แก่นตะวัน สมุนไพรต่างถิ่น 2 เกษตรกรเมืองนครปฐม เปิด “บ้านไร่ทุ่งแก่นตะวัน” ให้ศึกษา

แก่นตะวัน เมื่อเอ่ยชื่อนี้หลายๆ คนที่สนใจเรื่องของพืชสมุนไพรคงอาจจะทราบมาบ้างว่า “แก่นตะวัน” เป็นอย่างไร มีสรรพคุณอย่างไร แต่กับอีกหลายๆ คนที่มักจะบอกว่าพอจะได้ยินชื่อของ แก่นตะวัน มาบ้างแต่ในรายละเอียดลึกๆ แล้วยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร

แก่นตะวัน เป็นพืชต่างถิ่น ต้นกำเนิดอยู่แถวตอนใต้ของประเทศแคนาดา และตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาพื้นถิ่นที่อยู่จะมีภูมิอากาศค่อนข้างเย็น แต่แก่นตะวันก็สามารถเจริญเติบโตในเขตร้อนได้ เป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศมาก แม้แต่ในเขตกึ่งหนาวอย่างทวีปยุโรปก็สามารถปลูกแก่นตะวันได้ ฉะนั้น แก่นตะวัน ฝรั่งต่างชาติทั่วยุโรปและอเมริการู้จักกันมานาน

คุณประพันธ์ และ คุณมาโนตร สองเกษตรกรที่ช่วยกันปลูกแก่นตะวัน

แก่นตะวัน มีชื่อเรียกขานหลายชื่อคนไทยเรียก ทานตะวันหัว หรือ แห้วบัวตอง หรือ แก่นตะวัน ฝรั่งเรียก ซันโช้ก (Sunchoke) หรือ อาร์ติโช้ก (artichoke) ชื่อภาษาอังกฤษว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโช้ก (Jerusalem artichoke) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Helianthus tuberosus L. เป็นพืชดอกในตระกูลทานตะวัน แต่มีดอกขนาดเล็กกว่า มีหัวใต้ดินคล้ายๆ ขิง ข่า ใช้เป็นที่เก็บสะสมอาหาร ลักษณะต้นของแก่นตะวันจะสูงประมาณ 1.5-2 เมตร มีขนตามกิ่งและใบ ดอกแก่นตะวันมีสีเหลืองสดใสคล้ายดอกทานตะวัน รากใช้เป็นที่สะสมอาหารเรียกว่า “หัว” อยู่ใต้ดิน

ที่หัวของแก่นตะวันมีสรรพคุณเชิงสมุนไพร จะมีสารอินนูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นน้ำตาลเชิงซ้อนโมเลกุลขนาดกลาง (Fructooligosaecharide หรือ FOS) เป็นพืชพรีไบโอติก (Prebiolic) ที่มีเส้นใยสูงมาก หากรับประทานเข้าไป สารดังกล่าวจะไปช่วยดักจับยึดไขมันในเส้นเลือดไม่ว่าจะเป็นคลอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ หรือ LDL

“แก่นตะวัน” ถูกจัดเป็นพืชสมุนไพรที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย จากการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์พบว่าแก่นตะวันจะช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน และความดันโลหิตได้

ดอกแก่นตะวัน

คุณมาโนตร วิวัชจรัลวงศ์ และ คุณประพันธ์ อินทรเชียรศิริ สองเกษตรกรคนเก่งแห่งไร่บ้านทุ่งแก่นตะวัน ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ร่วมกันให้ข้อมูลว่า แก่นตะวันเป็นพืชที่หลายประเทศปลูกกันมานานแล้ว แต่สำหรับในประเทศไทยแก่นตะวันยังเป็นพืชค่อนข้างใหม่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยราวปี พ.ศ. 2539 ที่โครงการแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นหลายคนยังไม่รู้ว่าวิถีวงจรการเจริญเติบโตของแก่นตะวันนั้นเป็นอย่างไร ชอบลักษณะอากาศแบบไหน นำเอามาให้คนคอยปลูกกันแต่ไม่สำเร็จล้มเลิกการปลูกกันไป

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2452 ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน จะทำเรื่องพลังงานทดแทน มีการศึกษาเรื่องพืชพลังงาน เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สบู่ดำ และพืชอื่นๆ ในการนี้มีอาร์ติโช้ก (artichoke)หรือแก่นตะวันรวมอยู่ด้วย จากการศึกษาพบว่า “อาร์ติโช้ก” เป็นพืชที่ให้พลังงานมากที่สุด “อาร์ติโช้ก” 1 ต้น สามารถผลิตเอทานอลได้ถึง 100 ลิตร และเมื่อศึกษาเชิงลึกยังพบอีกว่า นอกจากจะผลิตเป็นพืชพลังงานได้แล้ว “อาร์ติโช้ก” ยังช่วยนำมาใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพได้อีก “อาร์ติโช้ก” เป็นพืชสมุนไพรที่ดีต่อร่างกาย ดีกว่านำไปทำพลังงานทดแทนเพราะมีราคาต้นทุนที่สูงในที่สุดนักวิชาการจึงได้หันมาศึกษา “อาร์ติโช้ก” อย่างจริงจัง เมื่อศึกษาวิจัยเชิงลึกก็พบว่าบริเวณหัวของแก่นตะวันจะมีสารอินนูลินที่สามารถไปยับยั้งน้ำตาลในเลือดได้

ต้น กำลังติดดอกสวยงาม

คุณมาโนตร  กล่าวอีกว่า ถ้าคนเป็นเบาหวานหากได้รับประทานแก่นตะวัน จะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง ส่วนความดันไม่ว่าจะเป็นความดันสูงหรือต่ำ ก็จะปรับให้อยู่ในระดับปกติ และยังสามารถรักษาเรื่องไขมันในร่างกายได้อีก แก่นตะวันจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับคนที่เป็นภูมิแพ้ มีผลวิจัยในเรื่องนี้ออกมาด้วย

ในช่วง 2 ปีแรก หลังผลการวิจัยออกมาแล้ว พบว่าเกษตรกรให้ความสนใจกันมากมีการนำแก่นตะวันไปปลูกทั้งที่สระบุรี ลพบุรี และเพชรบูรณ์ แต่เมื่อปลูกกันเยอะก็มีปัญหาเรื่องการตลาดตามมา คือไม่มีตลาดรองรับ ไม่มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ดังนั้นคนที่ปลูกแก่นตะวันจะต้องทำตลาดกันเอง ทำให้เกษตรกรค่อยๆ เลิกปลูกกันไป รัฐบาลก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง แม้ในเชิงพืชพลังงานก็ตาม แต่หากจะขายแก่นตะวันในช่วงนี้ โอกาสขายเป็นพืชสมุนไพรจะมีมากกว่า

คุณมาโนตร กล่าวต่อว่า แก่นตะวันสามารถปลูกต่อเนื่องกันได้ตลอด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดีก็จะสามารถเก็บผลผลิตแก่นตะวันขายต่อเนื่องกันได้ดีกว่ามันสำปะหลัง และอ้อยที่ปีหนึ่งเก็บผลผลิตได้ครั้งเดียว หากเทียบในอัตราส่วนที่เท่ากัน

ทรงต้นเป็นพุ่ม

คุณประพันธ์ กล่าวถึงการปลูกและผลผลิตของแก่นตะวันว่า แก่นตะวันเป็นพืชที่มาจากเมืองหนาว ในต่างประเทศมีชื่อเรียกทั้ง อาร์ติโช้ก ซันรูท เอิร์ทแอ๊ปเปิล ฯลฯ แล้วแต่ว่าประเทศไหนจะเรียกกันอย่างไร สำหรับประเทศไทย รองศาสตราจารย์ สนั่น จอกรอย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านวิจัยแก่นตะวันเป็นรุ่นแรกๆ ท่านเห็นลักษณะของดอกแก่นตะวันคล้ายกับดอกบัวตองที่มีสีเหลือง ดอกเป็นกลีบแฉก สีเหลืองเหมือนทานตะวันมีหัวใต้ดินทนมากสามารถปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีท่านก็เลยเรียกชื่อว่า “แก่นตะวัน”

ลักษณะต้นเหมือนกับต้นเสือหมอบ ลำต้นสูงประมาณ 2 เมตร ลักษณะใบคล้ายใบต้นเสือหมอบ ลำต้นใหญ่คล้ายทานตะวัน แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นทรงพุ่มกว้างประมาณ 1 เมตร ดอกสีเหลือง ไม่มีผลเมล็ดจากดอกไม่สามารถนำมาปลูกได้ ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายช็อกโกแลต หัวแตกใต้ดินสามารถแตกหัวต้นหนึ่งได้ 5 ก.ก. แต่บางต้นก็ไม่ถึงขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2 ก.ก. ต่อต้น

“ผมได้พันธุ์มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรก็นำมาปลูกที่นครปฐม”

ลักษณะใบ

คุณประพันธ์ กล่าวและว่า เนื่องจากแก่นตะวันเป็นพืชเมืองหนาวแต่สามารถปลูกได้ดีในดินและสภาพอากาศบ้านเราจุดหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึง ก็คือเรื่องของหัวพันธุ์แก่นตะวันจะต้องแช่เย็นให้อยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำก่อนลงดินปลูก คือรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในตู้เย็นช่องธรรมดาไม่ต้องแช่แข็งไว้ก่อน

หากเกษตรกรจะปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ควรไถปรับสภาพดินก่อน ตีดินให้ร่วนซุย ดินที่เหมาะกับการปลูกแก่นตะวันก็คือดินร่วนปนทราย หลังตีดินดีแล้วจึงยกร่อง หน้าร่องประมาณ 1 ฟุต สูง 50 เซนติเมตร เล็กกว่าขนาดร่องอ้อย จากนั้นก็ต้องเตรียมระบบน้ำใช้ระบบสปริงเกลอร์ดีที่สุด พื้นที่ไหนไม่มีน้ำหรือน้ำหายากไม่แนะนำให้ปลูก ยกร่องแล้วรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นก็ตีหลุมปลูกกว้างพอสมควรระยะห่างต่อหลุมประมาณ 50 เซนติเมตร ให้ใส่ปุ๋ยคอกลงไปในหลุมปลูก แล้วจึงนำหัวพันธุ์ลงปลูก วิธีการคัดเอาหัวพันธุ์ลงปลูกก็คือ เอาหัวที่คัดไว้แล้วใส่ตู้เย็น ดูจนออกตาปริ่มๆ เห็นเป็นสีม่วงจึงเอาลงปลูก 1 ไร่ ใช้หัวพันธุ์ประมาณ 30 กิโลกรัม

ใส่ถุงชั่งน้ำหนัก ส่งขาย

นำหัวพันธุ์ลงหลุมปลูกกลบดินบางๆ แล้วรดน้ำตาม หรือจะใช้วิธีเพาะหัวพันธุ์ในถุงชำก่อน แล้วจึงนำกล้าพันธุ์ลงปลูกก็ได้ วิธีนี้จะได้ต้นแก่นตะวันแน่นอน ไม่ต้องมาคอยปลูกซ่อมในแปลงหากหัวแก่นตะวันไม่งอกหรืองอกไม่ดี

คุณประพันธ์ บอกว่า รดน้ำเช้าเย็นพอชุ่ม จนกระทั่งต้นโตประมาณ 1 ฟุต ระยะนี้จะมีหนอนกระทู้ หนอนหนังเหนียวมาเยี่ยมเยือนบ้าง อย่าใช้ยาฉีดให้ใช้ตามเก็บเอา ใช้ยาฉีดไม่ได้เพราะจะมีสารไม่พึงประสงค์ตกค้างลงไปที่หัวได้

“หมั่นรดน้ำคอยดูแลใกล้ชิด เห็นหนอนก็ใช้มือเก็บออก แมลงไม่ค่อยมารบกวนเท่าใด เพราะใบและต้นแก่นตะวันมีขนบางๆ แมลงไม่ชอบ”

คุณประพันธ์ กล่าว่า ควรหมั่นรดน้ำสม่ำเสมอเมื่อต้นแตกพุ่มประมาณ 2 เดือน เริ่มออกดอก แก่นตะวันขึ้นง่าย โตง่าย ไม่ตายง่ายๆ ดอกจะบานอยู่ 2 อาทิตย์ ก็เริ่มโรยแล้วต้นก็ค่อยๆ แห้ง ได้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง ดูจนต้นโทรมจึงจะเก็บหัวที่ใต้ดินได้ ขุดเอาหัวขึ้นมานำไปใส่ไว้ในตู้เย็นช่องปกติห้ามแช่แข็ง ถ้าเกษตรกรปลูกในพื้นที่มากๆ จะต้องทำห้องเย็นไว้รองรับก่อน พอเก็บเอาหัวขึ้นมาก็ต้องเข้าห้องเย็นรักษาอุณหภูมิกันเลย หากทิ้งไว้ 4-5 วัน หัวจะแห้งคุณภาพจะลดลง เวลาจะใช้จึงจะเอาออกมาจากห้องเย็น เมื่อถึงมือผู้บริโภคซื้อไปก็ต้องเอาไปใส่ไว้ในตู้เย็นเช่นกัน มิเช่นนั้นหัวจะแห้ง

หน้าป้ายไร่บ้านทุ่งแก่นตะวัน

หัวที่ขุดขึ้นมาสามารถนำมาเป็นพันธุ์ปลูกได้ เมื่อขุดหัวหมดแล้วก็ให้ไถทำร่องปลูกกันใหม่ แก่นตะวันไม่ชอบน้ำแฉะมาก ฝนมากไม่ดี แล้งจัดไม่ดี ฉะนั้น ควรเลือกเวลาปลูกที่เหมาะสมไม่ร้อนจัดและฝนตกชุกเกินไป ถ้าลงปลูกปลายฝนต้นหนาวหรือกลางหนาวจะดีมาก ภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้แก่นตะวันเจริญเติบโตได้ดี

คุณประพันธ์ กล่าวอีกว่า หัวแก่นตะวันสดพอขุดขึ้นมาก็นำมาล้างให้สะอาด หากจะทานสดก็ขูดบางๆ เอาเปลือกนอกออกบ้าง จะฝานบางๆ ก่อนหรือกัดทานได้เลย หัวสดรสชาติออกมัน กรอบ ไม่มีกลิ่นแปลกๆ มากวนใจ ทานง่าย ทานเป็นผักแกล้มน้ำพริกกะปิ, น้ำพริกต่างๆ, เต้าเจียวหลน หรือปลาร้าหลนได้ทั้งนั้น นำไปทำขนม ทำอาหาร ต้มใส่หัวไชเท้ากระดูกหมูอร่อยมาก เอาไปนึ่งพอสุกเนื้อจะนิ่มซุยนำไปทำขนมบวชชีได้ สรรพคุณแก่นตะวันมีมาก

หัวแก่นตะวันใต้ดิน

ทั้งคุณมาโนตร และคุณประพันธ์ บอกว่า ต้องมาเรียนรู้กัน สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น และสิบตาเห็นก็ไม่เท่ากับมาลองชิมดู พร้อมทั้งศึกษาสรรพคุณของแก่นตะวันแล้วท่านจะรู้ว่าดีอย่างไร

สนใจแวะมาได้ที่ไร่บ้านทุ่งแก่นตะวัน อยู่ทางเข้าวัดทุ่งรี จากแยกถนนมาลัยแมนมาตามเส้นทางนครปฐม-กำแพงแสน กม.ที่ 9 จะเจอวัดทุ่งรีอยู่ขวามือ ให้กลับรถแล้วเข้าทางวัดทุ่งรี ตรงตลอดไม่ต้องเลี้ยวซ้ายจะเจอไร่บ้านทุ่งแก่นตะวัน หาไม่ยาก หรือจะพูดคุยกันก่อนก็ได้ที่ 086-767-2389, 081-318-1119 ทุกวันไม่มีหยุดราชการ เชิญครับ