เกษตรกรทำไร่ดีเด่น เผยเทคนิคปลูกอ้อย ให้ได้ผลผลิตดี กำไรต่อไร่สูง เก็บเกี่ยวง่าย กำหนดราคาขายได้เอง

คุณชัยวัฒน์ แดงดอนไพร อยู่บ้านเลขที่ 164/1 หมู่ที่ 4 ตำบลกระตีบ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เบอร์โทรศัพท์ (089) 817-2066 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมการทำไร่อ้อยกว่า 25 ปี บนพื้นที่กว่า 120 ไร่ ในพื้นที่ตำบลกระตีบ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

เดิมผู้เป็นพ่อของคุณชัยวัฒน์ ทำไร่อ้อยอยู่แล้ว จนมาถึงรุ่นลูกก็ทำไร่อ้อยจนถึงปัจจุบัน ลักษณะนิสัยเกษตรกรคนนี้ เป็นคนขยัน ศึกษาค้นหาความรู้เพิ่มเติมในการประกอบอาชีพเสมอ เมื่อมีการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยที่ไหนก็จะเข้าร่วมเสมอ ยอมรับเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ อีกทั้งมีน้ำใจถ่ายทอดความรู้/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และเกษตรกรผู้สนใจอีกด้วย

รับประกาศเกียรติคุณจากผู้ว่าราชการจังหวัด
รับประกาศเกียรติคุณจากผู้ว่าราชการจังหวัด

แต่เดิมคุณชัยวัฒน์ ปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น แต่ประสบปัญหาที่พันธุ์ขอนแก่นไม่ทนต่อน้ำท่วมขังในแปลง ทำให้ได้รับความเสียหายได้ง่าย จึงศึกษาหาข้อมูลหันมาปลูกพันธุ์ลำปาง (LK 92-11) ปลูกแล้วทนต่อน้ำท่วมขังและทนต่อความแห้งแล้ง ให้ผลผลิตสูง 16-19 ตัน ต่อไร่ ความหวาน 12-13 CCS. แตกกอมาก (6-8 ลำ ต่อกอ หรือ 13,000 ลำ ต่อไร่) ขนาดลำปานกลาง (เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.6-2.8 เซนติเมตร) ลำสีเหลืองปนเขียว ทรงปลายโต เนื้อไส้จุด การไว้ตอดี งอกเร็ว กาบใบร่วงหลุดง่าย ใบสีเขียวปนเหลือง-กว้างปานกลาง-ยาวปานกลาง-ชี้โค้ง (ใบเหี่ยวง่าย) เหมาะสมกับดินร่วน ดินร่วนทราย และดินร่วนเหนียว เหมาะสมสำหรับปลูกข้ามแล้ง ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง ต้านทานปานกลางต่อโรคกอตะไคร้ โรคแส้ดำ โรคใบจุดเหลือง โรคใบราสนิม และต้านทานปานกลางต่อหนอนเจาะลำต้น และแมลงหวี่ขาว

3

เทคโนโลยีการผลิตอ้อยของเกษตรกรรายนี้ เมื่อก่อนจะปลูกแบบยกร่อง ระยะห่างต่อร่อง 1.20 เมตร ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องการใช้เครื่องจักรในการเข้าทำงาน ทำให้รากอ้อยขาด ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอ้อยลดลง และมีปัญหาเรื่องแรงงานหายาก ค่าจ้างแรงงานสูง และต้นทุนการผลิตอ้อยก็สูงด้วย แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนระยะห่างระหว่างร่องเป็น 1.50 เมตร ปรับพื้นที่ให้ลาดเอียง เพื่อความสะดวกในการใช้เครื่องจักรในการเตรียมดินปลูก การเก็บเกี่ยว ตลอดจนสะดวกต่อการให้น้ำและระบายน้ำ การปลูกมีการไถดะ 1 ครั้ง และไถแปร 1 ครั้ง โดยไม่มีการเผาใบอ้อย เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดินและเป็นการเพิ่มปุ๋ยในดิน การปลูกแบบไม่ต้องชักร่อง ระยะปลูกระหว่างแถวห่าง 1.50 เมตร ในแต่ละแถวจะวางอ้อยเป็น 2 แถว โดยใช้รถแทรกเตอร์ปลูกเพื่อลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้อัตราส่วน 8,000 ท่อน ต่อไร่ ขณะปลูกใช้ปุ๋ย สูตร 16-8-8 อัตราส่วน 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับยาฟิโพรนิล อัตราส่วน 1 กิโลกรัม ต่อไร่ รองพื้น เมื่ออ้อยอายุได้ 3 เดือน ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 สูตร 21-0-0 อัตราส่วน 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้รถไถพรวนระหว่างร่องจำนวน 1 ครั้ง ต่อฤดูกาลปลูก การให้น้ำจะเริ่มปล่อยน้ำตั้งแต่หัวแปลงลงตามร่องอ้อยที่มีการไถพรวนและยกเป็นร่อง โดยจะให้น้ำจำนวน 3 ครั้ง ต่อฤดูกาลปลูก เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวจะใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว ไม่เผาใบอ้อย โดยจะไถกลบเพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน และเป็นการเพิ่มปุ๋ย เพิ่มธาตุอาหารให้แก่อ้อยในรุ่นต่อไป

สำหรับการจำหน่ายผลผลิตอ้อยของคุณชัยวัฒน์ จะจำหน่ายโดยการขายยกแปลง ไม่เข้าระบบโควต้าโรงงาน การขายยกแปลงมีข้อดีหลายอย่าง อาทิ สามารถกำหนดราคาขายเองได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดสรรโควต้าเข้าโรงงาน ไม่ต้องรอคิวเข้าโรงงาน ราคาอ้อยจะไม่ผันแปรไปตามคุณภาพหรือค่าความหวาน (Commercial Cane Sugar : C.C.S.) ได้รับเงินเร็ว ได้กำไรต่อไรมากกว่า ลดความเสี่ยงเรื่องความเสียหาย การขายยกแปลงจะเป็นการตกลงราคาระหว่างชาวไร่อ้อยโดยตรงกับพ่อค้าคนกลางมาตีราคาเป็นไร่ และมีการทำสัญญาซื้อขายร่วมกัน ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมา ขายไปในราคาไร่ละ 11,750 บาท ต้นทุนการผลิตต่อไร่ เป็นเงิน 5,025 บาท จึงได้กำไรต่อไร่เฉลี่ย 6,725 บาท

ต้นทุนการผลิตอ้อยต่อไร่

ค่าท่อนพันธุ์ จำนวน 8,000 ท่อน เป็นเงิน 2,800 บาท

ค่าปุ๋ยเคมี สูตร 16-8-8 จำนวน 1 กระสอบ เป็นเงิน 565 บาท

ค่าปุ๋ยเคมี สูตร 20-0-0 จำนวน 1 กระสอบ เป็นเงิน 390 บาท

ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 25 ลิตร ลิตรละ 20 บาท เป็นเงิน 500 บาท

ค่าจ้างไถพรวน ไร่ละ 350 บาท

ค่าจ้างกลบร่อง ไร่ละ 250 บาท

ค่ายาฆ่าแมลง ไร่ละ 170 บาท

รวมต้นทุนการผลิตต่อไร่ เป็นเงิน 5,025 บาท

แลกเปลี่ยนข้อมูล ถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับคุณชัยวัฒน์ ได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ (089) 817-2066