เชื่อมเครือข่ายตลาดข้าวสหกรณ์ ยกระดับสู่ “ธุรกิจทำนา”

จากปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำโดยช่วงเปิดฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ปี 2559 ชาวนาถูกพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อข้าวเปลือก กข 15 กิโลกรัมละ 5-6.50 บาท หรือประมาณ  5,000-6,500 บาท/ตัน ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากต้นทุนการผลิตข้าวขยับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าเตรียมดิน ค่าปุ๋ย และค่าเก็บเกี่ยวข้าว เป็นต้น ทางรัฐบาลต้องเร่งระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ได้เร่งประสานความร่วมมือขบวนการสหกรณ์กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำด้วย โดยมุ่งเชื่อมโยงเครือข่ายตลาดและเพิ่มช่องทางจำหน่ายข้าวสารคุณภาพของสหกรณ์ เพื่อยกระดับราคาข้าวเปลือกช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาตลาดและราคาข้าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ว่า นอกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์จะดำเนิน “โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร” ปีการผลิต 2559/60 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยรัฐบาลได้จัดสรรสินเชื่อให้สหกรณ์กู้ยืมไปเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อรวบรวมข้าวเปลือกและแปรรูปข้าวผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินรวม 12,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี มีเป้าหมายรวบรวมข้าวเปลือก 2.5 ล้านตัน คาดว่า จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจในระบบสหกรณ์รวมกว่า 20,000 ล้านบาท เกษตรกรสมาชิกได้รับประโยชน์กว่า 1 ล้านคน และสามารถพยุงราคาข้าวเปลือกในพื้นที่ไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

ล่าสุดกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เร่งหารือกับชุมนุมสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียน ชุมนุมสหกรณ์บริการ ชุมนุมสหกรณ์ร้านค้า ชุมนุมสหกรณ์นิคม ชุมนุมสหกรณ์ประมง และชุมนุมสหกรณ์การเกษตร เพื่อเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายตลาดข้าวสารคุณภาพของสหกรณ์เพิ่มขึ้นผ่านระบบสหกรณ์ ทำให้ผู้บริโภคในภาคสหกรณ์สามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากการผลิตสินค้าเกษตรของสหกรณ์ โดยเฉพาะสินค้าข้าวในราคายุติธรรมจากเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง อีกทั้งยังมุ่งให้ขบวนสหกรณ์สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดข้าวได้เองทั้งระบบ เกิดการพึ่งพาและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในขบวนการสหกรณ์ ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

5

ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์จะร่วมมือกับขบวนการสหกรณ์เพิ่มช่องทางการตลาดข้าวสารคุณภาพของสหกรณ์สู่ผู้บริโภคให้สะดวกและทั่วถึงยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรสมาชิก โดยกำหนด 6 กิจกรรม คือ 1. การจัดกิจกรรม “สินค้าสหกรณ์ไทย ร่วมใจช่วยเกษตรกร” 2. ใช้กลไกศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ในการจำหน่ายข้าวสารสหกรณ์ 3. ชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทร่วมมือในการสำรวจความต้องการซื้อข้าวของเกษตรกรสมาชิกและสั่งซื้อข้าวในโครงการ 4. กระจายข้าวหอมมะลิไปยังร้านสวัสดิการของส่วนราชการและเอกชน 5. ส่งเสริมการทำตลาด อี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) ผ่านแอพพลิเคชั่นโคออพ-คลิก (Co-op click) ของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) และ 6. การจัดเทศกาลของขวัญปีใหม่ ประจำปี 2560 มีเป้าหมายยกระดับราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากสมาชิกสหกรณ์ ไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ ชสท. บริหารการรับคำสั่งซื้อและบริหารสต๊อคผ่าน “ศูนย์กลางการค้าสินค้าสหกรณ์” (CITC) ชสท. โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559-เมษายน 2560

3

นอกจากนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้เร่งคัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพ 10 แห่ง จากพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ เชียงใหม่ เชียงราย และบุรีรัมย์ เข้าร่วมโรดโชว์สินค้าข้าวคุณภาพของสหกรณ์ไทยในต่างประเทศด้วย อาทิ จีน ญี่ปุ่น และประเทศในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของข้าวสหกรณ์ไทยแก่ประเทศคู่ค้า โดยมีแผนร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผลักดันส่งออกข้าวสารสหกรณ์ไม่น้อยกว่า 40,000 ตัน คาดว่า เป็นช่องทางที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าว พร้อมสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปข้าวเปลือก และขยายลู่ทางจำหน่ายสินค้าข้าวสารสหกรณ์ไปสู่ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่า ชาวนาในภาคสหกรณ์จะจำหน่ายข้าวเปลือกคุณภาพได้ราคาสูงขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับอาชีพทำนาเป็นธุรกิจทำนาแบบครบวงจร และมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

2

ขณะเดียวกันยังมีแผนส่งเสริมตลาดข้าวสารคุณภาพของสหกรณ์ผ่านศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ (CDC) จังหวัด และศูนย์กระจายสินค้าแม่ข่าย 24 แห่ง และเร่งจัดคาราวานสินค้าสหกรณ์ลงพื้นที่ 640 อำเภอ ทั่วประเทศ โดยจะนำข้าวสารคุณภาพของสหกรณ์ และผลิตภัณฑ์สินค้าอื่นๆ ที่ผลิตภายใต้ขบวนการสหกรณ์ เช่น นม น้ำดื่ม ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาล กุ้ง ปลาหมึก รวมถึงสินค้าอุปโภค-บริโภค ไปจำหน่ายให้ผู้บริโภคในราคายุติธรรม ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559-กุมภาพันธ์ 2560 คาดว่า จะมียอดขายและนำรายได้เข้าสู่ระบบสหกรณ์ไม่น้อยกว่า 80 ล้านบาท และยังช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคได้ค่อนข้างมากด้วย

“อนาคตกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีแผนพัฒนาต่อยอดข้าวเฉพาะถิ่นสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น ข้าวหอมกระดังงา และข้าวพื้นถิ่นอื่นที่มีศักยภาพ โดยจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร โดยไม่ยึดติดการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียวตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” นายวิณะโรจน์ กล่าวในที่สุด