เทคโนโลยีสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว และโปรตีนจากถั่วเหลือง ยังขาดแคลน

ประเทศญี่ปุ่นมองประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตอาหารทางการแพทย์ และทุ่มงบฯ ถึง 650 ล้านบาท ขยายโรงงานผลิตอาหารทางการแพทย์เพื่อเป็นศูนย์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย แต่ปรากฏว่า ด้านการผลิตนั้นยังขาดแคลนวัตถุดิบทางการเกษตรจากไทย โดยเฉพาะวิธีการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว ทำให้วันนี้ประเทศไทยยังต้องนำเข้าข้าวจากประเทศในกลุ่มยุโรปเพื่อมาผลิตอาหารทางการแพทย์ จึงทำให้ต้องเร่งมองหาผู้ผลิตวัตถุดิบการเกษตรที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย และเกษตรกร รวมไปถึงการสกัดโปรตีนจากถั่วเหลือง

 

ไทยขาดนวัตกรรมสกัดวัตถุดิบทางการเกษตร ส่งผลนำเข้าจากต่างประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่า ประเทศไทย จะเป็นประเทศเกษตรกรรม มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสร้างรายได้หลักให้กับประเทศมายาวนาน แต่ผลปรากฏว่า ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว ที่นำมาใช้เป็นอาหารทางการแพทย์ ซึ่งในปี 2558 สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยถึงปีละ 300 ล้านบาท

เภสัชกรวัฒนชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ผู้ผลิตอาหารเสริมทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์น้ำเกลือ และนำเข้า-ส่งออก ผลิตภัณฑ์ยาเวชภัณฑ์จากประเทศญี่ปุ่น เล่าให้ฟังถึงการขาดแคลนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีว่า ตอนนี้ประเทศไทยขาดแคลนเทคโนโลยีการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าวให้ได้คุณภาพที่เหมาะแก่การนำมาแปรรูปเป็นอาหารทางการแพทย์ รวมถึงวัตถุดิบทางการเกษตรบางตัว เพื่อมาผลิตอาหารทางการแพทย์ โดยปัจจุบันนี้ต้องนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหมาะแก่การนำมาผลิตเป็นอาหารทางการแพทย์มาจากต่างประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์

เภสัชกรวัฒนชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด
เภสัชกรวัฒนชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด

“ปัญหาอุปสรรคสำคัญในการสกัดวัตถุดิบทางการเกษตร มาทำอาหารทางการแพทย์ว่า อาหารทางการแพทย์ก็จะมีอยู่ 5 หมู่หลักๆ ก็คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน ถ้าเป็นโปรตีนก็อาจจะมาจากถั่วเหลือง และสารสกัดจากนม น้ำตาล เราใช้ของในประเทศได้ เช่น คาร์โบไฮเดรตอันหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ตัวแป้งต้องใช้ข้าวนำเข้าจากต่างประเทศ และอยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร (supplier) เพราะประเทศไทยมีข้าวที่คุณภาพค่อนข้างดี แต่จะทำยังไงให้มีการเปลี่ยนมาใช้คาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพสูงทางการแพทย์ได้” เภสัชกรวัฒนชัย กล่าว

เภสัชกรวัฒนชัย บอกด้วยว่า ตอนนี้ประเทศไทยยังทำไม่ได้ ต้องนำเข้าจากประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศสบ้าง กระบวนการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว เพื่อให้เป็นวัตถุดิบที่เรานำมาใช้ได้ ละลายได้ดี มีคุณภาพที่สูง ตรงนี้เรายังสู้ต่างประเทศไม่ได้ หรือโปรตีนที่สกัดจากนม โปรตีนที่สกัดจากนมต้องนำเข้าเหมือนกัน

นอกจากนี้ เภสัชกรวัฒนชัย ยังบอกอีกว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า หากใครมีไอเดียอย่าง บริษัท ไทยโอซูก้าฯ และ อยากได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพอย่างนี้ ก็ต้องไปหาอาจารย์ หรือหาผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร (supplier) ที่เก่งๆ และทำวิจัยกัน เป็นแบบทดลอง ถ้าทำได้จริงก็ค่อยขยายไปสู่วงกว้าง ซึ่งตอนนี้ยังเป็นความลับทางการค้า แต่ทางรัฐบาลอยากให้เกิดผลทางความร่วมมือด้านวิจัยให้เร็วที่สุด โดยบินไปทั่วประเทศเพื่อไปคุย อยู่ที่ว่าจะมีคนลงทุนด้วยหรือเปล่า เราลงทุนปลายทาง คืออาหารทางการแพทย์ แต่ว่าต้องอาศัยทั้งระบบ (supply chain)

“เราอยากใช้วัตถุดิบภายในประเทศ อยากให้ส่งผลต่อวัตถุดิบทางการเกษตร เพราะอาหารทางการแพทย์มาจากสินค้าเกษตร หากเราสามารถช่วยกันพัฒนาระบบคนได้ เราเองก็จะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดี และส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรทั้งประเทศ ทำให้ข้าวมีราคาดีขึ้น นี่คือเป้าหมายของขบวนการแปรสภาพที่เริ่มต้นจากกระบวนการผลิตที่มาจากธรรมชาติ เพราะตอนนี้มีความต้องการใช้ข้าวที่มีคุณภาพ และมีเทคโนโลยีการสกัดให้ได้ข้าวที่มาทำอาหารทางการแพทย์ได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีระบบนี้ขึ้นมา” เภสัชกรวัฒนชัย บอกถึงความคืบหน้าในการหาเทคโนโลยี เพื่ออนาคตจะมีการใช้วัตถุดิบทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวไทยให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าให้มากที่สุด

ผู้อำนวยการโรงงาน อธิบายให้ฟังอีกว่า อาหารทางการแพทย์ จะต่างจากอาหารทั่วไป เช่น อาหารเสริม อาจจะคุ้นเคย วิตามิน หรือแปะก๊วย ก็เป็นอาหารเสริม แต่อาหารทางการแพทย์เป็นอาหารหลัก ที่จะแทนการรับประทานอาหาร 1 มื้อ เพราะฉะนั้นการที่ใช้ชื่อ “อาหารทางการแพทย์” เพราะอาหารที่เราผลิตต้องเอาไปทดสอบกับผู้ป่วยจริงๆ จะเห็นว่า บริษัท ไทยโอซูก้า เป็นบริษัทเดียวในเอเซียที่มีวิจัยและพัฒนาอาหารทางการแพทย์

“ไทยโอซูก้าฯ ได้รับการร้องขอจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ให้เป็นโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส (Food Innopolis) เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมอาหาร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญไปเป็นทีมทำงาน และพยายามหานวัตกรรมใหม่ๆ ป้อนสู่ประเทศไทย ความต้องการของรัฐบาลคือ ต้องการให้เราใช้ศักยภาพทางการเกษตรให้เกิดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมากที่สุด เอาสินค้าทางการเกษตรมาแปรรูปให้มากที่สุด นโยบายรัฐบาล ซึ่งเขาก็มาเชิญเราให้เข้าไปร่วม เราก็มองอยู่และกำลังจะพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศไทย แปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตรมาเป็นอาหารทางการแพทย์ในประเทศไทยให้ได้” เภสัชกรวัฒนชัย กล่าว

 

ญี่ปุ่น ทุ่มเงินกว่า 600 ล้านบาท  ปั้นไทยเป็นผู้นำนวัตกรรม ผลิตอาหารทางการแพทย์ในเอเชีย

คุณชินสึเกะ ยุอาสะ ประธานบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด เล่าว่า “ในกลุ่มประเทศที่โอซูก้า กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่นไปร่วมทุนนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่คิดค้นนวัตกรรมอาหารเสริมทางการแพทย์จากทีมแพทย์ของไทย ทำให้กลุ่มโอซูก้า กรุ๊ป มั่นใจและลงทุนด้านกำลังการผลิต โดยใช้งบฯ 650 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่เพิ่มในพื้นที่โรงงานเดิม ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร บนพื้นที่ 40 ไร่ (รวมพื้นที่โรงงานเก่า) นอกจากนี้ สังคมประเทศไทยเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้ต้องการอาหารเสริมมากขึ้นเช่นกัน เพื่อใช้ในการรักษาตัวเอง และรักษาโรคแต่ละโรคด้วย ทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยโรคไตต่างๆ

คุณชินสึเกะ ยุอาสะ ประธานบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด
คุณชินสึเกะ ยุอาสะ ประธานบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด

สำหรับทีมแพทย์ผู้ที่คิดนวัตกรรม “อาหารทางการแพทย์” ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ จอมจักร จันทรสุกล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์เพียรวิทย์ ตันติแพทยางกูร คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิชัย ตันไพจิตร คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี

ส่วนโรงงานใหม่ของ บริษัท ไทยโอซูก้าฯ มีกำลังการผลิต 3,000 ตัน ต่อปี รองรับการเติบโตของผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการอาหารทางการแพทย์ ทั้งประชากรในเมืองไทยและในต่างประเทศด้วย และจะสามารถลดการนำเข้าอาหารทางการแพทย์จากต่างประเทศ ขณะที่โรงงานเก่ามีกำลังการผลิต 600-700 ตัน ต่อปี

หน้าตาโรงงานไทยโอซูก้า ลงทุน 650 ล้านบาท
หน้าตาโรงงานไทยโอซูก้า ลงทุน 650 ล้านบาท

บริษัท ไทยโอซูก้าฯ เป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับโอซูก้า กรุ๊ป ที่ประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วน 49% ต่อ 51% โดยเราร่วมทุนกันมาปีนี้ครบรอบปีที่ 43 แล้ว โดยมีเครือสหพัฒนฯ ร่วมถือหุ้น 10% ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว และโอซูก้า กรุ๊ป ที่ญี่ปุ่น มองว่าไทยมีศักยภาพ จึงมองประเทศไทยเป็นที่แรกและขยายการลงทุนในส่วนโรงงานผลิตอาหารทางการแพทย์” ประธานบริษัท บอกถึงเหตุผลในการทุ่มเงินมาที่ประเทศไทย

โอซูก้า กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น มีรายได้ต่อปีประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยมีการลงทุนแบบร่วมทุน (join venture) กับแต่ละประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ฮ่องกง ปากีสถาน อียิปต์ และในส่วนยุโรป เป็นการลงทุนของโอซูก้า กรุ๊ป ญี่ปุ่น แบบ 100%

 

เศรษฐกิจไทยยังไปได้สวย  อาหารทางการแพทย์ยังโตได้อีก

ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นยังเล่าถึงภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทยว่า ยังค่อนข้างมีความแข็งแรง โดยมาจากนโยบายของรัฐบาลหลายด้าน อาทิ ไทยแลนด์ 4.0 และเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ธุรกิจยาและอาหารทางการแพทย์เติบโตโดยไม่อิงกับภาวะเศรษฐกิจ

“ผมมาจากประเทศที่เศรษฐกิจไม่โต ประมาณ 20 ปี เพราะประเทศญี่ปุ่น เงินเดือนไม่ขึ้นมา 20 ปีแล้ว แต่ประเทศไทย เงินเดือนก็ขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่ำสุด 5-10% แล้วราคามูลค่าอาหารก็โตขึ้นเรื่อยๆ ผมมาประเทศไทยตั้งแต่ 20-25 ปีที่แล้ว ราคาน้ำตาล และกาแฟ ก็ 10 บาท 5 บาท ตอนนี้ก็ 30 บาท 50 บาท แต่ถ้าเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ราคาที่นั่นเหมือนกับเรารู้สึกว่าถูกมาก แต่ยาและอาหารทางการแพทย์ หรืออาหารสุขภาพ อาจไม่ไปด้วยกับเศรษฐกิจ เพราะความต้องการอยู่ที่ประชาชนคนไทยดูแลสุขภาพมากขึ้น และอายุยืนเฉลี่ยยาวเหมือนคนในประเทศญี่ปุ่น” ประธานบริษัท เล่าถึงมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

บรรยากาศในโรงงาน
บรรยากาศในโรงงาน

ปี 2558 กลุ่มธุรกิจไทยโอซูก้า กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น มีรายได้ 5 แสนล้านบาทต่อปี โดยมีรายได้หลักมาจากยาถึง 70% รองลงมาคือ อาหารทางการแพทย์ และน้ำเกลือ ส่วนรายได้ของ บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด มีรายได้ 2,000 กว่าล้านบาท โดยมีรายได้มาจากน้ำเกลือถึง 700 ล้านบาท ยา 600 ล้านบาท อาหารทางการแพทย์ 300 ล้านบาท และที่เหลืออีก 200 กว่าล้านบาท มาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มสารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ

ขณะที่มูลค่าตลาดอาหารทางการแพทย์ ปี 2558 มีมูลค่ารวมกว่า 1,300 ล้านบาท เฉพาะที่ขายผ่านช่องทางร้านขายยาและโรงพยาบาลทั่วประเทศ และในปี 2559 คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดรวมอาหารทางการแพทย์จะโต 10% ขณะที่ไทยโอซูก้าคาดว่าเฉพาะอาหารเสริมทางการแพทย์ จะมีรายได้เติบโต 10% ตามภาวะการเติบโตของตลาดรวม

สำหรับนักวิจัยท่านใด หรือเกษตรกรที่มีความสามารถในการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว และโปรตีนจากถั่วเหลือง ซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำของกระบวนการผลิต “อาหารทางการแพทย์” สามารถโทรศัพท์ติดต่อเจรจา เปิดโอกาสให้กับตัวเองได้ทันที ที่โรงงานของไทยโอซูก้า อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โทร. (034) 878-188-9