ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | สมุนไพรอภัยภูเบศร |
เผยแพร่ |
ดอกดาวเรือง ที่มาพร้อมสีสันสวยงามอร่ามตา แต่นอกจากนี้แล้ว สรรพคุณของดอกดาวเรืองยังจัดว่าไม่ธรรมดา
หลายคนอาจรู้จักสรรพคุณดอกดาวเรืองในด้านที่เป็นสมุนไพรช่วยบำรุงสายตา หรือบางคนอาจได้ยินว่าดอกดาวเรืองมีสรรพคุณช่วยดูแลผิวพรรณ นำสารสกัดจากดอกดาวเรืองมาแต้มสิว แก้ปัญหาริ้วรอยบนผิวพรรณได้ ทว่านอกจากดอกดาวเรืองจะมีสรรพคุณเหล่านี้แล้ว ทราบกันไหมคะว่าดอกดาวเรืองสีเหลืองสวยนี้ ยังมีสรรพคุณทางยาและประโยชน์เพื่อสุขภาพอีกเพียบเลย เอาเป็นว่าเรามารู้จักดอกดาวเรืองให้มากขึ้นกันดีกว่า
ดอกดาวเรือง
ดอกไม้สีเหลืองสวย กับความเป็นมา
ดอกดาวเรือง เป็นดอกไม้ที่คุ้นตาคนไทยมาช้านาน เพราะเป็นดอกไม้ปลูกง่าย สีสันก็สวยสดใสสะดุดตา ซึ่งนอกจากจะมีให้เห็นในบ้านเราแล้ว ในต่างประเทศก็รู้จักดอกดาวเรืองด้วยเช่นกันค่ะ โดยภาษาอังกฤษจะเรียกกันว่า Marigold เนื่องจากมีสีเหลืองทอง ส่วนในชื่อวิทยาศาสตร์ก็จะเรียกกันว่า Tagetes erecta L. เป็นดอกไม้ในวงศ์ Asteraceae และนอกจากนี้ ในบ้านเรายังมีชื่อเรียกต่างกันตามท้องถิ่นด้วย โดยภาษาเหนือ หรือในภาคเหนือจะเรียกว่า ดอกคำปู้จู้ หรือในแถบแม่ฮ่องสอนจะเรียกว่า พอทู เป็นต้น
ส่วนถิ่นกำเนิดของดอกดาวเรืองเริ่มต้นที่ประเทศเม็กซิโกและแถบทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งชาวท้องถิ่นปลูกไว้เพื่อบูชาเทพเจ้า ก่อนจะมีผู้นำไปขยายพันธุ์ในทวีปยุโรป แต่ต่อมาก็ได้ขยายพันธุ์ไปในประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก โดยปัจจุบันก็มีอยู่ด้วยกันถึง 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ดาวเรืองอเมริกัน (American marigold), ดาวเรืองฝรั่งเศส (French Marigolds), ดาวเรืองนักเก็ต (Nugget Marigolds), ดาวเรืองซิกเน็ต (Signet Marigold), ดาวเรืองใบ (Foliage Marigold) นอกจากนี้ ดอกดาวเรืองยังเป็นพืชเศรษฐกิจทั้งในอียิปต์ สเปน และฝรั่งเศส อีกด้วย
สำหรับในไทยนั้นจะปลูกกันมากในบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปลูกเป็นไม้ตัดดอกเพื่อการค้า ไม้กระถาง และประดับประดาสถานที่ในโอกาสสำคัญต่างๆ
ดอกดาวเรือง ความหมายที่แสนลึกซึ้ง
ดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งซึ่งตามความเชื่อของคนโบราณจะเชื่อกันว่า การปลูกไว้ในบ้านจะช่วยนำเงินทองเข้ามาให้ ช่วยหนุนนำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากมีสีเหลืองทองนั่นเอง นอกจากนี้ ยังเป็นดอกไม้ที่แข็งแกร่ง ปลูกง่าย โตเร็ว และทนทาน จึงมีความหมายอันเป็นมงคลซึ่งหมายถึงความมั่นคง โดยมักสื่อความหมายถึงครอบครัวใหม่ หรือทางด้านความรักด้วย
ทั้งนี้ นอกจากดอกดาวเรืองจะมีสีเหลืองตามสีของวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้ว ดอกดาวเรืองยังมีความหมายอันลึกซึ้งที่แสดงถึงความรำลึกในมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ กล่าวคือ ดอกดาวเรืองมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง เปรียบเหมือนพระองค์ที่ทรงนำความชื่นบาน ความเจริญมาสู่ชาติบ้านเมือง อีกทั้งพระราชจริยวัตรของพระองค์ท่านที่เรียบง่าย ยึดหลักพอเพียง และทรงไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคใดๆ ก็เปรียบเสมือนดอกดาวเรืองที่ปลูกง่าย โตเร็ว และทนทาน อวดสีเหลืองงามบานสะพรั่งได้เนิ่นนาน ไม่หวั่นแดด ลม และฝนใดๆ
ลักษณะทางพันธุศาสตร์
ดาวเรือง เป็นไม้ล้มลุก อายุไม่ถึง 1 ปี ลำต้นมีสีเขียวผิวเกลี้ยงและเป็นสัน ขึ้นแบบตั้งตรง ด้านในมีเนื้ออ่อน ความสูงประมาณ 30-100 เซนติเมตร แตกกิ่งเป็นทรงพุ่มแน่น มีใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ มีใบย่อยประมาณ 11-17 ใบ ลักษณะคล้ายรูปหอก โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก ใบยาวประมาณ 4-11 เซนติเมตร ออกดอกที่ปลายก้าน สีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ได้แก่ เหลือง ส้ม ทอง ขาว ฯลฯ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-15 เซนติเมตร มีสันเป็นทางยาว 7-13 สัน เมล็ดมีลักษณะแห้ง เป็นสีดำ โคนมนกว้างปลายเรียว
ประโยชน์ของดอกดาวเรือง
สรรพคุณลือเลื่อง
บำรุงสายตา
ดอกดาวเรืองมีสารแซนโทฟิลล์ (Xanthophyll) ซึ่งเป็นแคโรทีนอยด์ (สารต้านอนุมูลอิสระ) ชนิดหนึ่ง โดยมีส่วนประกอบเป็นโมเลกุลที่มีออกซิเจน อันได้แก่ ลูทีนและซีแซนธิน ซึ่งจัดว่าเป็นสารบำรุงสายตาจากพืชมีสี โดยทั้งสองสารนี้มีคุณสมบัติช่วยป้องกันความเสื่อมของจอประสาทตาได้ ช่วยกรองแสงสีฟ้า และยังเป็นสารออกซิเดชั่น ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระที่จะทำลายประสิทธิภาพการทำงานของจอประสาทตา โดยการนำเอาสารบำรุงสายตาจากดอกดาวเรืองมาใช้ แนะนำให้นำดอกไปตากแห้ง แล้วนำมาชงเป็นชาดื่ม 1 หยิบมือ ต่อน้ำร้อน 1 แก้วกาแฟ เท่านี้ก็จะได้รับสารบำรุงสายตาที่ซ่อนอยู่ในดอกดาวเรืองแล้ว
บำรุงผิวพรรณ ลดริ้วรอย
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้ทำการวิจัยสารสกัดจากดอกดาวเรืองและพบว่า สารสกัดจากดอกดาวเรืองมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแกรมบวกอย่าง S.aureus และ S. epidermidis ได้ดี และสารสกัดดอกดาวเรืองที่ได้ยังสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ดี เนื่องจากมีกรดฟีนอลิกที่สำคัญ ได้แก่ กรดแกลลิก กรดวานิลลิก กรดคาเฟอิก กรดคูมาริก และกรดไซรินจิก ซึ่งมีประโยชน์ช่วยลดริ้วรอยและทำให้ผิวพรรณดูอ่อนวัย อีกทั้งยังสามารถป้องกันผิวหนังจากรังสียูวีได้ดีอีกด้วย
โดยเพียงแค่นำดอกดาวเรืองสดหรือนำดอกดาวเรืองไปตากแห้ง แล้วแช่ในเอทานอล อาจแช่ทิ้งไว้เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ หรือแช่ในน้ำบริสุทธิ์แล้วให้ความร้อนอย่างน้อย 15 นาที โดยใช้เตาไมโครเวฟ 15-35 นาที จะทำให้ได้สารสกัดจากดอกดาวเรืองที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ เช่น บาล์ม ยาหม่อง สเปรย์น้ำฉีดผิวหน้าและผิวกาย ให้ความชุ่มชื้น บรรเทาอาการระคายเคืองต่อผิว แก้ผื่นคัน หรือถ้านำไปผสมในครีมหรือโลชั่นทาบำรุงผิวพรรณเพื่อช่วยลดริ้วรอยก็ได้เช่นกัน
บรรเทาโรคผิวหนัง
ในดอกดาวเรืองมีสารคาเลนดูลา (Calendula) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาปัญหาผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ แผลเป็น และผิวหนังแห้งแตก โดยการนำมาบรรเทาและดูแลปัญหาผิวหนังเหล่านี้ ควรใช้สารสกัดจากดอกดาวเรืองที่อยู่ในรูปครีมยา น้ำมันหอมระเหย หรือโลชั่นบำรุงผิวพรรณ
รักษาสิว
สาวๆ ที่มีปัญหาสิวจะใช้ดอกดาวเรืองแต้มสิวก็ได้เหมือนกันค่ะ แต่ควรใช้ดอกดาวเรืองที่สกัดมาเรียบร้อยแล้วนะคะ เนื่องจากสารสกัดจากดอกดาวเรืองอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มไตรเทอปีน ฟลาโวนอยด์ และซาโปนิน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส มีคุณสมบัติในการสมานแผล ช่วยทำความสะอาดเนื้อเยื่อ และป้องกันการติดเชื้อบนผิวหนัง ดังนั้น สาวๆ ที่มีปัญหาสิวและผิวพรรณอักเสบ สามารถใช้สารสกัดจากดอกดาวเรืองช่วยแก้ปัญหาสิวๆ เหล่านี้ได้
ทว่าหากใครอยากได้ฟีลแบบธรรมชาติบำบัดจริงๆ ก็สามารถนำใบมาล้างให้สะอาด จากนั้นนำใบไปตำแล้วเอามาพอกบริเวณที่เป็นสิว หรือจะนำใบไปต้มแล้วนำน้ำมาล้างบริเวณที่เป็นสิวก็ได้ เพราะใบก็มีรสชุ่มเย็น ใช้แก้ฝี แผลพุพอง ตุ่มมีหนอง และอาการบวม อาการอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุได้
แก้ร้อนใน
ด้วยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และแก้ปัญหาผิวหนังแตกแห้ง รวมทั้งฤทธิ์ต้านอาการอักเสบที่มีอยู่ในดอกดาวเรือง จึงทำให้เป็นดอกไม้รักษาอาการร้อนในได้ โดยการใช้ก็เพียงแค่นำดอกไปตากแห้งแล้วมาชงเป็นชาดื่ม จะช่วยลดความร้อนในร่างกายและทำให้อาการร้อนในลดลงได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำชาจากดอกดาวเรืองมาบ้วนปากเป็นประจำเพื่อรักษาแผลร้อนในได้อีกด้วย
แก้ปวดฟัน
ดอกดาวเรืองที่เราคุ้นเคยชนิดนี้มีดีมากกว่าแค่เพียงไว้ใช้ประดับให้สวยงามเท่านั้น เพราะถ้าหากนำดอกแห้ง 7-8 ดอกไปต้มกับน้ำในปริมาณที่พอเหมาะแล้วจิบทั้งวัน ก็สามารถลดอาการปวดฟันได้โดยไม่ต้องพึ่งยาแก้ปวด อีกทั้งยังสามารถขับร้อนในร่างกายได้อีกด้วย
ละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอ
ช่อดอกดาวเรืองมีรสขม กลิ่นฉุนเล็กน้อย ทว่าก็มีสรรพคุณทางยาช่วยกล่อมตับ ขับร้อนจากร่างกาย ละลายเสมหะ แก้ไอหวัด ไอกรน บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ คางทูม และสามารถสมานแผลให้หายเร็วขึ้นได้ โดยการใช้ภายในให้นำช่อดอกดาวเรือง 3-10 กรัม ต้มน้ำแล้วจิบเป็นชา ส่วนวิธีใช้ดอกดาวเรืองรักษาแผลภายนอก ให้นำช่อดอกดาวเรืองต้ม รอให้อุ่น แล้วนำน้ำต้มมาชะล้างบริเวณที่เป็นแผล
แก้วิงเวียนศีรษะ
น้ำมันหอมระเหยจากดอกดาวเรืองมีคุณสมบัติแก้อาการวิงเวียน หน้ามืด เป็นลม ได้ และยังมีประโยชน์ช่วยบำรุงเส้นผมและลดริ้วรอยจากอาการผิวแตกลายได้ด้วย
ขับลม แก้ท้องผูก รักษาริดสีดวงทวารหนัก
เห็นดอกเล็กๆ เหลืองสวยอย่างนี้ แต่ดอกดาวเรืองถือว่ามีพิษร้ายต่อโรคริดสีดวงทวารหนักเลยล่ะค่ะ เพราะมีฤทธิ์ขับลมในกระเพาะอาหาร และมีฤทธิ์รักษาโรคริดสีดวงทวารโดยตรง โดยตำรับจากอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากช่อดอกดาวเรืองมาดื่มแก้ริดสีดวงทวาร หรือบางกรณีจะใช้น้ำคั้นจากช่อดอกผสมน้ำอุ่นแล้วนั่งแช่ลดอาการบวมของแผลริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งจะช่วยให้หลอดเลือดหดตัว อาการริดสีดวงทวารก็จะบรรเทาลงได้
แก้ปวดประจำเดือน
ชาดอกดาวเรืองมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดประจำเดือนของสาวๆ ได้ โดยสารในดอกดาวเรืองจะช่วยในการขับลมจากอาการท้องอืด พร้อมทั้งมีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ตึงเครียดคลายตัวลง อาการปวดประจำเดือนก็จะบรรเทาลงด้วย
ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
จากการศึกษาของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สารสกัดดอกดาวเรืองมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส (Alpha-glucosidase) ซึ่งมีหน้าที่ย่อยสลายน้ำตาลในลำไส้ส่วนเล็กเพื่อให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้ดีขึ้น ดังนั้น สารสกัดจากดอกดาวเรืองจึงมีฤทธิ์ลดการดูดซึมกลูโคสในร่างกาย มีคุณสมบัติช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ดี โดยเฉพาะในกรณีน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหลังกินอาหาร และการที่ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงก็จะส่งผลดีในด้านช่วยลดภาวะเครียด ออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ที่อาจเกิดในผนังหลอดเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้อัตราความเสี่ยงโรคแทรกซ้อน (Vascular complication) ในผู้ป่วยเบาหวานลดลงได้อีกด้วย
ลดไขมันในเลือด
นอกจากสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือดแล้ว สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังพบว่า สารสกัดดอกดาวเรืองมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไลเปส (Pancreatic lipase) เอนไซม์ช่วยย่อยไขมันจากตับอ่อน ได้เทียบเท่ากับสารสกัดของดอกดาวกระจาย และดอกเฟื่องฟ้า โดยจัดเป็นสารพฤกษเคมีประเภทสารประกอบฟีนอลิก มีฤทธิ์ทำให้เอนไซม์ย่อยไขมันทำงานไม่เป็นปกติ ส่งผลให้การย่อยอาหารที่มีไขมันและการดูดซึมไขมันของร่างกายลดลง จึงช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และลดโอกาสเกิดโรคอ้วนได้
ต้านอนุมูลอิสระ
จากการศึกษาสารสกัดน้ำของดอกไม้ 4 ชนิด (ดาวเรือง ดาวกระจาย พวงชมพู และเฟื่องฟ้า) ของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สารสกัดจากดอกดาวเรืองจะมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระดีที่สุด เมื่อทดสอบด้วยวิธี Ferric Reducing Antioxidant Power (FRAP assay) และวิธี Cellular Antioxidant Activity (CAA assay) และสารที่พบในดอกไม้ทั้ง 4 ชนิด พบว่า ส่วนใหญ่เป็นพวกกรดฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ โดยดอกดาวเรืองจะมีกรดฟีนอลิกสูงกว่าดอกไม้อื่นๆ ประมาณ 3-4 เท่า
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์สมเพียร เกษมทรัพย์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ยังเผยผลการศึกษาที่ระบุว่า ดอกดาวเรืองเป็นพืชดอกที่มีประโยชน์มาก โดยพบว่าดอกดาวเรืองให้สารเบต้า-แคโรทีนจากธรรมชาติโดยตรง และเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วสารเบต้า-แคโรทีนจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วยนะคะ
ดอกดาวเรืองใช้เป็นยาอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ
หลีกเลี่ยงการซื้อดอกดาวเรืองมาทำยาหรือต้มเป็นชา เพราะอาจเสี่ยงได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายได้ ทางที่ดีจึงควรนำดอกดาวเรืองที่ปลูกเอง และเด็ดจากต้นเองมาใช้เป็นยาเพื่อความปลอดภัย
ไม่ควรกินดอกดาวเรืองตูมสด เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยใดที่ยืนยันถึงประโยชน์ของดอกดาวเรืองตูมสด มีเพียงงานวิจัยจากสารสกัดดอกดาวเรืองเท่านั้น เพราะสิ่งที่เราต้องการจากดอกดาวเรืองคือสารสีเหลือง ซึ่งจำเป็นต้องผ่านกระบวนการสกัดด้วยวิธีต่างๆ มาก่อน
ควรกินดอกดาวเรืองที่ตากแห้ง โดยนำมาชงดื่มเป็นชา ส่วนในเคสที่ใช้ภายนอก สามารถนำน้ำดอกดาวเรือง หรือน้ำจากใบดอกดาวเรือง รวมถึงใบดอกดาวเรืองสดๆ ตำละเอียดได้ แต่หากใช้ภายใน (ดื่ม-กิน) ควรใช้ดอกดาวเรืองตากแห้ง
ผู้ป่วยโรคตับและโรคไตไม่ควรกินดอกดาวเรือง ไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ เนื่องจากร่างกายอาจมีปัญหาในการขับสารจากดอกดาวเรือง ส่งผลให้ตับและไตทำงานหนักได้
หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการกินดอกดาวเรือง เพราะอาจส่งผลเสียต่อทารกได้
ไม่ควรกินดอกดาวเรืองบ่อยเกินไป ควรกินบ้าง หยุดบ้าง หรือหมุนเวียนกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ เพื่อป้องกันการตกค้างของสารชีวเคมีจากดอกดาวเรืองในร่างกาย เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยใดที่ศึกษาผลข้างเคียงจากการกินดอกดาวเรืองในระยะเวลานานๆ ว่าทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหรือไม่
สมุนไพรทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดอกดาวเรืองหรือสมุนไพรชนิดอื่นๆ หากใช้อย่างเหมาะสมและถูกต้องก็จะเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย ถือเป็นการรักษาโรค และวิธีบรรเทาปัญหาสุขภาพอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าลอง
____________
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2563