ชาวไทยภูเขา เผ่าลีซู ปลูกกาแฟ แซมแปลงอะโวกาโด้ ให้ผลตอบแทนเร็ว ลงทุนน้อย ราคาสูง ตลาดแน่นอน

ความเหมาะสมและได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศจากสภาพความเป็นภูเขาและป่า จึงเป็นโอกาสให้ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดตากหลายแห่งประสบความสำเร็จ สามารถปลูกพืช ผักหลายชนิด รวมทั้ง อะโวกาโด ได้อย่างมีคุณภาพ

การเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกอะโวกาโดแทน เนื่องจากพืชชนิดนี้มีจุดเด่นตรงให้ผลตอบแทนเร็ว ลงทุนน้อย มีราคาสูง แล้วยังมีตลาดแน่นอน จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการปลูกที่ขาดคุณภาพอาจส่งผลในทางตรงกันข้ามได้เช่นเดียวกัน

คุณธนากร โปทิกำชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สังกัดศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) ชี้ว่า แม้ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่อำเภอพบพระหลายแห่งมีการปลูกอะโวกาโดสร้างรายได้

แต่พบว่าส่วนมากเป็นพันธุ์ท้องถิ่นที่ไม่ตรงตามความต้องการของตลาด จึงทำให้ไม่ได้ราคาสูงเมื่อเทียบกับการปลูกอะโวกาโดพันธุ์การค้า แล้วนี่เองจึงเป็นเหตุผลให้นักวิชาการท่านนี้พยายามผลักดันให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากอะโวกาโดพันธุ์เดิมมาเป็นพันธุ์ทางการค้า เพื่อให้พวกเขามีส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น

คุณธนากร พาไปดูสวนของ คุณรุ่งโรจน์ เลาย้าง ที่ตำบลคีรีราษฎร์ เขาบอกว่า เกษตรกรรายนี้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีเป้าหมายในการปลูกอะโวกาโดจนประสบผลสำเร็จได้อย่างมีคุณภาพ กระทั่งเป็นที่ยอมรับของเจ้าหน้าที่เกษตร

ชาวไทยภูเขา ปลูก อะโวกาโด พันธุ์พื้นเมือง มีคุณภาพ

สวนของคุณรุ่งโรจน์ ตั้งอยู่เลขที่ 99/1 หมู่ที่ 13 ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีเนื้อที่ 15 ไร่ มีลักษณะพื้นที่ทั้งเป็นที่ราบและเนินสูง จึงทำให้คุณรุ่งโรจน์วางผังการปลูกพืชชนิดต่างๆ ที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ปลูกได้อย่างลงตัว

คุณรุ่งโรจน์ เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลีซู เข้ามายึดอาชีพทำสวนเกษตรบนที่ดินแปลงนี้ด้วยการได้รับจัดสรรจากภาครัฐให้เมื่อปี 2531 ในช่วงแรกที่มาอยู่ได้ปลูกลิ้นจี่ แล้วนำไปขายที่ตลาด ลิ้นจี่มีราคาดีมาก แต่ปลูกยากเนื่องจากอากาศไม่เหมาะสม ต่อมาปลูกมะม่วงแก้วเพิ่มอีก แต่ไม่ค่อยได้ผล เลยตัดสินใจปลูกอะโวกาโดพันธุ์พื้นเมือง โดยไปหาพันธุ์มาจากชาวบ้านละแวกนั้นที่ปลูกไว้ตามบ้าน หลังละ 1-2 ต้น ขอมาบ้าง ซื้อมาบ้าง ครั้งแรกปลูกอยู่ 20 กว่าต้น เมื่อเห็นว่าปลูกและดูแลไม่ยุ่งยาก จึงขยายพันธุ์แล้วทยอยปลูกเพิ่มอีก โดยใช้ระยะปลูก 6 คูณ 6 เมตร

คุณรุ่งโรจน์ เลาย้าง และภรรยา กับ คุณธนากร โปทิกำชัย (กลาง)
คุณรุ่งโรจน์ เลาย้าง และภรรยา กับ คุณธนากร โปทิกำชัย (กลาง)

คุณรุ่งโรจน์ ไม่เคยรู้วิธีปลูกอะโวกาโดมาก่อน เขาแสวงหาความรู้ด้วยการถามชาวบ้านบ้าง สังเกตดูบ้าง แล้วเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่เห็นว่าเป็นพืชน่าสนใจเพราะปลูกง่าย ต้นทุนน้อย และไม่เปลืองน้ำ ปุ๋ยยาไม่ต้องใช้มาก เพียงใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง พอเข้าปีที่ 2-3 จะใส่ปุ๋ยคอก ใส่ต้นละ 1-2 กระสอบ ต่อปี

เขาบอกต่ออีกว่า ในปีที่ 3-4 เริ่มมีผลผลิตเก็บขายได้ แต่เนื่องจากทยอยปลูกเป็นรุ่น เลยทำให้ได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตจะเริ่มทยอยออกนับจากเดือนพฤษภาคมไปตลอด ในรุ่นแรกที่เก็บได้ ต้นละกว่า 100 กิโลกรัม แล้วขายให้กับคนมารับซื้อในสวน ราคากิโลกรัมละ 30 บาท แล้วบอกว่าปีนี้ (2559) ขายอะโวกาโดได้ ประมาณ 50,000-60,000 บาท ส่วนปีที่แล้ว (2558) ขายได้เงินใกล้เคียงกัน

เกษตรกรรายนี้ปลูกอะโวกาโดมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ศัตรูพืชที่พบคือ แมลงเข้าทำลายต้น ส่วนอีกอย่างคือ บุ้ง มักชอบกินใบ ถ้าเป็นโรคมักเป็นเชื้อรา โดยจะพบในช่วงหน้าฝน ส่วนวิธีป้องกันคือ การบริหารจัดการสวนให้มีคุณภาพ ลดการใช้สารเคมี และใช้พืชกลุ่มสมุนไพรในการป้องกันแทน

ยึดแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงเป็นต้นแบบ

การประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคุณรุ่งโรจน์ได้ยึดแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่-เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นกรอบในการดำรงชีพ โดยใช้แนวทางการปลูกพืชผสมผสาน ด้วยความคิดว่า “ปลูกพืชทุกอย่างที่กิน แล้วกินพืชทุกอย่างที่ปลูก ถ้ามีเหลือจึงแบ่งปัน”

จึงทำให้ คุณรุ่งโรจน์ มีแนวคิดที่จะหาพืชอื่นมาปลูกด้วยการนำพันธุ์กาแฟอราบิก้าที่ได้มาจากสำนักงานเกษตรดอยมูเซอ ซึ่งในครั้งแรกปลูกบริเวณรอบบ้านก่อน เมื่อเห็นว่าปลูกสำเร็จจึงค่อยขยายพันธุ์ แล้วนำไปปลูกระหว่างต้นอะโวกาโด ระยะปลูกระหว่างต้น 1 เมตร ระหว่างแถว 2 เมตร กาแฟที่ปลูกต้นที่แก่สุดมีอายุ 3 ปี ยังเก็บผลผลิตได้ไม่เต็มที่

สำหรับต้นกาแฟรุ่นใหม่จะปลูกทุกปี จนในเวลานี้มีต้นกาแฟจำนวนกว่า 2,000 ต้น ปลูกไว้หลายรุ่น ปลูกทุกปี ทั้งนี้ผลผลิตรุ่นแรกเก็บได้ประมาณ 400-500 กิโลกรัม ส่งไปเข้าโรงงานกาแฟดอยช้าง ที่เชียงราย ในราคาขาย กิโลกรัมละ 110 บาท

av-2-%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%94%e0%b8%b3
ต้นกระชายดำ
av-3-%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%b8%e0%b9%8c%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b8%84%e0%b8%84%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b8%b5
ต้นกล้าพันธุ์บัคคาเนียร์ที่เพาะจากถุง ปลูกมาได้สัก 2 ปี
av-5-%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b8%b2
ต้นข่า

av-1-%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b9%81%e0%b8%9f%e0%b8%a3%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%81นอกจากนั้น ยังปลูกพืชสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นกระชายดำและข่า คุณรุ่งโรจน์ ชี้ว่าพืชสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด ไม่ได้ปลูกเป็นแปลง แต่จะปลูกตามจุดต่างๆ รอบสวน แต่เมื่อรวมพื้นที่แล้วน่าจะประมาณ ชนิดละ 1 ไร่ ทั้งนี้ พบว่ากระชายดำมีราคาขายในตลาด กิโลกรัมละ 100 กว่าบาท เหตุผลที่ปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพร เพราะเป็นคนที่ชอบพืชเหล่านี้ เพื่อนำมาใช้ประกอบอาหาร แล้วถ้ามีเหลือจึงแจกจ่ายเพื่อนบ้าน

ในด้านแหล่งน้ำ คุณรุ่งโรจน์ ได้สร้างบ่อซีเมนต์เพื่อกักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่ไหลมาจากภูเขา จากนั้นได้ปล่อยให้น้ำบางส่วนไหลลงบ่อดินที่ขุดไว้ ขณะเดียวกันจัดทำเป็นระบบสปริงเกลอร์ไว้รดพันธุ์ไม้ต่างๆ ด้วย ด้วยเหตุนี้เองในสวนของคุณรุ่งโรจน์จึงหมดปัญหาการขาดแคลนน้ำ มีเพียงบางคราว อย่างเมื่อ ปี 2558 ที่มีน้ำน้อยกว่าปกติเท่านั้น

แหล่งน้ำสำหรับไว้ใช้ในสวน
แหล่งน้ำสำหรับไว้ใช้ในสวน

ด้วยวัย 63 ปี ดังนั้น งานในสวนทั้งหมดจึงต้องว่าจ้างแรงงานเข้ามาทำเฉพาะเรื่องที่จำเป็น คุณรุ่งโรจน์ บอกว่าทุกวันนี้มีรายจ่ายประจำ ได้แก่ ค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน และเบ็ดเตล็ด รวมทั้งหมดแล้วปีละประมาณ 20,000-30,000 บาท ส่วนรายได้ที่เกิดจากการทำสวนเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ได้ประมาณปีละ 50,000 กว่าบาท จะเก็บไว้ลงทุน ทั้งนี้รายได้หลักคือ อะโวกาโด เป็นการขายผลและต้นกล้า สำหรับเงินที่นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ได้จากเงินเดือนลูก

 

ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง ให้ต้นพันธุ์มาปลูก ใช้ขยายพันธุ์ในอนาคต                 

การปลูกพืชไม้ผลอย่างมีคุณภาพจนประสบความสำเร็จของคุณรุ่งโรจน์ จึงทำให้คุณธนากรเลือกสวนของเขาสำหรับนำต้นพันธุ์อะโวกาโดทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นแฮสลูกผสม ปิเตอร์สัน หรือบัคคาเนียร์ ที่เพาะในถุงมาปลูก โดยตั้งใจว่าในอนาคตต้นพันธุ์เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขยายพันธุ์ต่อไป

คุณธนากร บอกว่า คุณรุ่งโรจน์ นับเป็นเกษตรกรที่มีความขยัน รับฟังการแนะนำ ยอมรับและเปิดกว้างในสิ่งใหม่ๆ ดังนั้น ที่ผ่านมาผลผลิตหลายชนิดในสวนของเขาจึงประสบความสำเร็จและมีคุณภาพดีมาก

ผลกาแฟรอแก่จัด
ผลกาแฟรอแก่จัด

“ขณะเดียวกันยังเป็นแปลงปลูกอะโวกาโดพันธุ์พื้นเมืองได้จำนวนมากแล้วมีคุณภาพ ดังนั้น จึงเป็นจุดแข็งที่เหมาะกับการต่อยอดเพื่อปลูกพันธุ์ทางการค้าต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงเลือกสวนของคุณรุ่งโรจน์เพื่อนำต้นกล้าพันธุ์ทางการค้าบางชนิดมาปลูกเพื่อให้เติบโตเป็นต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพในอนาคต”

ในท้ายนี้ คุณรุ่งโรจน์ บอกว่า การยึดอาชีพเกษตรกรรมควรปลูกหลายอย่างรวมกัน อย่าปลูกเพียง 1-2 อย่าง อีกทั้งควรเป็นพืชที่ใช้กินได้และขายได้ด้วย เพราะไม่ได้ต้องการเป็นสวนสร้างเงินอย่างเดียว ควรเป็นสวนที่ใช้เลี้ยงชีวิตครอบครัวด้วย

“คราวใดที่เกิดความเดือดร้อน ข้าวยากหมากแพง ยังสามารถนำสิ่งที่ปลูกเหล่านี้มาบริโภคแทนการหาซื้อที่ลำบากแล้วยังมีราคาแพงด้วย ควรทำเกษตรกรรมแบบอย่างที่ในหลวงท่านทรงสอนไว้ ด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะประสบด้วยตัวเองแล้วว่าเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง”

สอบถามเพิ่มเติมเรื่องอะโวกาโดได้ที่ คุณรุ่งโรจน์ เลาย้าง โทรศัพท์ (092) 379-5327