หญ้าแฝก พืชจากพระราชดำริ… กำแพงมีชีวิต ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ และปรับปรุงสภาพแวดล้อม

              ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม สืบเนื่องกันมาช้านานหลายร้อยปี ดังมีคำกล่าวในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมัยสุโขทัยว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

แต่ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมลดลง เพราะภาคธุรกิจขยายตัว จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดแรงกดดันขยายพื้นที่เกษตรกรรมสู่พื้นที่สูง จึงมีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ประกอบการใช้ที่ดินเพาะปลูกกันมานานโดยมิได้มีการดูแลบำรุงรักษา จึงเกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินต่อเนื่องกันมาจนถึงขั้นวิกฤตในพื้นที่ของประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 134 ล้านไร่ ทำให้พื้นที่เสื่อมโทรมและเกิดความแห้งแล้งทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงอันตรายร้ายแรงและห่วงใยในความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติที่ผันแปรเสื่อมโทรม เกิดภัยธรรมชาตินำความเดือดร้อนมาสู่อาณาประชาราษฎร์ เกษตรกรยากจนประกอบอาชีพไม่ได้ผล ด้วยน้ำพระราชหฤทัยเมตตาห่วงใยในทุกข์สุขของพสกนิกร และพระราชปณิธานที่ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขทวยราษฎร์ จึงทรงอุตสาหะคิดค้นหาวิธีแก้ปัญหาด้านดินและน้ำ โดยเฉพาะเรื่องของการอนุรักษ์ดินและน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยมานานนับตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ประจักษ์ได้ชัดเจนในกระแสพระราชดำรัสซึ่งพระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2512 ขออัญเชิญมาคือ

              “อาจมีบางคนเข้าใจ ทำไมสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่งซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์เรื่องการอนุรักษ์ดินแล้วให้เขียนว่า ภูเขาต้องมีป่าไม้ อย่างนั้นเม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้เรื่องการอนุรักษ์ดินและเป็นหลักของชลประทานที่ว่าถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบนจะทำให้เดือดร้อนตลอด ตั้งแต่ดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำทำให้น้ำท่วม นี่น่ะ เรียนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ…”

ด้วยอัจฉริยภาพในพระปรีชาญาณอันล้ำเลิศ และด้วยสายพระเนตรยาวไกลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้ส่วนราชการดำเนินการศึกษาและทดลองพบว่า “หญ้าแฝก” สามารถใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยชะลอและสกัดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ทั้งยังเป็นพืชที่ช่วยรักษาสภาวะแวดล้อม ใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ได้อีกหลายประการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการชะล้างพังทลายของหน้าดินเป็นครั้งแรกกับ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2534 สรุปประเด็นสำคัญว่า

หญ้าแฝก เป็นพืชที่มีระบบรากลักษณะแตกต่างจากรากของหญ้าอื่นๆ ซึ่งหญ้าทั่วไปมีรากที่เป็นลักษณะรากฝอย แตกออกจากส่วนลำต้นใต้ดินกระจายออกแผ่กว้าง เพื่อยึดพื้นดินตามแนวนอน มีระบบรากในแนวดิ่ง ไม่ลึกมาก แต่สำหรับรากของหญ้าแฝก จะมีลักษณะพิเศษโดยรากจะสานพันกันและกันอย่างหนาแน่น ทำให้เกิดเป็นลักษณะร่างแหหรือผ้าม่าน หยั่งลึกแนวดิ่งลงในดิน ไม่แผ่ขนาน มีรากแกน รากแขนง โดยเฉพาะมีรากฝอยแนวดิ่งจำนวนมาก เป็นแผงเหมือนกำแพง ลำต้นเป็นกอแน่น ช่วยดักเศษใบไม้และกรองตะกอนดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน โดยรากของหญ้าแฝกจะอุ้มน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชื้นให้กับดิน เป็นตัวกักเก็บไนโตรเจน และกำจัดสิ่งเป็นพิษหรือสารเคมีอื่นๆ ไม่ให้ไหลลงไปยังแม่น้ำ ลำคลอง

นอกจากนี้ หญ้าแฝก ยังนำไปใช้ประโยชน์ในด้านทำเป็นสินค้าหัตถกรรม อาหารสัตว์ ทำหลังคาบ้าน วัสดุเพาะเห็ดฟาง ปุ๋ยหมัก และสิ่งทอ ในบางประเทศยังใช้หญ้าแฝกเป็นรั้วป้องกันไฟ ป้องกันสัตว์บางชนิด และเป็นไม้ประดับ หญ้าแฝกจึงกลายเป็น “หญ้ามหัศจรรย์” ที่มีคุณค่ามหาศาลต่อผืนแผ่นดินของประเทศ

จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แสดงพระปรีชาสามารถในแง่ “นักวิทยาศาสตร์” ได้เป็นอย่างดี ทรงเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และทรงได้รับการถวายการเทิดพระเกียรติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลจากต่างประเทศ เช่น ในปี พ.ศ. 2531 มูลนิธิรามอนแมกไซไซ แห่งประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับนานาประเทศในด้านการเชิดชูยกย่องบุคคลที่สร้างสรรค์ความดีให้แก่สังคม ได้มอบรางวัลแก่โครงการหลวง อันเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2531 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการให้เกิดการดูแลรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของโลก ได้จัดทำหนังสือ เรื่อง Sustainable Development of Natural Resources : A Study of the Concepts and Application of His Majesty the King of Thailand เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ผลงานด้านการพัฒนา และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 องค์กร IECA หรือ International Erosion Control Association ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสากล ดำเนินการการสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์และป้องกันการพังทลายของดิน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล International Erosion Control Association’s International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการอนุรักษ์ดินและส่งเสริมสภาพแวดล้อมโดยการใช้หญ้าแฝก เป็นต้น

กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานสำคัญ มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ ได้ดำเนินงานรับสนองพระราชดำริ โดยกำหนดมาตรการใช้หญ้าแฝกป้องกันและแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญและดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ นายสิมา โมรากุล อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ให้ข้อมูลว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ผลิตและขยายพันธุ์หญ้าแฝก ซึ่งคัดเลือกแล้ว 10 สายพันธุ์ ด้วยกัน เพื่อใช้ในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ต่างๆ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ประเภทแรกคือ หญ้าแฝกดอน ได้แก่ กลุ่มพันธุ์เลย พันธุ์นครสวรรค์ พันธุ์กำแพงเพชร 1 พันธุ์ร้อยเอ็ด พันธุ์ราชบุรี พันธุ์ประจวบคีรีขันธ์ ประเภทที่สอง เป็นหญ้าแฝกหอม หรือแฝกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพันธุ์ศรีลังกา พันธุ์กำแพงเพชร 2 พันธุ์สุราษฎร์ธานี พันธุ์สงขลา 3 ภายหลังเกษตรกรปลูกแล้วสามารถนำกลับมาขายเป็นรายได้ โดยประสานกับหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อทางกรมพัฒนาที่ดินจะได้นำส่งเสริมกับเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป

นอกจากนี้ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน การออกแบบสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก หรือถนนของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ก็จะมีการนำหญ้าแฝกมาปลูกบริเวณต่างๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งผู้รับเหมาดำเนินการจะต้องรับซื้อพันธุ์หญ้าแฝกเพื่อใช้ปลูกตามที่หน่วยงานกำหนด โดยพันธุ์หญ้าแฝกต้องเป็นพันธุ์ที่กรมพัฒนาที่ดินแนะนำเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อระวังการนำเอาหญ้าแฝกเถื่อนและหญ้าคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายหญ้าแฝกมาปลูก จะทำให้เป็นอันตราย มีการแพร่กระจายเป็นวัชพืชได้รวดเร็ว