“อินทผลัม กินผลสดในเมืองไทย” ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ มีตลาดรองรับ

แต่เดิม “อินทผลัม” มักรู้จักกันในรูปอบแห้งที่เดินทางมาจากตะวันออกกลางเพื่อนำมาวางขายตามห้างสรรพสินค้าชื่อดัง จึงมีราคาค่อนข้างแพง

ความเป็นไม้ผลที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการซึ่งชาวมุสลิมทั่วโลกนิยมรับประทานในช่วงพิธีสำคัญทางศาสนา ขณะที่คนไทยเริ่มรู้จักและตื่นตัวเพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกทั้งพบว่าผลสดของอินทผลัมสามารถรับประทานได้โดยยังคงคุณค่าทางโภชนาการ

อาจารย์พจน์ คำสุวรรณ มอบของที่ระลึกให้คุณอนุรักษ์ บุญลือ พร้อมกับถ่ายภาพร่วมกับผู้สัมมนา

 

ขณะเดียวกัน มีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า พื้นที่บางแห่งในประเทศไทยมีความเหมาะสมทางกายภาพต่อการปลูกอินทผลัมผลสด แล้วยังปลูกได้มีคุณภาพกว่าหลายพื้นที่ในแถบอาเซียน ดังนั้น จึงเกิดการตื่นตัวของชาวบ้านหันมาปลูกอินทผลัมกันเพราะมีราคาขายสูง

ปัจจุบัน สวนอินทผลัมหลายแห่งประสบความสำเร็จจากการขายผลสด จนทำให้เจ้าของสวนการันตีความอร่อยด้วยการเปิดให้ผู้สนใจเข้าถึงสวนแบบบุกถึงต้นชิมกันแบบสด พร้อมชูจุดเด่นเรื่องสายพันธุ์ การปลูก ดูแล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า

มีความเป็นห่วงว่าในอนาคตไม้ผลอย่างอินทผลัมที่ปลูกกันเพิ่มขึ้น แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีทิศทางไปทางไหน ขณะที่กลุ่มผู้ปลูกบางแห่งซึ่งล้ำหน้าไปด้วยการนำอินทผลัมผลสดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายประเภท เพื่อหาทางเจาะตลาดกลุ่มผู้รักสุขภาพให้มีการเลือก

ลักษณะการวางรูปแบบผังปลูก

คุณอนุรักษ์ บุญลือ เจ้าของสวนอินทผลัม “ไร่ประเสริฐสุข” เลขที่ 175 หมู่ที่ 9 ตำบลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นอีกรายในกลุ่มผู้บุกเบิกปลูกอินทผลัมทางด้านตะวันตกเมื่อกว่า 10 ปี ตลอดเวลาชายผู้นี้ได้ผ่านพบปัญหา/อุปสรรคมากมาย แต่ด้วยความเป็นคนทุ่มเท จริงจัง ค้นคว้าหาข้อมูลทุกแห่งอย่างไม่หยุด พร้อมกับลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองทั้งสำเร็จและล้มเหลว

จนกระทั่งสามารถฝ่าด่านความยากมายืนเป็นผู้สันทัดด้านอินทผลัมแถวหน้าได้สำเร็จ สามารถส่งผลผลิตขายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยังมีบทบาทสำคัญต่อการจัดตั้งกลุ่มปลูกอินทผลัมภาคตะวันตก (WDP) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ปลูกอินทผลัมหลายจังหวัดผลักดันธุรกิจขายอินทผลัมผลสดและแปรรูป

ผลิตภัณฑ์อินทผลัมผลแห้ง

คุณอนุรักษ์เดินเข้าสู่วงการเกษตรกรรมเต็มตัว ด้วยการปลูกอินทผลัมในเชิงพาณิชย์เป็นหลักอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมกับยังนำไม้ผลอื่นอย่างทับทิมอินเดียมาปลูกเพื่อหวังเป็นพืชเชิงพาณิชย์ต่อไป นอกจากนั้น ยังปลูกข้าว ปลูกอ้อย

ฉะนั้น ในฐานะผู้เป็นเจ้าของสวนอินทผลัม แล้วรู้จักไม้ผลชนิดนี้ทั้งการปลูกและการตลาดเป็นอย่างดี ทางทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านจึงได้เชิญคุณอนุรักษ์มาพูดคุยภาพรวมของตลาดอินทผลัมทั้งในตอนนี้และอนาคตให้แก่แฟนคลับเทคโนโลยีชาวบ้าน ในงานเสวนาสัญจร เมื่อวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ สวนอินทผลัมปรีชา นนทบุรี

เริ่มต้นปลูกแบบมีความรู้น้อย จนผิดพลาด เสียหายจำนวนมาก

คุณอนุรักษ์เรียนจบวิศวะเครื่องกลจากพระจอมเกล้าธนบุรี หลังจากนั้น ทำงานเป็นวิศวกรตามฝัน เข้าสู่วงการอินทผลัมเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา เหตุผลจูงใจที่ทำให้วิศวกรหนุ่มรายนี้มาชอบอินทผลัมเนื่องจากระหว่างทำงานมีโอกาสเดินทางหลากหลายประเทศ รวมถึงทางตะวันออกกลางแล้วได้มีโอกาสชิมอินทผลัมแห้งเกิดติดใจรสชาติ มีการหาทางนำมาปลูกในไทย กระทั่งมาพบอีกที่ทางภาคใต้ก็ซื้อมารับประทานอีกแล้วคิดว่าผลอินทผลัมนี้คงเดินทางมาจากมาเลเซีย

ผลิตภัณฑ์น้ำอินทผลัมแบรนด์ IN ONE

แต่เมื่อมาค้นข้อมูลการปลูกอินทผลัมในไทยกลับไม่พบเลย กระทั่งไปซื้อต้นพันธุ์ที่เชียงใหม่กับอีกส่วนหนึ่งหาซื้อจากทางอาหรับมาปลูกจนเกิดหน่อ จากนั้นจึงศึกษาหาความรู้มาเรื่อย รวมถึงยังเข้าไปติดตามการปลูกและรายละเอียดต่างๆ จากเฟซบุ๊กของกลุ่มผู้ปลูกอินทผลัมทางตะวันออกกลาง เพราะตำราเอกสารของไทยมีน้อยมาก

การแสวงหาความรู้เรื่องอินทผลัมยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่ไหนปลูกในไทยก็จะเดินทางไปดู ไปเรียนรู้ ในคราวแรกที่ลงทุนปลูกเกิดความผิดพลาดจากการขาดความรู้ลึก เนื่องจากนำต้นพันธุ์สายพันธุ์กินผลแห้ง เพราะเป็นพันธุ์ที่ทางอาหรับปลูกกัน กระทั่งเมื่อมีผลผลิตร่วงหมด ทำให้ต้องขุดทิ้งเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นพันธุ์ที่ปลูกในไทยไม่ได้ มีความชื้นสูง ต่างกับอาหรับ เหตุผลนี้ประเทศไทยจึงควรปลูกอินทผลัมแบบรับประทานผลสดมากกว่าผลแห้ง

หลายปีที่ผ่านมาชื่อเสียงของอินทผลัมได้เข้าสู่วงการบ้านเรามากขึ้น มีสวนหลายแห่งปลูกกันแบบลองผิด-ถูกมากมาย ขณะเดียวกัน หลายสวนก็เริ่มประสบความสำเร็จ แต่มีคำถามว่าปลูกอินทผลัมแล้วจะไปขายให้ใคร ขายที่ไหน คุณอนุรักษ์ชี้ว่าสำหรับความเห็นส่วนตัวถ้าคุณหาแหล่งขายไม่ได้แสดงว่าตลาดมีขนาดใหญ่มาก ทำไมถึงคิดเช่นนั้นก็เพราะถ้ามองตอนนี้ตลาดผู้ต้องการบริโภคอินทผลัมมี แต่สินค้าไม่มี นั่นแสดงว่ายังขาด

ก่อนอื่นต้องทราบว่าผู้บริโภคอินทผลัมหลักคือชาวมุสลิม จากข้อมูลค้นพบว่ามาเลเซียเป็นผู้นำเข้าอินทผลัมรายใหญ่อันดับต้นของโลก หรือเป็น 1 ใน 3 มาเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปีแล้ว แล้วขายกระจายไปทั่วอาเซียน โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวก็มากเกินพอ ส่วนที่พม่ามีมุสลิมจำนวน 45 เปอร์เซ็นต์ กัมพูชามีมากกว่าพม่า แล้วที่เวียดนามก็มีจำนวนมากเช่นกัน

ถึงแม้ประเทศไทยไม่สามารถปลูกอินทผลัมผลแห้งได้ เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่ต่างจากประเทศแถบอาหรับ แต่อาจจะไม่ใช่ปัญหาเพราะการปลูกอินทผลัมผลสดก็ยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องสภาพภูมิอากาศที่หลายประเทศในแถบอาเซียนปลูกไม่ได้หรือคุณภาพไม่ดี แต่ความได้เปรียบกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้การแข่งขันทางด้านผลสดจึงมีแนวโน้มที่สดใสอยู่มากเพราะไร้คู่แข่งที่น่ากลัว 

อย่าตั้งความหวังว่าจะโกยเงินจากอินทผลัม

ผู้ที่คิดจะปลูกอินทผลัมแล้วเจตนาใช้ราคาสูงเป็นตัวกำหนด หรือที่ผ่านมามีผู้คนที่รู้จักผมกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ต้องการปลูกอินทผลัมเพราะขายได้ราคาสูง อยากจะบอกว่าถ้าคิดแบบนั้นระวังจะผิดหวัง เพราะเมื่อคุณมองตลาดจะให้ผลตอบแทนกลับมาด้วยมูลค่าเงินจำนวนมาก คุณก็จะทุ่มเงินลงทุนอย่างเต็มที่

ทุกผลมีความสมบูรณ์มาก

ความจริงต้นทุนอินทผลัมไม่ได้สูง แต่ที่ขายกันแพงเพราะมีกลไกราคาจากตลาดต่างประเทศ อย่างที่มาเลเซียราคาประมาณ 280 บาท ต่อกิโลกรัม โดยที่ทางมาเลเซียรับมาจากอาหรับในราคา 150 บาท พอเดินทางเข้ามาที่หาดใหญ่ราคากิโลกรัมละ 300 บาท พอมาถึงกรุงเทพฯ ราคากิโลกรัมละ 400 กว่าบาท แล้วเมื่อนำไปขายในผู้บริโภคราคากิโลกรัมละ 500-600 บาท ผมบอกได้เลยว่าราคาระดับนี้ขายส่งให้แก่ห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำหลายแห่ง แล้วผลผลิตที่นำไปขายเป็นฝีมือของคนไทยล้วน

“ปีนี้ (2561) ผมมีออเดอร์จากมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม อีกเป็นจำนวนมาก ถ้าว่าทำไมเราไม่ส่งไปขายให้แก่ประเทศเหล่านั้นในจำนวนมากๆ แต่ในทางปฏิบัติประเทศเหล่านั้นเขาซื้อมาจากทางอาหรับในราคาต่ำกว่าซื้อจากไทย แล้วถ้าเราจะขายให้เขาต้องขายในราคาเดียวกับที่เขาซื้อจากอาหรับ แล้วจะขนไปขายทำไม? สู้ขายในประเทศได้ราคาสูงกว่า ความยุ่งยากในการขนย้ายถ่ายเทก็ไม่มี

แต่ในโอกาสหน้าไม่แน่เพราะถ้าผลผลิตเกิดล้นตลาดเพราะปลูกกันมากขึ้น ก็อาจจะต้องดันไปแข่งกับต่างประเทศ แล้วเมื่อถึงตอนนั้นใครที่หวังขายราคาสูงต้องคิดหนัก อย่าไปหวังเลยครับ ถ้าคุณตั้งเพดานเป้าหมายขายสัก 80-100 บาทอันนี้ลงทุนไปเลย”

คุณอนุรักษ์ บอกว่า การที่ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะที่อยู่ใกล้ไทยยอมควักเงินซื้อแม้ขายในราคากิโลกรัมละ 400 บาท เป็นเพราะไทยมีจุดแข็งตรงที่ได้คุณภาพผลสดใหม่โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางนาน คุณภาพความอร่อย ความกรอบ ของอินทผลัมจากไทยเป็นที่ยอมรับแล้ว แม้ลักษณะผลจะมีลายที่ผิวหรือที่เรียกว่าขนแมวก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่ลูกค้าจะปฏิเสธซื้อ เพียงแต่อาจจะต้องช่วยประชาสัมพันธ์กันให้มากหน่อยว่าการที่มีลักษณะผิวแบบนั้นมันไม่ใช่สินค้าเสียหายแต่มันเป็นอัตลักษณ์ประจำของไทยหรือเรียกได้ว่าเป็นพันธุ์บาร์ฮีแบบไทย

“เพราะคนที่บริโภคอินทผลัมเป็นประจำ หรือผู้ที่คลุกคลีอยู่จะรู้ดีว่าผลอินทผลัมแบบมีลายเส้นที่ผิวจะอร่อย หวาน กรอบ กว่าผลแบบเรียบ ซึ่งเป็นจุดเด่นของอินทผลัมของไทย แต่ในอนาคตหากมีการปรับปรุงแก้ไขก็ดีเพราะจะได้สร้างราคาให้สูงได้อีก

จัดระเบียบอินทผลัม สร้างมาตรฐานเพื่อการค้า

คุณอนุรักษ์ บอกว่า ภายหลังเมื่อมีองค์กรกลางที่เข้ามาจัดระเบียบ มาตรฐาน เพื่อให้มีความเท่าเทียมกันทุกแห่ง จึงมีการกำหนดจัดแบ่งเกรดผลอินทผลัมออกตามคุณภาพและขนาดตามมาตรฐานกลางดังนี้ ถ้าผลที่มีขนาด 15-18 กรัม เป็นเกรด A, ขนาด 12-15 กรัม เกรด B, ขนาด 10-12 กรัม เกรด C แล้วถ้าต่ำกว่า 10 กรัม เป็นเกรด D ทั้งนี้ ทุกเกรดต้องมีความหวานไม่ต่ำกว่า 29 บริกซ์

คุณอนุรักษ์ บุญลือ เจ้าของไร่ประเสริฐสุข

“เมื่อเห็นการเข้ามาจัดการเรื่องมาตรฐานแล้วบอกได้ว่าเริ่มมีความยากเข้ามาไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว ดังนั้น ขอบอกว่าถ้าท่านต้องการเดินเข้ามาในเส้นทางอินทผลัมไม่ต้องรีบ อย่าเร่ง เพราะไม่ง่าย แล้วผมไม่คิดว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ ยกเว้นคุณมีใจสู้เต็มที่แล้วถ้าทำสำเร็จก็ปิดประตูเจ๊งได้เลย เพราะทุกอย่างมีแต่รายได้เข้ามา

คิดง่ายๆ ถ้าคุณขายเพียงกิโลกรัมละ 80 บาทก็ไม่ทันแล้ว เพราะอย่างบาฮีปลูกใช้เวลาเพียง 2 ปีจะได้ผลผลิตเริ่มต้นประมาณ 20-30 กิโลกรัม แล้วปลูกไร่ละ 25 ต้น ถ้าคุณปลูกสัก 5 ไร่ ได้กี่ต้น ได้เงินเท่าไร”

เจ้าของสวนอินทผลัมรายนี้ชี้ให้เห็นถึงการลงทุนปลูกอินทผลัมว่าไม่ต้องใช้เงินลงทุนอะไรมากมาย การปลูกระยะห่าง 8 คูณ 8 เมตร ใช้จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์วิ่งทำงานภายในสวนก็ได้ หรือใส่ปุ๋ยก็ให้คนในครอบครัวช่วยกันยังได้ อีกทั้งการจัดตารางดูแลต้นอินทผลัมก็ไม่ได้ยุ่งยาก แล้วทำซ้ำเหมือนกันทุกวัน

“กิจกรรมการปลูกอินทผลัมเป็นงานที่ซ้ำๆ ทุกปี ใส่ปุ๋ยแบบเดิม รดน้ำแบบเดิม ผสมเกสรเหมือนเดิม ดูแล้วอาจง่ายกว่าการปลูกมะนาวเสียด้วย เพียงแต่อินทผลัมเป็นของใหม่ที่ทุกคนเพิ่งรู้จักก็เลยคิดว่ายาก อีกทั้งยังเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตตลอดทุกปี ถ้าใส่ใจยิ่งได้มาก นับเป็นมรดกส่งให้ลูกหลานต่อไปได้

สิ่งเหล่านี้ฟังดูง่ายแต่ในทางปฏิบัติเริ่มต้นไม่ง่ายเลย เพราะอย่างน้อยคุณต้องลงมือทำเองทั้งหมด ต้องผ่านการเรียนรู้ฝึกปฏิบัติอย่างแท้จริงด้วยตัวเอง แต่ถ้าผ่านช่วงการเรียนรู้ไปแล้ว ในขั้นต่อไปคือความชำนาญแล้วจะไม่มีอะไรยากอีกต่อไป” 

ปลูกได้ไม่ทั่วประเทศ เพราะอินทผลัมไม่ชอบความชื้นแฉะ

สำหรับแหล่งปลูกอินทผลัมในไทยก็ไม่ได้ปลูกกันทุกภาค ภาคที่ดูจะได้เปรียบทางภูมิศาสตร์สักหน่อยคือภาคกลาง หรือทางอีสานก็ได้ ทางภาคเหนือตอนล่างจะดี แต่เหนือตอนบนในบริเวณภูเขายิ่งแย่ ทางใต้น่าจะประมาณเพชรบุรีหรือชุมพร หรือถ้าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามปลูกได้เพียงครึ่งประเทศเพราะเจอพายุเข้าก็จบ

เหตุผลที่บอกเช่นนี้เพราะโดยธรรมชาติของอินทผลัมไม่ชอบความชื้นแฉะ อุณหภูมิที่ชอบประมาณ 32-38 องศา อันนี้ปลูกได้ไม่ตาย แต่คุณภาพผลผลิตจะออกมายังไงตอบไม่ได้ ส่วนอุณหภูมิที่ไม้ผลชนิดนี้ชอบมากคือ 18 องศา ช่วงเดือนที่เหมาะมากคือประมาณธันวาคม-มกราคม

“ดังนั้น ถ้าสวนคุณอยู่ในตำแหน่งที่มีอากาศหรืออุณหภูมิในตอนเช้าประมาณ 18 องศาติดต่อกันสัก 7 วันเพื่อให้เกิดการสร้างตาดอกเก็บไว้ที่ซอกกาบใบแล้ว รับประกันได้ว่าในปีนั้นผลผลิตที่คุณหวังไว้เป็นไปตามจริงแน่ คุณได้เห็นเงินก้อนแน่” 

ความหวานไม่เป็นอันตราย แถมยังมีสรรพคุณมากมายต่อสุขภาพ

หลายคนที่เพิ่งรู้จักอินทผลัมเมื่อได้ลองชิมต่างบอกตรงกันว่าหวาน เกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องบอกว่าถึงแม้อินทผลัมจะมีรสหวาน แต่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ ในทางตรงกันข้ามกลับมีประโยชน์มากด้วย (ยกเว้นห้ามรับประทานมากเกินไป) ที่พูดเช่นนี้เพราะได้อ่านงานวิจัยของหลายสถาบันแล้ว

“อย่างคนที่รับประทานอินทผลัมวันละไม่กี่เมล็ดร่วมกับอาหารสุขภาพต่างๆ ภายในเวลา 5 วันปรากฏว่าน้ำหนักลดลง เพราะอินทผลัมที่มีขนาดผลใหญ่จำนวน 7 ผล มีแคลอรีหรือพลังงานเท่ากับข้าวแกง 1 จาน ฉะนั้น ในวงการสุขภาพจึงให้เครดิตอินทผลัมว่าเป็นอีกหนึ่งผลไม้สุขภาพที่น่าสนใจ”

คุณอนุรักษ์ บอกว่า การแปรรูปอินทผลัมสามารถทำได้หลายอย่าง ถ้าช่วงไหนที่คุณไม่พอใจราคาขายแล้วยังไม่ต้องการขายก็นำอินทผลัมสดไปเก็บในตู้เย็นในช่องแช่แข็งจะพบว่าภายในเวลา 5 วันนำมารับประทานแล้วจะมีความกรอบ มีเนื้อคล้ายไอศกรีม อาจจะสุกเล็กน้อย มีความฉ่ำ และทุกวันนี้ที่สวนของผมมีออเดอร์ส่งให้เอสแอนด์พี เพื่อนำไปประยุกต์กับเมนูอาหารได้มากมาย

รวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มปลูกอินทผลัมภาคตะวันตก (WDP)” เจาะตลาดในและต่างประเทศ

สำหรับการรวมตัวของผู้ปลูกอินทผลัมจากจังหวัดทางภาคตะวันตก หรือในชื่อเรียกว่า “กลุ่มปลูกอินทผลัมภาคตะวันตก (WDP)” นอกจากจะร่วมกันขายผลสดแล้วยังวางแผนเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำอินทผลัมหรืออินทผลัมอบกรอบ โดยได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ดึงเฉพาะน้ำออกจากผลจึงไม่ทำให้คุณค่าทางโภชนาการอย่างอื่นเสีย ซึ่งเมื่อคุณรับประทานแล้วจะรู้สึกคล้ายกับการรับประทานทุเรียนอบกรอบ

นอกจากนั้น ยังแปรรูปเป็นผงในรูปแบบเดียวกับซีรีแล็คที่ใส่ชงกับน้ำร้อนดื่ม สำหรับเป็นอาหารเสริม แล้วยังมีแบบผงที่มีลักษณะเดียวกับคอฟฟี่เมต เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะของอินทผลัมที่มีแป้งกับเส้นใยอาหารและน้ำตาลอยู่แล้วเมื่อนำมาผสมกับกาแฟได้ทันทีโดยไม่ต้องปรุงอะไรอีก

คุณอนุรักษ์ แสดงความเป็นห่วงแล้วไม่สบายใจว่า มีหลายคนยังไม่รู้จักอินทผลัมเป็นอย่างดี พอได้รับฟังข้อมูลจากแห่งต่างๆ ที่แนะนำก็หลงเชื่อ เพราะคนเหล่านั้นมีเจตนาไม่ดีมาหลอกเอาเงิน อย่าไปเชื่อถ้าเขาบอกว่ามีต้นพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อแท้จำหน่ายในราคาถูก ความจริงในประเทศไทยยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมในตอนนี้ได้ ดังนั้น หากมีใครมาแอบอ้างว่าสวนของเขาเพาะต้นเนื้อเยื่อได้ขอให้คิดไว้ก่อนล่วงหน้าว่าถูกหลอก

พร้อมทั้งยังระบุว่าต้นพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อทุกต้นที่นำมาจากตะวันออกกลางมีหลักฐานการผลิตเป็นแถบบาร์โค้ดที่ตรวจสอบกลับแหล่งที่มาได้ ฉะนั้น กว่าท่านจะรู้ตัวว่าถูกหลอกอาจเสียเงินไปจำนวนมากแล้ว จึงฝากไว้ว่าเมื่อใดที่ท่านเจอเรื่องเหล่านี้ ขอให้โปรดได้ใช้ความระมัดระวัง อย่าด่วนตัดสินใจ ถามคนที่อยู่ในวงการที่เชื่อถือได้เสียก่อน

“การเดินทางอยู่บนอาชีพอินทผลัมอย่าเพียงคิดว่าต้องมีความเข้าใจอย่างเดียว ควรต้องเข้าถึงด้วย เริ่มต้นอย่าทำมาก ค่อยๆ เพิ่ม แล้วควรศึกษาปัญหาระหว่างทำด้วยตัวเอง จนเกิดความชำนาญทางเทคนิคและอื่นๆ ถ้าถามว่าปลูกอินทผลัมง่ายไหม ผมตอบว่าง่าย เพราะคลุกคลีกันมายาวนานเป็นสิบปี

ฉะนั้น ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าอินทผลัมยังมีอนาคตอีกยาวไกล เพราะที่พูดมาเป็นเพียงภาพรวม แต่ต่อไปในอนาคตมองว่าอินทผลัมยังอาจมีอะไรทำได้มากกว่านี้” คุณอนุรักษ์ กล่าวปิดท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เรื่องอินทผลัม ติดต่อบริษัท อินทผลัมภาคตะวันตก จำกัด หรือที่ศูนย์ศึกษาเรียนรู้การปลูกอินทผลัมและการแปรรูป โทรศัพท์ (092) 681-1919, (081) 732-3681, (091) 505-9956 และ (098) 281-4988 fb : อินทผลัมภาคตะวันตก