ยกเครื่องอุตฯปาล์มน้ำมัน เร่งออก พ.ร.บ.-ซื้อผลปาล์มตาม % น้ำมัน

ผ่านมา 4 เดือนนับจากกระทรวงพาณิชย์ประกาศยุทธศาสตร์พัฒนาปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 6 ด้าน ระยะเวลา 20 ปี (2559-2579) โดยมุ่งหมายที่จะ 1) เพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันจาก 2.6 ตัน/ไร่เป็น 3.51 ตัน/ไร่

2) การพัฒนาคุณภาพปาล์มให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นจาก 17% เป็น 20% ภายในปี 2579 ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากปีละ 90 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท

โดยความเคลื่อนไหวล่าสุด “นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค” อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้นำคณะลงพื้นที่ จ.กระบี่ เพื่อประชุมหารือร่วมกับเกษตรกรชาวสวนปาล์ม-ผู้แทนผู้ประกอบการลานเท และโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบในพื้นที่ เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือผลผลิตปาล์มน้ำมันในฤดูการผลิตปี 2559/2560 ที่จะออกสู่ตลาดในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2560 จะมีผลผลิตประมาณ 10-10.5 ล้านตัน

ชงซื้อผลปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน

นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ เกษตรกรและอดีตคณะกรรมการน้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ของมาเลเซียอยู่ที่ลิตรละ 25 บาท ราคาผลปาล์มของมาเลเซียอยู่ที่ กก.ละ 5-6 บาท หากเทียบกับราคา CPO ไทย ลิตรละ 30 บาท แต่ราคาผลปาล์ม กก.ละ 5.30 บาท ซึ่งจริง ๆ แล้วราคาผลปาล์มไทยควรจะต้องอยู่ที่ กก.ละ 6.50-7.00 บาท เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้จากต้นทุนที่ปลูก กก.ละ 3.80-4.00 บาท

“มาเลเซียเน้นปลูกและเก็บปาล์มสุกที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงตั้งแต่ 20-23% แต่เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มที่ไทยรับซื้ออยู่ที่ 17% ถึงแม้เกษตรกรจะตัดปาล์มที่มีเปอร์เซ็นต์สูงเกิน 17% ไปส่ง แต่ลานเทและโรงสกัดกลับรวมตัวกันรับซื้อผลปาล์มแบบราคาแบบคละ ไม่แยกเกรด ทำให้ชาวสวนได้ราคาต่ำ ดังนั้น กระทรวงฯ ควรกำหนดให้ผู้ประกอบการรับซื้อผลปาล์มตามระดับเปอร์เซ็นต์น้ำมัน และคำนวณราคาน้ำมันเมล็ดในปาล์มคืนไปให้เกษตรกรเหมือนกับมาเลเซียด้วย และเร่งยกร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันให้เสร็จโดยเร็ว เพราะค้างมาถึง 3 รัฐบาล ใช้เวลานานกว่า 20 ปีแล้ว”

แนะรัฐยึดโมเดลมาเลเซีย

ขณะที่ ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล ประธานกรรมการ บริษัท โกลด์เด้นเทเนอร่า จำกัด ดำเนินธุรกิจผู้พัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่ปลูกปาล์มอันดับ 2 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย มีการตั้งคณะกรรมการปาล์มมาเลเซีย (MPOB) ซึ่งเป็นผู้วางนโยบายว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้าหรือในปี 2563 มาเลเซียจะขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม 100,000 เฮกตาร์/ปี (625,000 ไร่)จากปัจจุบันที่มีพื้นที่ปลูกรวม 35.27 ล้านไร่ และเพิ่มผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยปีละ 5% จาก 3 เป็น 4.1 ตัน/ไร่ และเพิ่มอัตราการสกัดน้ำมัน (OER) จาก 20.49% เป็น 23%

MPOB วางกฎระเบียบว่า หากโรงงานใดไม่สามารถเพิ่มอัตราการสกัดน้ำมันได้ตามเปอร์เซ็นต์มาตรฐานก็ต้อง “ปิดโรงงานไป” ซึ่งจนถึงขณะนี้มีโรงงานจำนวน 294 โรง จากทั้งหมด 436 โรง หรือคิดเป็นสัดส่วน 67.43% ที่ผลิต OER ได้ตามมาตรฐาน นอกจากนี้ยังเรียกเก็บภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) แบบขั้นบันไดตามราคา FOB เช่น CPO ราคาตันละ 2,400 ริงกิต คิดภาษีอัตรา 4.5% ถ้า CPO ขยับขึ้นเป็นตันละ 3,000 ริงกิต ก็จะเสียภาษีอัตรา 6.5% เป็นต้น

ในส่วนของประเทศไทยควรวางแนวทางการพัฒนาแก้ไขระบบการผลิตอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยให้ยั่งยืน ด้วยการปรับใช้แนวทางของมาเลเซีย เริ่มจาก 1) การยกระดับการเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมันให้มีความสุกตามมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มอัตราการสกัดน้ำมันให้ได้ 20-23% โดยรณรงค์ให้ชาวสวนปาล์มตัดปาล์มสุกทำให้ได้ราคาสูงกว่า

2) ควรกำหนดให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลปาล์มสุกตามคุณภาพเปอร์เซ็นต์น้ำมันหีบได้ 20% จากปัจจุบันรับซื้อ 17% และให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ติดป้ายราคารับซื้อ CPO เพื่อใช้เป็นแนวทางกำหนดราคาซื้อผลปาล์ม

3) ปรับสูตรคำนวณราคาปาล์มใหม่ โดยนำรายได้จากจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากส่วนอื่นของปาล์ม เช่น น้ำมันจากกะลา, น้ำมันจากเมล็ดในปาล์ม รวมถึงกากและเค้ก (กากป่น) ที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งเดิมจะเป็น “รายรับ” ของโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบแบบเต็ม 100% กลับคืนให้กับชาวสวนปาล์ม 50% ด้วยการนำมารวมกับราคาผลปาล์มทะลาย เพราะปาล์มทะลายหนึ่ง แบ่งได้เป็นเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากส่วนเส้นใยหุ้มกะลา สัดส่วน 24-30% ผลิต OER ได้ 24-30% เทียบกับเปอร์เซ็นต์เมล็ดในปาล์ม (Kernel) ซึ่งมี 4-15% แต่สกัดได้ถึง 45% และมีราคาจำหน่ายสูงกว่าน้ำมันปาล์มทั่วไป

เพิ่ม OER ลดสูญเสียทางเศรษฐกิจ

ดร.เอนก ชี้ให้เห็นว่า มาเลเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันสูงกว่าไทย 7-8 เท่า แต่หากไทยสามารถเพิ่ม OER ได้สูงถึง 20% จะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ถึง 70,000 ล้านบาท และยังช่วยเพิ่มปริมาณ CPO กลับสู่ระบบได้ 500,000-550,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 15,000-20,000 ล้านบาท เพียงพอกับความต้องการในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรมอาหาร ไบโอดีเซล และโอเลโอเคมิคอล และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร-คนตัดปาล์ม-ลานเท ส่วนโรงสกัดฯมีรายจากส่วนต่างเปอร์เซ็นต์น้ำมันอีก 1-3%

ระยะยาวต้องสร้างระบบการจัดการให้ได้ตามแผนพัฒนาปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และเร่งยกร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันให้คล้ายกับยางพารา ไม่เช่นนั้นชาวสวนปาล์มก็อาจหันไปปลูกพืชอื่น และอุตสาหกรรมนี้จะไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต