ด้วยพระบารมี ผืนดินไทย จึงเหมาะต่อการเกษตร

ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรดิน และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สนับสนุนการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในประเทศและนานาประเทศ ถึงพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบริหารทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน โดยทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรดิน ทรงเป็นผู้นำและปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขปัญหาดิน การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

ทรัพยากรดิน ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิตทางการเกษตร ซึ่งถือได้ว่ามีความสำคัญต่อเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย การที่ทรัพยากรดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีการอนุรักษ์ ขาดการปรับปรุงบำรุงดิน หรือการดูแลรักษา นับเป็นอีกหนึ่งความทุกข์ยากให้กับเกษตรกรมากมายขึ้น

ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในทุกๆ ภาคของประเทศอย่างสม่ำเสมอ ทรงรับทราบความเดือดร้อนของราษฎรในแต่ละพื้นที่ จากปัญหาทางด้านศักยภาพของทรัพยากรดินในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องมาจากความเสื่อมโทรมของดิน เช่น พื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน พื้นที่ดินทรายจัด พื้นที่ดินดาน และพื้นที่ดินพรุในภาคใต้ตอนล่าง

พระองค์ ทรงศึกษาถึงที่มาของสาเหตุและปัญหาวิธีการแก้ไขในรูปแบบต่างๆ ให้แก่เกษตรกร ทั้งปัญหาที่มาจากสาเหตุธรรมชาติและปัญหาที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเกษตรกรเอง จนเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างมากมาย ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยแนวพระราชดำริที่ทรงมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานในโอกาสต่างๆ นั้น ได้ถูกนำไปขยายผลในการปฏิบัติจนเกิดประโยชน์ในการพัฒนาที่ดินให้แก่ราษฎรอย่างทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศไทย

กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2506 นับเป็นหนึ่งหน่วยงานที่ได้ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทด้านการพัฒนา ในโครงการสำคัญต่างๆ ตามพระราชดำริ

กรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานภายใต้โครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรมและฟื้นฟูทรัพยากรดิน การพัฒนาที่ดิน การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในหลายรูปแบบ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินทำการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ทั้งนี้ จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมพัฒนาที่ดิน ดูแลรับผิดชอบอยู่ 150 กว่าโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 49 จังหวัด

img_6663

อีกทั้งได้มีการนำผลสำเร็จของโครงการพระราชดำริมาขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่โครงการและใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการเผยแพร่ความรู้ผ่านเครือข่ายหมอดินอาสาที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรได้พัฒนาอาชีพทางการเกษตร มีที่ดินทำกินได้อย่างปกติสุข ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างยั่งยืนสืบไป

ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้เข้าไปดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงานนั้นต่างประสบผลสำเร็จ สามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน อาทิ การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว โดยทฤษฎีแกล้งดิน ในพื้นที่ บ้านโคกอิฐ-โคกใน ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ได้ดำเนินการฟื้นฟูที่ดินจนสามารถเพิ่มผลผลิตข้าว จาก 5-10 ถัง ต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 40-50 ถัง ต่อไร่ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

การแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม ในพื้นที่โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจากเดิมพื้นที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินตื้น เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายและปนกรวด มีชั้นดานแข็งอยู่ข้างล่าง ทำให้เพาะปลูกพืชไม่ได้ กรมได้น้อมนำแนวพระราชดำริเข้าไปดำเนินการวางแผน และจัดระบบปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ พร้อมทั้งปรับปรุงบำรุงดินร่วมกับการปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำให้ดินกลับมามีความชุ่มชื้น สามารถเพาะปลูกพืชได้หลายชนิด

สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่กรมพัฒนาที่ดินรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักมีอยู่ 2 ศูนย์ คือศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ค่อนข้างจะเห็นภาพชัดเจน เดิมพื้นที่ดังกล่าวได้มีการใช้ประโยชน์จากป่าไม้จนหมดไปแล้ว พื้นที่มีสภาพเสื่อมโทรม เป็นดินทราย ขาดความอุดมสมบูรณ์ กรมการพัฒนาที่ดินได้สนองพระราชดำริ โดยการบริหารจัดการทรัพยากรดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท ตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อปี พ.ศ. 2522 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับ

แห่งที่ 2 ศูนย์ศึกษาการพัฒนา พิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส ที่นี่ดูแลในเรื่องพื้นที่พรุ โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ เขตสงวน เขตอนุรักษ์ที่จะฟื้นฟู และเขตพัฒนา ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ได้ สำหรับปัญหาของที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องดินเปรี้ยว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยที่จะแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวบริเวณขอบพรุให้ได้ เพื่อชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชชนิดต่างๆ ได้ ทางโครงการจึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ จัดทำโครงการ “แกล้งดิน” ด้วยการขังน้ำในพื้นที่ เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ให้ปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเปรี้ยวจัด จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงฟื้นฟูดิน เช่น ฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนดินมีสภาพดีพอที่จะทำการเพาะปลูกได้

img_0734

ในขณะที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอื่นๆ เช่น โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี กรมพัฒนาที่ดิน จะทำหน้าที่ดูแลเรื่องดิน ปัจจัยพื้นฐานทางด้านการเกษตร จะต้องปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีโครงสร้างที่ดี จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก และการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่ง พด. ต่างๆ ในการรักษาสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน

…นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างล้นพ้น จนสร้างความอยู่ดีมีสุขแก่ทวยราษฎร์ และได้รับสมญานามว่า ธ ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ที่มิใช่เพียงขจรไปทั่วแผ่นดินไทย แต่ยังเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลกอีกด้วย