วิจิตรงานศิลปะการแทงหยวก สถาปัตยกรรมไทยย่อส่วนในงานพระเมรุ

บ่ายวันที่ 19 ตุลาคม ฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เดินทางไปที่สวนกล้วยของคุณตาเสงี่ยม ทรัพย์ศิลป์ ที่บ้านเลขที่ 92 หมู่ 4 ต.หนองกระเจ็ด อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี เป็นประธานในการประกอบพิธีบวงสรวง พร้อมเครื่องขมา ในพิธีตัดต้นกล้วยตานีเพื่อนำไปใช้แทงหยวกและเป็นเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

โดยมี วิริยะ สุสุทธิ หัวหน้าคณะจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานจังหวัดเพชรบุรี “ครอบครัวสุสุทธิ” ช่างแทงหยวกจังหวัดเพชรบุรี และชาวบ้านหนองกระเจ็ดกว่า 50 คนร่วมประกอบพิธี

เมื่อได้เวลา ผู้ว่าฯเมืองเพชรได้ประกอบพิธีบวงสรวงพร้อมเครื่องขมาในพิธีตัดต้นกล้วยตานี ใช้เลื่อยตัดต้นกล้วยเอกโดยมีเจ้าหน้าที่คอยประคองขณะต้นล้มเอน พร้อมนำใบตองสดวางไว้รองรับต้นกล้วยก่อนจะมอบให้เจ้าหน้าที่และประชาชนร่วมตัดต้นกล้วยตานีต้นอื่นๆ ที่ได้คัดเลือกไว้ รวม 40 ต้น พร้อมกันด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อไม่ให้ผิวของต้นกล้วยช้ำ

จากนั้นจึงร่วมกับชาวบ้านทำการขนย้ายต้นกล้วยตานีใส่รถบรรทุกทหารจาก มทบ.15 ที่จัดเตรียมไว้ เพื่อนำไปพักไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 15 อ.เมือง จ.เพชรบุรี ก่อนเตรียมเคลื่อนย้ายเข้ากรุงเทพฯ ตามลำดับ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จฯงานบวงสรวงเครื่องสดประดับพระจิตกาธานเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่โรงโขน ภายในพระบรมมหาราชวัง และทรงเจิมเทวดาประดับเสาเรือนไฟ

คุณตาเสงี่ยมในวัย 80 ปี เล่าว่า ได้มีโอกาสนำกล้วยตานีที่ปลูกไว้ถวายงานในพระราชพิธีมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในงานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ครั้งที่ 2 ในงานสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

“เมื่อครั้งที่รับทราบถึงการสวรรคตเสียใจมากร้องไห้จนไม่มีน้ำตาจะไหล ต่อมาเมื่อทราบว่าได้รับคัดเลือกให้นำกล้วยตานีไปใช้ในงานพระราชพิธีก็พยายามบำรุงรักษาดูแลอย่างเต็มความสามารถเพื่อสนองพระบาทรับใช้พระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย”

ฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผวจ.เพชรบุรี ทำพิธีขอขมาก่อนตัดต้นกล้วยตานี

ด้าน วิริยะ ช่างแทงหยวกและหัวหน้าคณะจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานจังหวัดเพชรบุรี บอกว่า กล้วยตานีของสวนลุงเสงี่ยมเป็นกล้วยตานีที่เรียกว่า “กล้วยหยวกหลังฝน” หรือ “กล้วยหยวกฤดูหนาว” กาบกล้วยมีรังผึ้งที่เต็มไปด้วยความชุ่มชื้นสมบูรณ์ แห้งช้ากว่าปกติ

คณะช่างแทงหยวกจังหวัดเพชรบุรีได้คัดเลือกกล้วยตานีที่มีความสมบูรณ์พร้อม ความยาวประมาณ 4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นกว้างประมาณ 14 นิ้ว จำนวน 40 ต้น เพื่อนำไปใช้ในงานพระราชพิธีครั้งนี้

“คณะช่างแทงหยวกจังหวัดเพชรบุรีเป็นคณะช่างแทงหยวกที่ได้รับการคัดเลือกมากที่สุดจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ครอบครัวสุสุทธิ จำนวน 9 คน และทีมช่างอีกจำนวนหนึ่ง โดยได้รับมอบหมายหน้าที่แกะสลักแทงหยวกเครื่องสดประดับพระจิตกาธานชั้นเรือนยอด 9 ชั้น ซึ่งอยู่ชั้นบนสุดในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผมและคณะพร้อมที่จะทำงานสนองใต้เบื้องพระยุคลบาท แม้งานนี้จะต้องทำด้วยความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้ง แต่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำอย่างดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด อย่างสุดใจ สุดแรง เพื่อน้อมเกล้าฯส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” วิริยะบอก

กล้วยตานีจากเพชรบุรี 40 ต้น สำหรับงานแทงหยวกประดับพระจิตกาธาน

ทั้งนี้ ต้นกล้วยทั้ง 40 ต้นจากเมืองเพชรจะเคลื่อนย้ายไปสมทบกับต้นกล้วยจากจันทบุรี 50 ต้น จากจังหวัดอ่างทอง 9 ต้น จากจังหวัดนนทบุรี 9 ต้น รวมทั้งสิ้น 108 ต้น โดยมีพิธีไหว้ครูช่างแทงหยวกในวันที่ 22 ตุลาคม ที่บริเวณโรงโขน ภายในพระบรมมหาราชวัง

หลังพิธีทั้งช่างหลวงและช่างพื้นบ้านจาก 4 ภูมิภาค จะแยกย้ายกันไปแทงลายตามที่ได้รับโจทย์มา และทั้งหมดจะต้องเสร็จสิ้นภายในคืนวันที่ 24 ตุลาคม เพื่อว่าจะนำขึ้นประดับพระจิตกาธานในวันรุ่งขึ้นตั้งแต่ 05.30 น.

สําหรับ “งานแทงหยวก” นับเป็นส่วนหนึ่งของงานเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัวแทนนายช่างแทงหยวกจาก 4 ภูมิภาค เข้าถวายงานร่วมกับช่างหลวง นอกจากความคมของเครื่องมือ สิ่งสำคัญยิ่งยวดคือ ความชำนาญที่ต้องอาศัยความแม่นยำ ฉับไว จำหลักเป็นลวดลาย

ตัวอย่างลวดลายงานแทงหยวกประดับพระจิตกาธาน

ในส่วนของรูปแบบงานแทงหยวกนั้น บุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ สำนักพระราชวัง และอาจารย์โรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย ผู้ดูแลการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน บอกว่า เป็นการสืบทอดตามธรรมเนียมจารีตประเพณีแต่โบราณ อ้างอิงจากภาพถ่ายโบราณที่เก่าที่สุดคือ ภาพพระจิตกาธานในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากที่ผ่านมาเราจะได้เห็นเฉพาะในลำดับชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเท่านั้น ซึ่งในครั้งนี้เป็นลำดับชั้นอิสริยยศชั้นพระมหากษัตริย์ ซึ่งสูงสุด สังเกตว่าพระจิตกาธานเป็นทรงบุษบก เรือนยอด 9 ชั้น และบนยอดสุดเป็น “พรหมพักตร์” แกะสลักจากไม้จันทน์

นอกจากนี้ยัง “มีหลักฐานเป็นแผ่นพิมพ์เขียว เขียนอธิบายเป็นฝีพระหัตถ์ของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เก็บอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อธิบายเกี่ยวกับพระจิตกาธานในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า มีมะละกอดิบ ต้นกล้วย แทงหยวก ใช้แกะสลักเป็นดอกเป็นดวง เราก็สืบค้นได้จากตรงนี้

และอีกงานคือ การถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 แต่อิสริยยศนั้นต่างกัน เราก็เริ่มศึกษาและผนวกออกมาพบว่า หยวกราชสำนักใช้พิมพ์ทองเหลืองกดลงไปในเปลือกมะละกอ แล้วซ้อนชั้นขึ้นมา เรียกว่า‘ลายหยวกถม’ เป็นคำอรรถาธิบายที่ชัดเจนที่เราได้ดำเนินและปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ไม่ได้เผยแพร่

งานนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่เคยเห็นไม่เคยสัมผัสว่า พิมพ์โบราณที่เราได้ทำขึ้นมาและใช้เฉพาะในงานพระบรมศพเท่านั้น จะไม่มีการแกะเป็นดอกเป็นดวงเหมือนงานศพทั่วไป ใช้การกดพิมพ์อย่างเดียว”

ลายหยวกถม ใช้การกดพิมพ์เป็นดอกดวง

รูปแบบของลวดลายหยวกนั้น อาจารย์บุญชัยบอกว่า เป็นการประชุมร่วมกันว่าจะต้องดำเนินการโดยช่างแทงหยวก บูรณาการร่วมกันระหว่างช่างหลวงกับช่างพื้นถิ่น เพื่อให้ลวดลายสมพระเกียรติที่สุด ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีที่สุด

สำหรับงานแทงหยวกที่ใช้ประดับบนพระจิตกาธานนั้น ในส่วนของหลังคาเรือนยอดพระจิตกาธาน ประดับด้วยการร้อยกรองดอกไม้สดเป็นตาข่ายทุกชั้น ขอบปิดด้วยลวดลายแทงหยวก เรียกว่า“รัดเกล้า” สาบลายช่องกระจกด้วยกระดาษทองอังกฤษ ประดับลวดลายดอกประจำยามที่ทำจากเปลือกมะละกอดิบ ซ้อนชั้นเป็นดอกดวง ที่มุมชั้นของยอดแต่ละชั้นจะประดับด้วย กระจังทิศ กระจังเจิม ประดิษฐ์จากกาบกล้วยตานี สาบกระดาษทอง

ในส่วนของ “ชั้นรัดเกล้า” ลวดลายเป็นลายกระจัง กับลายเฟื่อง คือถอดแบบมาจากรูปถ่ายเก่า ซึ่งงานที่ผ่านๆ มา จะไม่ได้ใช้ลายแบบนี้ นี่เป็นลายที่ใช้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น นี่เป็นครั้งแรก ถอดแบบมาจากรูปถ่ายจากหอจดหมายเหตุ ซึ่งเราจะไม่ได้เห็นทั่วไป เป็นสถาปัตยกรรมไทยย่อส่วน และเปลี่ยนรูปแบบ โดยบริเวณรองพระหีบ เป็น “ลายบัวจงกล” เป็นลายกลีบบัวจงกลซ้อนกาบลาย 5 ชั้น

ขณะที่เสาเล็กชั้นเรือนฟืนสำหรับวางท่อนฟืนไม้จันทน์ ประดับด้วยหยวกแทงลายเถาไขว้โดยมีเลขเก้าไทย (๙) อยู่ในวงลายเถา ซึ่งออกแบบเป็นพิเศษเป็นเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งจะใช้เฉพาะพระองค์องค์เดียว จึงออกแบบมาเป็น “ลายเถาไขว้ มีเลข ๙ อยู่ตรงกลาง”

ลายเถาไขว้มีเลข ๙ ตรงกลาง

นอกจากนี้ ยังมีการประดิษฐ์เทวดา ประดับชั้นเรือนฟืน ซึ่งแต่เดิม ตามโบราณราชประเพณีไม่มี เพราะลักษณะองค์พระจิตกาธานที่มีความสูงใหญ่ จึงระดมความคิดว่าทำอย่างไร จะปิดช่องว่างได้ ส่งให้องค์พระจิตกาธานมีความสง่า  เพิ่มความวิจิตรพิสดารเข้าไป  จึงเป็นเทวดาชั้นพรหม 8 องค์ ประดับหน้าเสาทั้งหมด เพื่อเป็นการน้อมฯ ถวายพระเกียรติอย่างสูงสุด