รอยต่อระหว่างการเริ่มต้น และการสิ้นสุด

รอยต่อระหว่างเริ่มต้นกับสิ้นสุดมาถึงอีกครั้งหนึ่ง คือรอยต่อของการรับราชการจะเริ่มต้นหรือลงท้าย มีขึ้นเมื่อสิ้นสุดเดือนกันยายนต่อกับเดือนตุลาคม ด้วยระบบราชการไทย นับการเริ่มต้นของการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินประจำปีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม และสิ้นสุดวันใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีในวันที่ 30 กันยายนปีเดียวกันนั้น

ดังนั้น ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี จึงคือฤดูแต่งตั้งโยกย้ายและขยับยศตำแหน่ง “ข้าราชการ”  จากเดิมขึ้นไปสู่ตำแหน่งใหม่ เป็นไปตามปกติ ไม่ใช่วาระพิเศษที่เกิดขึ้นได้เสมอ

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ผู้ที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ หรือสมัยนี้อาจจะอายุตามที่กำหนดในตำแหน่งนั้นให้เกษียณจากราชการ เนื่องจาก “รับราชการมานาน” หากเป็นตำแหน่งไม่สู้สำคัญ เท่ากับบุคคลผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในราชการนั้น ไปรับบำนาญแทนเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนการรับราชการมานาน กระทั่งพ้นจากข้าราชการบำนาญเมื่อ  “เสียชีวิต” หรือ  “พอใจ” รับ “บำเหน็จ” คือ “เงินก้อน” ครั้งเดียว แทนบำนาญที่รับเป็นรายเดือน

ต้องว่ากันเรื่องนี้ เมื่อถึงรอยต่อระหว่างเดือนกันยายนกับเดือนตุลาคม ทุกปี เกรงว่าจะหลงลืมเมื่อใกล้ถึงวันเวลานี้

ถึงอย่างไร คำว่า “อยู่บ้านเลี้ยงหลาน” ยังเป็นคำของผู้ที่เกษียณจากราชการมาทุกยุคทุกสมัยกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งอาจมีเรื่องใหม่ เช่น กลับไปทำไร่ทำนา ปลูกต้นไม้ แต่รับรองว่าไม่พ้น “อยู่บ้านเลี้ยงหลาน”

หลายปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะผู้รับราชการ มีหน้าที่การงานพอสมควรแก่เหตุและปัจจัย เลยไปถึงตำแหน่งหน้าที่การงานที่ “ไต่เต้า” ไม่ติดขัดอะไรกับใครเขา คือเจริญเติบโตไปตามจังหวะเวลา อาจมีชงักบ้างระหว่างทาง เมื่อเติบโตในตำแหน่งงาน เรียกว่า “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” มิได้หมายความถึงการหลบจากหน้าที่การงานซึ่งปฏิบัติ หากแต่รู้จักทำงาน ไม่หลบงาน ประเภทหนักเอาเบาสู้ อยู่ในสายตาผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับใกล้เคียงกันถึงระดับสูง ทั้งรู้จักรักษาระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้บังคับบัญชา

หมายถึงรู้จักว่าควรใกล้ใคร ควรห่างใคร ไม่ใกล้เกินไป จนกลายเป็นประจบประแจง ไม่ห่างเกินไปจนไม่เห็นหน้ากันบ้างเลย จะใช้จะสอยกลับหายหน้าหายตา

เขาว่าข้าราชการประเภทที่ว่า ผู้ที่เรียนสาย “ปกครอง” จะเก่งกว่าผู้เรียนสาย “อาชีพ” แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่เสียแล้ว

ดูเช่น นับแต่ข้าราชการสาย “อาชีพ” โยกย้ายแต่งตั้งไปอยู่สาย “ปกครอง” มักจะก้าวไปข้างหน้าขึ้นสูง เป็นที่รู้จักทั้งภายในภายนอกมากกว่าผู้ที่เดินตามสายปกครองโดยตรง

ยกตัวอย่างระหว่างผู้เรียนสาย “ปกครอง” โดยตรง คือผู้เรียนสายรัฐศาสตร์การปกครอง มักตั้งเป้าจบออกไปแล้วสมัครสอบเป็นปลัดอำเภอ เพื่อไต่เต้าเป็น “ปลัดจังหวัด” ขึ้นไปสูงสุดเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นอันสิ้นสุด

จากนั้นอาจจะก้าวขึ้นไปเป็นรองอธิบดี อธิบดี ตำแหน่งต่อไปสูงสุด คือ “ปลัดกระทรวง” ซึ่งไม่ง่าย มัก “แป้ก” อยู่ที่ตำแหน่ง “รองปลัดกระทรวง” หรือมิฉะนั้นหากชมชอบการเป็นนักการเมือง อาจ “แปลงร่าง” ไปเป็นสมาชิกสภาจังหวัด  สภาเทศบาล หรือเป็น “นายกองค์การบริหารส่วนตำบล” ส่วนจังหวัด” “เทศมนตรี” “นายกเทศมนตรี” “สมาชิกสภาจังหวัด” “สมาชิกสภาเทศบาล”

สุดท้ายคือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” แต่บางคนผันตัวเองเป็น “สมาชิกวุฒิสภา” ง่ายกว่า ว่าไหม

ที่สุด อาจสุดสิ้นที่ตำแหน่งทางการเมืองอย่างแท้จริง เช่น เลขานุการรัฐมนตรี หรือตำแหน่งทำงานกับรัฐมนตรี

ขณะหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นผู้ร่ำเรียนสายอื่น เช่น สายวิศวกร สายสถาปนิก สายแพทย์ แล้วข้ามเข้าไปอยู่ในสายปกครอง ไปเป็นนายอำเภอ แล้วเขยิบขึ้นในส่วนจังหวัด กระทั่งมีโอกาสเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีวันนี้ สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อย้ายสายงานไปเป็นนักปกครอง เกิดเหตุการณ์ “ถ้ำหมูป่า” มีโอกาสไปแก้ปัญหา ด้วยวิชาวิศวกรรมที่เรียนทางแก้ปัญหา หรือทำอย่างไร  ไม่เหมือนกับผู้เรียนสายปกครอง ที่มักแก้ปัญหาทำอะไรมากกว่า

ที่สุด การแก้ปัญหา “อย่างไร” กลับนำไปสู่ความสำเร็จได้ดีกว่าการแก้ปัญหา “อะไร”

เพราะฉะนั้น การเรียนตั้งแต่เริ่มต้น เป็นเรื่องของระบบการศึกษา ต้องให้ผู้เรียนรู้จักการแก้ปัญหาด้วยวิธีการคณิตศาสตร์ คือมีคำตอบชัดเจนมากกว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีการสังคมศาสตร์ ให้สัดส่วนของคณิตศาสตร์มากกว่าสังคมศาสตร์ จะได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขมากกว่าตัวอักษร ท่านผู้เกษียณว่าจริงไหมขอรับ