษากิจ

ด้าน คุณบุญเที่ยง พฤกษากิจ ผู้จัดการและเจ้าของบริษัท จันทบุรี ฟรุ๊ต โปรดักส์ จำกัด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า โรงงานแปรรูปในจังหวัดจันทบุรีมีประมาณ 10 กว่าแห่ง เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 3-4 แห่ง หากจะพัฒนาการแปรรูปมะม่วงแก้วขมิ้นจากกัมพูชาไม่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบเพราะทำกันอยู่แล้ว สามารถซื้อจากกัมพูชาได้อย่างสะดวก เพียงแต่ควบคุมคัดคุณภาพให้เป็นมะม่วงที่แก่จัด ปัญหาสำคัญคือตลาดมากกว่า เพราะมีการแข่งขันสูงโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ต้องแข่งขันกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียที่ต้นทุนต่ำกว่า ขณะที่ผลไม้แปรรูปของไทย มีคุณภาพมากกว่า แต่ผู้ส่งออกดัมพ์ราคาแข่งขัน ทางออกเราต้องหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดพรีเมี่ยมที่รักษาสุขภาพ นิยมสินค้าออร์แกนิกจะทำให้ราคาผลิตภัณฑ์แปรรูปสูงขึ้น ต้นน้ำเกษตรกรกัมพูชาผู้ผลิตไม่มีปัญหาเนื่องจากผลิตได้จำนวนมาก และราคาอยู่ในระดับที่รับได้คือสูงสุดกิโลกรัมละ 10-12 บาท และมีช่วงที่ที่ถูกในเดือนมีนาคม-เมษายน กิโลกรัมละ 5-6 บาท ทำให้ต้นทุนไม่สูงนัก สิ่งสำคัญควรพัฒนาและรักษาคุณภาพมากกว่ามาแข่งขันกันทางด้านราคา

ผลิตภัณฑ์แปรรูป

งานวิจัย “โครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าและประชารัฐเมืองคู่มิตรเพื่อธุรกิจสู่สากล (Strategic Partnership for Sister Cities)” ใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างรวดเร็ว คาดว่าผลงานวิจัยในปี 2561 น่าจะนำมาเป็นต้นแบบนำร่องให้เกิดประโยชน์กับผลไม้ไทยชนิดอื่นๆ…สนใจสอบถาม รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช โทร. (081) 929-2889