ส้มป่อย ผักเป็นยา มีมนต์ขลังในสังคมชนบท

ปัจจัยที่ใช้กับพิธีกรรมต่างๆ แบบเมื่อก่อน หลายอย่างนับวันจะมีน้อยมาก และหายากเข้าทุกที อีกทั้งพิธีกรรมแบบเมื่อเก่าก่อน ก็ค่อยๆ จางหายไป มีหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก ประเพณีรดน้ำดำหัวขอพร สรงน้ำพระ งานมงคล อวมงคลต่างๆ จะมีการตั้งขันน้ำมนต์ คนเป็นพ่อครูจะใช้ส้มป่อยแห้ง ปิ้งไฟให้หอม ใส่ลงขันน้ำ ทำน้ำมนต์ ใบหญ้าคา ผูกมัดพอกำเป็นอุปกรณ์ ชุบสะบัดโปรยปรายกระจายหยาดหยดเม็ดน้ำมนต์สู่ชาวชน และสถานที่ แล้ววันนี้ น้ำส้มป่อยเริ่มห่างหาย มีน้ำอบน้ำหอมวิทยาศาสตร์เข้ามาแทน  และหลายคนคงใกล้จะลืมรสยอดส้มป่อยที่เคยเด็ดยอดใบก้านสีแดงเขียว ใส่เติมความเปรี้ยวให้กับต้มส้มปลากด ปลาแค้ ซดน้ำฮวบโฮก จี๊ดจ๊าด แซ่บซ่านตั้งแต่ปลายลิ้นยันปลายไส้สุด

หลายคนไม่รู้จัก และอีกหลายๆ คนอยากรู้จัก “ส้มป่อย” นับเป็นพืชรุ่นเก่า มีเล่าขานในนิทาน นิยายปรำปรา คล้ายว่าในเรื่องผีผี ที่มีคนสรรค์แต่งขึ้นมาหลายเรื่อง หลายบทตอน ให้ชาวบ้านติดอกติดใจ เช่น หมอผีทำพิธีไล่ภูติผีปีศาจร้ายออกจากหมู่บ้าน ใช้น้ำมนต์อาบพร้อมเป่าคาถาช่วยคนถูกผีเข้าสิง ซึ่งในโลกความจริงชนบท หมอพื้นบ้านยังใช้ส้มป่อยทำน้ำมนต์สืบชะตา อาบสะเดาะเคราะห์ อาบพรมไล่พิษคนป่วยไข้ คนไทยหลายที่หลายถิ่น ใช้เป็นปัจจัยในการขจัดปัดเป่าเคราะห์กรรมอัปมงคล เสนียดจัญไรให้ไกลห่าง ดูเหมือนว่าจะใช้รักษาโรคซึมเศร้าเหงาหงอย ขับไล่ความโชคร้าย ดวงตกต่ำ ใช้ในงานที่เป็นสิริมงคล สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ และขอขมาลาโทษ ประกอบพิธีลงเสาเอกบ้าน พิธีเอาข้าวขึ้นยุ้งขึ้นฉาง ใช้เสกคาถาเปิดทาง และอีกมากมายสารพัดอย่าง เด็กเยาวชนคนรุ่นหลังมองแล้วหน้านิ่วคิ้วขมวด ด้วยความงุนงงสงสัยว่า ที่พูดถึงส้มป่อยอยู่นี้นะ มันคืออะไร อย่างไรหรือ?

ส้มป่อย ชื่อสามัญ เรียก SOAP POD เป็นพืชอยู่ในวงศ์ FABACEAE วงศ์ย่อย Minosaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acacia Concinna มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น หมากขอน ส้มขอน หม่าหัน  ส้มพอดี ส้มคอน ส้มขอน ไม้ส้มป่อย ชนเผ่าต่างๆ เรียก พิจือสะ พิอีสะ ผ่อชิละ ผ่อชิบูทู เผละป่อย เมียงโกร๊ะ เบล่หม่าฮั่น เป็นต้น จะเห็นได้ว่าชื่อเรียกต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นของชาวเหนือ กับชาวอีสาน ทั้งชาวพื้นราบ และชาวดอย เขารู้จักเรียกขานเรียกหา เรียกใช้กันมานาน “ส้มป่อย” เป็นพืชยืนต้นขนาดเล็ก หรือเป็นไม้พุ่ม มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน แถบอาเซียนบ้านเรา เอเชียใต้ อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ

ลักษณะลำต้นเป็นประเภทเลื้อย หาที่ยืดเกาะขึ้นไปตามกิ่งไม้ แต่ไม่มีมือจับเหมือนไม้เถาทั่วไป ต้น หรือ กิ่ง หรือเถาของส้มป่อยจะแข็งแรงมาก มีเถาเป็นเนื้อไม้ สามารถเลื้อยไปตามต้นไม้อื่นได้สูงถึง 6-7 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล เถาอ่อนสีน้ำตาลแดง มีขนกำมะหยี่ หรือขนสั้นหนานุ่มคลุมอยู่ทั่วต้น กิ่งก้าน มีหนามโค้งงุ้มแบนแหลมสั้นๆ อยู่ทั่วไป ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น สีเขียว คล้ายใบกระถิน ใบชะอม

ดอก แตกออกเป็นช่อกระจุกทรงกลม ออกตามปลายกิ่ง หรือตามซอกใบข้างลำต้น มีขนนุ่มหนาแน่น มีขนาดเล็กอัดแน่นเป็นแกน กลีบดอกสีขาวนวลเป็นหลอด ออกดอกช่วงหน้าแล้ง มกราคม ถึงพฤษภาคม ดอกแก่กลายเป็นผล หรือฝัก เป็นฝักแบน ยาว 10-15 เซนติเมตร รูปร่างเป็นลอนคลื่น เห็นเป็นข้อๆ พองนูนตามเมล็ด ปลายฝักมีหนามแหลม สันขอบฝักหนา ผิวขรุขระย่นเมื่อแห้ง ฝักอ่อนเปลือกสีเขียวอมแดง ฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม หรือน้ำตาลดำ แต่ละฝักมี 5-12 เมล็ด เมล็ดแบนรี สีดำผิวมัน  จะติดฝักช่วงหน้าฝน ประมาณพฤษภาคมถึงตุลาคม

การขยายพันธุ์ ส่วนใหญ่จะได้จากต้นที่เพาะเมล็ด ฝักส้มป่อยแห้งจะมีเมล็ดอยู่ข้างใน เมื่อนำมาปิ้งไฟ และแช่ทำน้ำมนต์ เมื่อหมอครูใช้ประโยชน์จากน้ำมนต์แล้ว ก็จะทิ้งกากฝัก และเมล็ดไว้ข้างรั้ว ส้มป่อยจะเจริญงอกขึ้นมา หรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าจะขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดจะง่ายกว่า แต่ถ้าจะตัดกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ไปชำก็ได้ จะตอนกิ่งก็ได้

เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิดที่ระบายน้ำดี ความชื้นปานกลาง แสงแดดมากๆ มักพบในป่าคืนสภาพ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่ราบเชิงเขา ที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี หลายจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น เชียงราย พะเยา น่าน มีการปลูกส้มป่อยเป็นแปลง เพื่อเก็บยอดมาทำอาหาร เก็บฝักขาย รายได้ดีมาก บ้างเริ่มเพาะกล้าต้นส้มป่อยขาย ต้นหลายสิบบาท ประกอบกับชาวบ้านยังมีความต้องการใช้ “ส้มป่อย” เป็นทั้งผัก ทั้งยา ทั้งดำรงคงอยู่เป็นปัจจัยในพิธีกรรมต่างๆ ที่สืบมรดกตกทอดมาจากบรรพชน

ฝักส้มป่อย คนเก่าแก่ใช้สระผม เพราะเมื่อเอาฝักมาตีกับน้ำจะเกิดฟอง ช่วยทำให้ผมดกหนา เงางามสลวย เพราะส้มป่อยมีสารกลุ่มซาโพนิน เช่น อาคาชินิน สูงถึง 20% เป็นสารแชมพูธรรมชาติ มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ช่วยรักษาหนังศีรษะ ขจัดรังแค ช่วยไม่ให้ผมหงอกก่อนวัย ซึ่งเมื่อตีส้มป่อยกับน้ำ สารซาโพนินจะแตกฟองที่คงทนมาก ช่วยการชำระล้างได้ดี ไม่ทำลายธรรมชาติของผมและหนังศีรษะ ใช้อาบน้ำทำให้ร่างกายสะอาดปราศจากคราบไคล ช่วยให้สดชื่น แก้ผดผื่นคัน และโรคผิวหนังได้หลายชนิด

เปลือกต้นส้มป่อยเป็นสีธรรมชาติ ให้สีเขียว และน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า ย้อมแห ย้อมอวน ใบแก่ใช้ขัดภาชนะ หรือโลหะที่เป็นทองเหลือง เงิน ทอง เช่น สร้อย กำไล พระเหรียญ พระบูชา เครื่องเงิน ช้อน ขันทองเหลือง ให้สุกปลั่งดูงดงามเพิ่มศรัทธา ชื่นตาชื่นหัวใจดีแท้

ส้มป่อย เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณและคุณค่ามากมาย ใบและฝัก ใช้เป็นส่วนประกอบของยาอมที่มีรสเปรี้ยว ช่วยซับเหงื่อ ขจัดสิ่งสกปรกจากร่างกาย เป็นองค์ประกอบ ทำลูกประคบแก้ปวดเมื่อย น้ำต้มใบส้มป่อยเป็นยาสตรีถ่ายระดูขาว ฟอกเลือดประจำเดือน ใช้ต้มน้ำให้สตรีมีครรภ์ใกล้คลอด อาบก่อนวันคลอด 2-3 วัน ทำให้คลอดลูกได้ง่าย ยอดส้มป่อย ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยชำระล้างเมือกทางเดินอาหาร เป็นยาระบาย ขจัดพิษออกจากระบบทางเดินอาหาร ใช้ช่วยลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ขจัดไขมัน ช่วยละลายเสมหะ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้ไอ แก้ไข้ รักษาโรคลำไส้ แก้ท้องอืด บิด รักษาโรคตับ ขับปัสสาวะ แก้ซางเด็ก รักษาโรคตาแดง ต่อมน้ำตาพิการ แก้โรคผิวหนัง พอกฝีให้แตกยุบเร็ว เมล็ดคั่วบดเป็นผงพ่นจมูกทำให้จาม รักษาริดสีดวงจมูก ฝักแก่ส้มป่อย ใช้สระผมแก้อาการคันศีรษะขจัดรังแค ยอดใบส้มป่อยมีสารเบต้า-แคโรทีน และวิตามินเอมาก ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ได้ดียิ่งนัก

คุณค่าทางอาหาร ที่ส้มป่อยส่งต่อสารสำคัญให้ร่างกายผู้บริโภค ยอดใบอ่อน มีส่วนประกอบของน้ำ 85.6% แคลเซียม 95 มิลลิกรัม วิตามินเอ 1095 IU.วิตามินบีหนึ่ง หรือไทอามีน 0.04 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม หรือไนอะซิน 1.1 มิลลิกรัม วิตามินซี 6.0 มิลลิกรัม วิตามินอี 6.7 มิลลิกรัม สารเบต้า-แคโรทีน 6,568 ไมโครกรัม คุณเคยลองลิ้มชิมรสอาหารที่ปรุงแต่งด้วยยอดส้มป่อยหรือยัง ยอดส้มป่อยช่วยเสริมรสเปรี้ยว ดับกลิ่นคาวปลา เป็นความเปรี้ยวแบบหอมชื่นใจ มีกลิ่นเปรี้ยวเฉพาะตัว หารสเปรี้ยวอย่างอื่นทดแทนไม่ได้ แต่ให้ส้มป่อยทดแทนรสเปรี้ยวอย่างอื่นได้ แกงส้มปลาดุกใส่ยอดตูนกับยอดส้มป่อย สุดยอด ต้มส้มปลากดแม่น้ำ ต้มส้มหมู ต้มข่าไก่ แกงส้ม แกงปลา แกงเขียด จอผักกาด ต้มยำกบ ใส่ยำกบ ต้มยำอึ่งอ่าง ต้มเปรตปลาไหล ส้าผัก ยำผัก แกงใบบอน ตำน้ำพริกสด หมกเห็ด ป่นปลาร้า แจ่วบอง ข้าวยำ ส้มตำถั่ว สำรับกับข้าวของคุณวันนี้ ควรต้องมีส่วนผสมของสมุนไพรที่เป็นสุดยอดสมุนไพร ซึ่งนับวันจะหายากเข้าไปทุกที แถบบ้านเราจะหาสักต้นทำยายังยากอยู่

ส้มป่อย ผักเป็นยา มีมนต์ขลังในสังคมชนบท ชาวบ้านบางคนปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อป้องกันเภทภัย เคราะห์กรรมต่างๆ ชายฉกรรจ์ นักรบ นักเลงโบราณ คนเดินป่าล่าสัตว์ เขามักเป็นคนที่มีคาถาอาคม พลังไสยศาสตร์ เป็นเกราะคุ้มกันภัย เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย ก่อนออกไปผจญชีวิตนอกบ้าน ใช้ส้มป่อย 3 ข้อ ข้าวสุก 3 ก้อน ขว้างไปข้างหลัง ข้างหน้า และข้างบน เอ่ยคำประกาศ “ทุกข์ข้างหลังอย่ามาท่า (รอ) ทุกข์ข้างหน้าอย่ามาจน (ชน) ทุกข์ข้างบนอย่ามาต้อง (ถูก/โดน) หรือเก็บใส่กระเป๋าเสื้อ ใส่ย่าม เหน็บไว้เป็นขวัญพลัง เป็นของขลังไว้คุ้มครองป้องกันภูติผี วิญญาณร้าย ใช้น้ำส้มป่อยล้างหน้า ผู้มีคาถาอาคม เพื่อแก้คุณเสื่อม เมื่อพลั้งเผลอไปลอดราวผ้า ลอดใต้ถุน หรือลอดใต้ร้านบวบ ใครปลูกส้มป่อยไว้ทางทิศเหนือของบ้าน เป็นไม้ที่มีชื่อว่า เป็นมงคล อันหมายถึง การปลดปล่อย เคราะห์โศก สิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย ให้ออกไปจากครัวเรือน และคุ้มภัย มิให้เข้ากล้ำกลาย

โอ้ว่า ตอนนี้ สมบัติล้ำค่าของแผ่นดินชิ้นนี้ กำลังจะสูญหายไป โดยทิ้งไว้ในชื่อ “ส้มป่อย” ที่กังขา และต้องการค้นหาความหมายของชื่อนี้ต่อไป

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ.2566