ผู้เขียน | ธงชัย พุ่มพวง |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบัน เรื่องของสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจและให้ความร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง หนึ่งในสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมคือ การกำจัดขยะอินทรีย์ต่างๆ เช่น เศษอาหาร เศษผักและผลไม้ เป็นต้น หากกำจัดไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น มลพิษทางน้ำและกลิ่น ปัญหาขยะล้นเมือง แหล่งเพาะเชื้อโรค แมลง ที่ส่งผลต่อมวลมนุษย์ วิธีการหนึ่งในการกำจัดขยะอินทรีย์คือ การใช้ไส้เดือนดินเพื่อกำจัดขยะ ในทางตรงแล้ว ยังทำให้เกิดประโยชน์ด้านการเกษตรหลายชนิด ได้เป็นปุ๋ยไส้เดือนดิน และปุ๋ยน้ำหมักไส้เดือนดิน
ครูพิศมัย ลิ้มสมวงศ์ อดีตข้าราชการครู โรงเรียนบ้านแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า หลังจากจบการศึกษาด้านการเกษตรที่โรงเรียนเกษตรกรรมพิษณุโลก หรือเกษตรบ้านกร่าง รุ่นที่ 8 ได้สอบบรรจุเป็นครูสอนในจังหวัดพิษณุโลกหลายปี ล่าสุดย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้าน แม่โจ้ ที่เป็นถิ่นกำเนิดของตนเอง ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา
ในฐานะที่เป็นครูเกษตรจึงได้รับการคัดเลือกให้เข้าอบรมเรื่องการเลี้ยงไส้เดือนดิน ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากนั้นจึงสร้างเรือนโรงเลี้ยงไส้เดือนดินขนาดเล็กๆ ภายในโรงเรียน สอนเด็กนักเรียนตั้งแต่การเลี้ยงไส้เดือนดินในถังน้ำสีดำ เลี้ยงในลิ้นชักพลาสติก แบบ 4 ชั้น จนเด็กนักเรียนสามารถนำไปปฏิบัติและใช้ที่บ้านของตนเองได้
ในปี 2558 ครูพิศมัย เกษียณอายุราชการ จึงเริ่มเลี้ยงไส้เดือนบริเวณบ้าน และจัดเป็นศูนย์เรียนรู้ไส้เดือนดินสำหรับนักเรียนและเกษตรกรทั่วไป เนื่องจากบ้านและโรงเรียนที่เคยสอนนั้นอยู่ใกล้กัน
ครูพิศมัย เล่าต่อว่า ไส้เดือนดินมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมเลี้ยงในบ้านเรามี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์สีแดงออกม่วง ตัวขนาดเล็ก ชอบอาศัยผิวดินอยู่ในขยะอินทรีย์ มูลสัตว์ กินอาหารเก่ง ที่เรียกกันว่า “ขี้ตาแร่” ไส้เดือนดินอีกชนิดหนึ่งลำตัวสีเทา มีขนาดใหญ่ ชอบอาศัยอยู่ใต้ดินค่อนข้างลึก พบได้ในสวนผลไม้ สนามหญ้า กินอาหารน้อย เมื่อเลือกสายพันธุ์ไส้เดือนดินที่ต้องการได้แล้วจึงจัดเตรียมสถานที่ ต้องไม่เป็นบริเวณที่น้ำท่วมขัง อยู่ใกล้กับแหล่งขยะอินทรีย์ หรือใกล้แหล่งผลิตจำหน่ายผัก ผลไม้ หรือตลาดผักสด
“บ้านตนเองอยู่ใกล้ตลาดสดแม่โจ้ มีเศษผักที่แม่ค้าตัดและคัดใบผักออกทิ้ง จึงมีอาหารเลี้ยงไส้เดือนดินตลอดเวลา จากนั้นสร้างบ่อเลี้ยงด้วยปูนซีเมนต์แบบสี่เหลี่ยม ยาวตามขนาดของพื้นที่ นำดิน 4 ส่วน ผสมกับมูลวัว 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน เกลี่ยให้สม่ำเสมอ รดน้ำให้มีความชื้น หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นจึงปล่อยไส้เดือนดิน พื้นที่ 1 ตารางเมตร จะใช้ไส้เดือนประมาณ 1 กิโลกรัม ให้อาหารด้วยการนำเศษผักวาง หรือขุดหลุมไว้เป็นจุดๆ ไม่ควรเทกองรวมกันซึ่งจะเป็นสาเหตุให้แมลงวันมาวางไข่ได้ หรืออาจใช้ลวดตาข่าย ตะแกรงปิดด้านบนป้องกันแมลงวัน นก หนู เข้าไปกินอาหารในที่เลี้ยง”
ครูพิศมัย บอกว่า หลังจากที่ไส้เดือนดินขึ้นมากินอาหารแล้ว อาหารและดินบางส่วนจะถูกย่อยสลายภายในลำไส้ของไส้เดือน แล้วถ่ายออกมาเป็นมูล มีลักษณะเป็นเม็ดสีดำปนน้ำตาล จะมีธาตุอาหารสูงและมีจุลินทรีย์จำนวนมาก จึงเรียกว่า “ปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน” จึงตักปุ๋ยที่อยู่บริเวณผิวหน้าดินเหล่านี้ออกไปตากแห้ง ร่อนให้แตก และเม็ดเท่าๆ กัน พร้อมที่จะนำไปใช้ได้ ในขณะเดียวกันภายในบ่อซีเมนต์หรือถังที่ใช้เลี้ยงไส้เดือนดินก็จะเกิดน้ำที่ได้จากกระบวนการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน ที่เกิดจากการเน่าสลายของเศษขยะอินทรีย์ที่ใช้เป็นอาหารของไส้เดือนดิน เรียกว่าน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน มีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลดำ ไม่มีกลิ่นเหม็น และมีส่วนประกอบของธาตุอาหารพืช ฮอร์โมนพืช และจุลินทรีย์หลายชนิด
ครูพิศมัย ให้คำแนะนำว่า การนำปุ๋ยมูลไส้เดือนดินไปใช้ปลูกต้นไม้ ควรใช้ปุ๋ย 1 ส่วน ดินปลูก 3 ส่วน หากใช้บำรุงต้นไม้ ควรโรยรอบๆ โคนต้น ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของต้นไม้ หรือ 1-2 ช้อนโต๊ะ ในไม้กระถางทุก 15 วัน หากนำไปใช้ในแปลงพืชผักพื้นที่ตารางเมตรละ 1 กิโลกรัม ใส่ในช่วงปรับปรุงดินก่อนปลูก จากนั้นใส่มูลไส้เดือนดินทุก 15 วัน จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต หากนำไปใช้กับไม้กระถาง ไม้ใบ ไม้ดอก ใช้ 2-4 ช้อนโต๊ะ ขึ้นอยู่กับขนาดความกว้างของกระถาง ใส่ทุก 15 วัน อาจนำปุ๋ยมูลไส้เดือนดินไปใช้เป็นวัสดุเพาะกล้า เพาะเมล็ด โดยไม่ต้องผสมดินเลยก็ได้ ขณะนี้ที่บ้านพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือนดิน มีผลิตภัณฑ์แสดงและจำหน่าย ได้แก่ พันธุ์ไส้เดือนดินทั้ง 2 สายพันธุ์ ปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน น้ำหมักมูลไส้เดือนดิน
ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ กอหญ้าฟาร์มแม่โจ้ โทร. 089-435-7097, 081-950-9162
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559