พระมหากษัตริย์ กับตำนานข้าวไทย

ประเทศไทย กับนา หรือข้าวนั้นเป็นของคู่กันมาแต่โบราณกาล ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ปกครองบ้านเมือง ทรงสนับสนุนการปลูกข้าวทำนาของพสกนิกร จนทำให้อยู่เย็นเป็นสุขมาโดยตลอด

มีการบันทึกไว้ว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ประสบภาวะข้าวยากหมากแพงจากความแห้งแล้ง มีการกักตุนข้าวเกิดขึ้น พระองค์จึงทรงตรากฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการเฆี่ยน 3 ครา แล้วนำออกประจานทางน้ำ 3 วัน และทางบก 3 วัน

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรง พระองค์ต้องนำข้าวจากฉางหลวงออกมาจำหน่ายให้พสกนิกรในราคาถูก เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของพสกนิกร

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เกิดภาวะฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพงอีกครา พระองค์ต้องส่งเสริมให้พสกนิกรปลูกข้าวไร่ที่ใช้น้ำน้อย เพื่อเร่งนำมาชดเชยปริมาณข้าวที่ขาดหายไป อีกทั้งรณรงค์ให้พสกนิกรที่เป็นชาวนา หันมาสีข้าวด้วยเครื่องมือที่เคยใช้กันมา แทนที่จะหันไปซื้อข้าวสารจากร้านค้า ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกัน แสดงให้เห็นว่าในช่วงนี้เครื่องสีข้าวสมัยใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง กระทรวงเกษตรและพานิช ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2435 ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงเกษตราธิการ ในครานั้นมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นเสนาบดี รับผิดชอบกิจการเป็นท่านแรก ตลอดรัชกาลพระองค์ได้พัฒนาการปรับปรุงข้าวไทยอย่างเป็นระบบ ทรงให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2450 ที่อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ครั้งที่สอง จัดขึ้นที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ และครั้งที่สาม จัดประกวดพันธุ์ข้าวจากทั่วราชอาณาจักร ที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2454 และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง นาทดลอง ที่คลองรังสิต เมืองธัญบุรี ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อพัฒนาข้าวพันธุ์ดีแจกจ่ายให้กับเกษตรกรชาวนาอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีการขุดคลองรังสิต จัดสรรน้ำให้เกษตรอย่างพอเพียง เมื่อมองจากมุมสูงจะเห็นคลองขุดทุ่งรังสิตสวยงามประดุจดังตาหมากรุกอย่างน่าอัศจรรย์

ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโภชากรรวบรวมข้าวพันธุ์ดีจากทั่วราชอาณาจักร จำนวน 4,000 ตัวอย่างมาคัดเลือกหาพันธุ์ดีที่สุด ทั้งด้านผลผลิตและคุณภาพหุงต้ม พระองค์ทรงเป็นนักอนุรักษ์พันธุกรรม

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ประเทศไทย นำโดย พระยาโภชากรนำข้าวไทยไปประกวดข้าวโลก เมื่อปี พ.ศ. 2476 ที่เมืองเรยีนา ประเทศแคนาดา ผลปรากฏว่า ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมกับกวาดรางวัลอื่นๆ มาด้วยความภาคภูมิใจอีก 8 รางวัล อย่างไรก็ตาม ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วดังกล่าวได้หายจากไร่นาของเกษตรกรไทยไปนานแล้ว

รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย
รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพสกนิกรที่ประกอบอาชีพการทำนา พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องข้าวเป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ในพระราชวังสวนจิตรลดาเป็นที่ทำนาปลูกข้าว ในระยะแรกพระองค์ทรงไถเตรียมดินในนาด้วยพระองค์เอง เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วพระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิดลงในนา โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว ผลผลิตข้าวที่ได้พระองค์ทรงมอบให้กรมส่งเสริมการเกษตร บรรจุถุงขนาดเล็ก พระราชทานให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไปอีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาการเกษตรขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทรงพระราชทานทฤษฎีใหม่ และวิธีการแกล้งดิน แก้ปัญหาการปลูกข้าวในดินเปรี้ยว อันเป็นประโยชน์กับพสกนิกรของพระองค์อย่างอเนกอนันต์

ดร. Gorge Rothschild ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรือ IRRI ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญ International Rice Award Medal แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539 ในวโรกาสที่ทรงครองศิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี
ดร. Gorge Rothschild ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรือ IRRI ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญ International Rice Award Medal แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539 ในวโรกาสที่ทรงครองศิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ประเทศผู้ผลิตข้าวทั้งหลายต้องกลับมาฟื้นฟูการผลิตข้าวครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2493 กระทวงเกษตรและป่าไม้ของไทยในขณะนั้น ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา หรือรู้จักในนาม USDA ได้ส่ง ดร. H.H. Love ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เคยทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล มาให้คำปรึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ได้ก่อตั้ง กรมการข้าว ขึ้น โดยมี หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงเป็นอธิบดีเป็นพระองค์แรก พระองค์เริ่มต้นดำเนินงานที่สถานีทดลองธัญบุรี รวบรวมพันธุ์ข้าวจากทั่วประเทศ และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยวิธีผสมเกสร แล้วขยายไปยังสถานีทดลองบางเขน กรุงเทพฯ และสถานีทดลองสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ในปีเดียวกันมีการก่อตั้งสถานีทดลองข้าวน้ำลึก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และระหว่างปี พ.ศ. 2495-2460 มีการก่อตั้งสถานีทดลองเพิ่มอีกหลายแห่งทุกภูมิภาคของประเทศ มีสถานีทดลอง (ข้าว) โคกสำโรง จังหวัดลพบุรี สุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา พาน ปัจจุบันจังหวัดพะเยา ชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ควนกุฎ จังหวัดพัทลุง และราชบุรี จังหวัดราชบุรี ผลงานระหว่างปี พ.ศ. 2499-2511 มีข้าวพันธุ์ดีออกสู่ชาวนา จำนวน 18 พันธุ์ ประกอบด้วย ขาวตาแห้ง 17 นางมล S-4 เหมยนอง 62 M ปิ่นแก้ว 56 เจ๊กเชย 159 ตะเภาแก้ว 161 กำฝาย 15 ขี้ตมใหญ่ 98 ขาวดอกมะลิ 105 ขาวนางเนย 11 ขาวพวง 32 เหลืองทอง เหลืองใหญ่ 148 หางยี 71 นางพญา 70 พวงไร่ 2 เหลืองใหญ่ 148 และเหลืองปะทิว 123

%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad7
แปลงทดลอง

%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad6

ในปี พ.ศ. 2503 มีการก่อตั้ง สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute : IRRI) ขึ้น ที่ Los Banmos สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มีความร่วมมือกับกรมการข้าวของไทย ทำให้ประเทศไทยสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าว ต้นเตี้ย ให้ผลผลิตสูง 3 พันธุ์ คือ กข 1 กข 2 และ กข 3 ทั้งนี้ เลขคี่ หมายถึงข้าวเจ้า ส่วนเลขคู่ หมายถึงข้าวเหนียว ปัจจุบัน กรมการข้าว พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกมาให้เกษตรกรปลูกในปัจจุบัน มีจำนวน 70 พันธุ์ และในปี พ.ศ. 2534 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติได้ถวายรางวัล สถาบันข้าวนานาชาติ ให้กับพระองค์

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย

 

ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้