คูน ตุน ทูน ผักเป็นยาน่าสนใจ

เคยร่ายยาวเรื่องบอน พืชสารพัดประโยชน์ โดยเฉพาะการใช้ทำเป็นอาหารงานใหญ่ในชนบท ประหยัดค่าวัตถุดิบ ทำอาหารเลี้ยงแขกมากโข เพราะหาได้ตามธรรมชาติ และยังได้พาดพิงถึงพืชในตระกูลเรียงพี่เรียงน้องกับบอนอีกชนิด ก็คือ “คูน หรือ ตุน หรือ ทูน”

ถึงแม้จะเป็นพืชที่ชาวชนบทรู้จักกันดี แต่โทษที เวลานี้ชาวเมืองต่างก็หันมานิยมชมชอบที่จะนำมาบริโภคประกอบเป็นอาหาร เป็นผักสด ผักแกล้ม ก็เลยเกรงว่าจะเลือกต้นผิด กลายเป็นพิษภัยอันตรายแก่ร่างกายได้ จึงต้องแยกแยะข้อแตกต่างให้รู้จักกันให้ถ่องแท้ แน่นอน เป็นประโยชน์ต่อเรา

คูน ตุน ทูน เป็นพืชวงศ์เดียวกับเผือก บอน คือ วงศ์ ARACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Colocasia gigantean Hook.f หรืออีกชื่อเรียก Colocasia indica Hoss.f มีชื่อเรียกในท้องถิ่นต่างๆ ไม่เหมือนกัน ดังเช่นชื่อที่จั่วหัวเรื่อง ภาคกลาง ภาคอีสาน เรียก คูน หรือ ทูน ภาคเหนือ เรียก ตูน หรือ ตุน ภาคใต้ เรียก ออดิบ อ้อดิบ หรือ เอาะดิบ หรือ ออกดิบ

แถบเมืองกาญจนบุรี เรียก กระดาดขาว ชาวชุมพร เรียก กะเอาะขาว คนประจวบคีรีขันธ์ เรียก บอน พืชชนิดนี้พบมากทางภาคเหนือ อีสาน ตามลำห้วย หนอง คลอง บึง และมีนำมาปลูกที่สวนหลังบ้าน ชอบที่ชุ่มชื้นที่มีน้ำเพียงพอ จะเจริญเติบโตแตกหน่อแตกกองอกงามตลอดปี ถ้าไม่ค่อยแตกหน่อ ก้านที่จะเก็บมาทำอาหารจะลีบ เล็ก เพราะอัดกันแน่นอยู่ด้านบนของหัว การขยายพันธุ์โดยแยกหน่อไปปลูกแพร่ขยายติดง่าย

คูน ตุน ทูน เป็นพืชล้มลุก มีหัวใต้ดิน อายุหลายปี ก้านใบแทงออกจากหัว ก้านสีเขียว เปลือกมีผงแป้งสีขาวเคลือบผิว มองเห็นเป็นก้านสีขาวนวล เนื้อก้านใบ คือส่วนหลักที่นำไปเป็นอาหาร เนื้อกรอบ อวบน้ำ มีรูอากาศแทรกมากมาย ใบคูนเป็นรูปหอกแบนรี ปลายใบมน ฐานใบเว้า สีเขียวอ่อน ขนาดใบใหญ่ กว้าง 16-17 นิ้ว ยาว 15-19 ใบอ่อนก็เป็นอีกส่วนที่นิยมนำไปเป็นอาหาร

สีแป้งขาวที่พรมเคลือบที่ก้าน และใบ เป็นข้อสังเกตข้อแตกต่างระหว่าง บอน กับ คูน ใบคูนจะมองเห็นเด่นชัด สีโปร่งขาวกระจ่าง ดูสะอาดนวลตา ใบเป็นมันมากกว่าใบบอน คูน หรือ ตุน หรือ ทูน มี 2 ชนิด คือ คูนขาว และ คูนดำ ส่วนใหญ่นำคูนขาวมาบริโภค ส่วนคูนดำนำไปต้มเลี้ยงหมู

สันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อเรียกพืชชนิดนี้ มีความน่าจะเชื่อได้ว่า แต่เดิมคนทางเหนือเรียกว่า “ตุน” หมายถึงการสะสมทรัพย์สิน หรือกักไว้ และออกสำเนียงหวานแบบชาวเหนือ ว่า “ตูน” เน้อเจ้า เมื่อมีพืชชนิดนี้แพร่ความนิยมในการบริโภคมากขึ้น ทางภาคกลาง เรียกออกเสียงเป็นภาษากลาง ว่า “ทุน” ก็หมายถึงทรัพย์สินเงินทองที่ใช้จ่ายเพื่อหาผลกำไร และก็พอเหมาะพอดี

ที่ชื่อเรียกไปพร้องกับต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน หรือต้นลมแล้ง คนอีสานจึงเรียกว่า “คูน” บางส่วนออกเสียงเรียกกล้ำกึ่ง เรียกว่า “ทูน” หมายถึง ยกย่อง เทินไว้บนหัว คงกระนั้นกระมัง ก็แค่ข้อสันนิษฐานนะ และที่สำคัญ มีหลายครั้งหลายคราที่คนไม่รู้จริงว่า ต้นคูนที่ว่า ของจริงนั้นเป็นอย่างไรแน่ ไปตัดมากินเป็นผักแกงส้ม หรือผักแกล้มส้มตำ คันคอ คันปากเจ่อ ลิ้นแตกเจ็บ ลิ้นแข็งกระด้าง เลือดไหลออกลิ้น พูดไม่ได้ ถึงหายใจไม่ออก และถึงแก่ชีวิต ถ้าช่วยไม่ทัน

ถ้าน้ำยางติดผิวแขนมือ เป็นผื่นแดงคันมาก กระเด็นเข้าตาถึงตาบอด เพราะไปตัดเอาก้านบอนโหรา หรือ กระดาดดำ ทางเหนือเรียก ปึมปื้อ พวกนี้มียางใสสีส้มอ่อนๆ เป็นพิษนะนั่น ยางคูน ตุน ทูน ออดิบ สีใสไม่เจือสีอื่น จำไว้ให้ดี

ส่วนที่นิยมนำมาประกอบเป็นอาหาร หรือใช้เป็นผักสด คือ ก้านใบ และใบอ่อน อาหารที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ แกงตูนปลาดุก แกงส้มคูนกุ้งฝอยปลาน้อย แกงทั้ง 2 อย่างอย่าให้ขาด คือส้มมะกรูด และใบแมงลัก ใบคูน ใช้ใบอ่อนแกงใส่หนังควายแห้ง เนื้อแห้ง หมูสามชั้น เคี่ยวจนเหนียวเละเช่นเดียวกับแกงบอน ใช้ก้านคูนเป็นผักกินกับส้มตำปูปลาร้า หรือตำบักหุ่ง ส้มตำปูโรยถั่ว ตำถั่วฝักยาว ตำแตงกวา ฯลฯ

คูน ตุน ทูน มีคุณค่าทางอาหารสูง ก้านและใบอ่อน น้ำหนัก 1 ขีด หรือ 100 กรัม ให้พลังงานแค่ 9 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยเส้นใยอาหาร 0.8 กรัม แคลเซียม 115 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม เหล็ก 1.3 มิลลิกรัม วิตามินเอ 213 iu วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.01 มิลลิกรัม ไนอะซิน หรือวิตามินบีสาม 0.04 มิลลิกรัม และ วิตามินซี 6.0 มิลลิกรัม คุณค่าทางอาหารที่คูนมีต่อร่างกายผู้บริโภคล้วนแต่เป็นประโยชน์ และที่สำคัญเป็นอาหารที่นับได้ว่า ต้นทุนที่เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นหาง่าย ราคาย่อมเยา ถ้าคิดตามสัดส่วนต้นทุนต่อความอร่อย เหนือกว่าอาหารในร้านหรูด้วยซ้ำ

คูน ตุน หรือ ทูน หมอพื้นบ้านใช้หัวใต้ดินเผาสุมไฟจนเป็นถ่าน ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้ ดับพิษร้อน แก้อาการเซื่องซึม ใช้เป็นยากัดหนอง ใช้หัวสดหรือหัวแห้ง ฝนผสมน้ำผึ้งป่า กินแก้เสมหะ ละลายเสมหะ

พืชผักชนิดนี้เป็นยาเย็น มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะมีแคลเซียม และวิตามินซี ช่วยในการบำรุงกระดูก และฟัน แก้ไข้หวัด ต้านหวัดหัวลม ช่วงเปลี่ยนฤดู ถ้าเป็นปลายฝนต้นหนาว มีดอกแค เปลี่ยนฤดูอื่น ก็มี คูน ตุน ทูน นี้ทำแกงส้ม กินบำรุงรักษาสุขภาพร่างกายเรา ทดแทนกันได้ดีทีเดียว ปลูกไว้วันนี้ มีให้กินหลายปี