ส้มโอท่าข่อย มาตรฐาน GI สายพันธุ์ดั้งเดิมแห่งจังหวัดพิจิตร

ส้มโอ ถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกหนึ่งชนิดของจังหวัดพิจิตร ที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ทำให้มีรายได้สะพัดเข้าประเทศหลายร้อยล้านบาทต่อปี รวมถึงได้รับการตอบรับที่ดีจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณแนวโน้มที่ดีของเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอในพื้นที่จังหวัดพิจิตร

เมื่อพูดถึงส้มโอแห่งจังหวัดพิจิตร หลายๆ ท่านก็จะนึกถึงสวนส้มโอลุงแล ที่การปลูกส้มโอท่าข่อย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่ ได้รับมาตรฐาน GI แถมการันตีรางวัลระดับจังหวัดอีกไม่น้อย ทำให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโออย่างแพร่หลาย

เพราะด้วยรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกับส้มโอสายพันธุ์อื่นที่มีในประเทศไทย ทั้งรสชาติหวานอมเปรี้ยว ผลทรงกลม ผิวเมื่อแก่ติดอมเหลืองนิดๆ เนื้อสีอมชมพู ไม่มีเมล็ด โดยทั่วไปจะมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดในช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ถูกบันทึกอยู่ในคำขวัญ จังหวัดพิจิตร คือ เมืองชาละวัน แข่งขันเรือยาว ข้าวเจ้าอร่อย ส้มท่าข่อยรสเด็ด หลวงพ่อเพชรรวมใจ บึงสีไฟลือเลื่อง ยอดพระเครื่องหลวงพ่อเงิน หากใครได้ลิ้มลอง รับรองต้องติดใจ

คุณแล โพธิ์วัด หรือ ลุงแล เจ้าของสวนส้มโอลุงแล

เทคโนโลยีชาวบ้านจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ คุณแล โพธิ์วัด ที่หลายท่านเรียกจนชินปากว่า “ลุงแล” เจ้าของสวนส้มโอลุงแล ในพื้นที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ที่ยึดอาชีพการทำเกษตรมานานกว่า 20 ปี โดยปลูกส้มโอในพื้นที่ 40 ไร่ มีส้มโอมากกว่า 2,000 ต้น ทั้งสายพันธุ์ท่าข่อย สายพันธุ์ขาวแตงกวา และสายพันธุ์สวนทองดี

จากอดีตชาวนา สู่เจ้าของสวนส้มโอลุงแล

หากเล่าย้อนถึงอดีตของลุงแลของการปลูกส้มโอ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หลังจากได้รับผืนดินซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากทางครอบครัว จึงหักเหอาชีพจากชาวนาในพื้นที่ตำบลไผ่ท่าโพ มาเป็นชาวสวนปลูกส้มโอแบบครบวงจรและเต็มรูปแบบในพื้นที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง เพราะมองในเรื่องของรายได้ที่มั่นคงจากการทำสวนส้มโอนั่นเอง

“เดิมทีลุงแลเป็นชาวนา ทำนาปลูกข้าวอยู่อีกตำบลไผ่ท่าโพ ทำนาอย่างเดียว แต่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่ปลูกนาข้าวทุกปี ทำนาได้แค่ 2 ฤดู และมักจะเจอกับปัญหาน้ำท่วมประมาณ 3 เดือนเต็มใน 1 ปี พอได้รับพื้นที่มรดกจากทางครอบครัว อยู่ในพื้นที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จึงปรับเปลี่ยนมาทำสวนแบบจริงจัง เพราะว่าดินพื้นที่ในสมัยก่อนจะเรียกว่าดินน้ำไหลทรายมูล คือจะมีแม่น้ำสายเก่าแก่ของจังหวัดพิจิตรคู่กับคลองชลประทาน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงมองในเรื่องของการทำสวนที่มีรายได้ดีกว่าการทำนา ปลูกส้มโอมา 20 กว่าปี ในพื้นที่ 40 ไร่ ไร่ละ 50 ต้น”

ดอกของส้มโอท่าข่อย
ต้นส้มโอท่าข่อย

ปลูกส้มโอฉบับลุงแล เน้นปลูกพื้นที่ที่เหมาะสม

หากสอบถามเทคนิคการปลูกส้มโอในแบบฉบับของลุงแล คงไม่มีวิธีที่แน่นอนและตายตัว เพียงปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยพื้นที่ภายในสวนจะมีทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำและดอนน้ำ จึงเน้นการปลูกส้มโอแบบผสมผสานสลับกันไป ด้วยการปลูกแบบไถยกร่อง ร่องเดี่ยวและร่องคู่เพียงเท่านั้น

“การปลูกส้มโอในสวนจะไม่มีเทคนิคเฉพาะ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละสวนจะมีวิธีการปลูกอย่างไร เพราะด้วยพื้นที่ของแต่ละสวนที่ไม่เหมือนกัน พื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ดอนน้ำ อย่างในสวนลุงแลจะมีการปลูกสลับกัน คือในพื้นที่ 40 ไร่ จะมีวิธีการปลูกที่ไม่เหมือนกัน บางพื้นที่เป็นพื้นที่ดอน จะเป็นการไถยกร่อง พื้นที่ที่ช่วงหน้าฝนจะมีน้ำขัง จะเป็นการขุดร่องปลูกเดี่ยวคล้ายกับแถบจังหวัดนครปฐม ซึ่งจะมีการปลูกหลากหลาย ทั้งการไถยกร่อง ปลูกร่องเดี่ยว ร่องคู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีในช่วงของการเก็บเกี่ยว หากเป็นร่องเดี่ยว ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะเก็บยากหน่อย แต่จะไม่มีปัญหาเรื่องโรคหรือการดูแล”

ผลส้มโอลูกโต
เนื้อด้านในส้มโอท่าข่อย

ส่วนโรคที่ควรเฝ้าระวังและอย่าให้เกิดขึ้นเด็ดขาดคือ โรคแคงเกอร์เป็นโรคที่สำคัญของพืชตระกูลส้มที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับแหล่งปลูกพืชตระกูลส้มทั่วโลก สามารถระบาดเข้าทำลายพืชตระกูลส้มได้เกือบทุกชนิด เมื่อเป็นในช่วงระยะแรกของการเจริญเติบโตของผลส้มจะทำให้ผลส้มแตกหรือร่วงตั้งแต่เล็ก ถ้าเข้าทำลายในระยะเมื่อผลส้มเจริญเติบโตแล้ว จะทำให้ผลส้มเป็นแผลจุดกระจายทั่วผิว ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด สามารถแพร่กระจายโดยติดไปกับผลและกิ่งพันธุ์พืชตระกูลส้ม โดยเฉพาะกิ่งพันธุ์ ถ้ามีโรคนี้ติดไปจะทำให้เกิดการระบาดไปยังต้นอื่นๆ ต่อไปได้

ในส่วนของผลผลิตที่ได้ ลุงแล บอกต่ออีกว่า ภายในสวนจะไม่ได้มีการปลูกส้มโอเพียงอย่างเดียว จะมีการปลูกผลไม้ชนิดอื่นแซมภายในสวน เน้นการทำสวนแบบมีรายได้หมุนเวียนตลอดปี เมื่อถึงช่วงที่ส้มโอออกผลผลิตจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเพื่อนำไปขายส่งทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับส้มโอท่าข่อย แห่งสวนส้มโอลุงแล สามารถติดต่อสอบถาม คุณแล โพธิ์วัด เจ้าของสวนส้มโอลุงแล ในพื้นที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร หรือติดต่อสอบถามทางเบอร์โทรศัพท์ 095-348-0758 ลุงแลยินดีให้คำแนะนำทุกท่านที่สนใจค่ะ