ที่มา | เทคโนฯ อาชีวะ |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
จังหวัดบึงกาฬ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่งดงามมากมาย โดยเฉพาะพื้นที่บึงโขงหลง เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศสนใจมาเยี่ยมชม บึงโขงหลง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง มีขนาดพื้นที่ 11,494.79 ไร่ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญของจังหวัดบึงกาฬ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ การผลิตประปา และการเพาะปลูก
บึงโขงหลง
บึงโขงหลงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (Ramsar Site) ลำดับที่ 1,098 ของโลก และเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศไทย เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ลำดับที่ 11 ของประเทศ บึงโขงหลงมีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชพันธุ์ สัตว์ป่า และเป็นจุดดูนกอพยพมาหนีความหนาวเย็นจากไซบีเรียและจีน
นอกจากนี้ บึงโขงหลงมีความอุดมสมบูรณ์ด้านระบบนิเวศทางธรรมชาติ จากการศึกษาพบพืชน้ำอย่างน้อย 75 ชนิด ชนิดพันธุ์พืชบก 256 ชนิด พันธุ์ปลา 64 ชนิด นก 27 ชนิด จนได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง นอกจากนี้ ยังมีตำนาน ความเชื่อเกี่ยวพญานาค โดยเฉพาะเรื่องราวของ “ปู่อือลือ” พญานาคต้องคำสาปที่เฝ้าบึงโขงหลง
เมื่อมาเยือนบึงโขงหลง นักท่องเที่ยวจำนวนมากสนใจ แวะกราบไหว้สักการะศาลพ่อปู่อือลือ พร้อมเดินทางไปเกาะดอนโพธิ์ ซึ่งเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีตำนานความเชื่อว่า พญานาคปู่อือลือมักใช้ปฏิบัติธรรมบริเวณเกาะดอนโพธิ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสายมูสนใจเดินทางมากราบไหว้ขอโชคลาภ เพื่อความเป็นสิริมงคลตลอดทั้งปี
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบบึงโขงหลง ส่วนใหญ่ทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก ทำประมงและแปรรูปปลาเป็นอาชีพรอง เนื่องจากกระแสความนิยมการท่องเที่ยวสายมูเติบโตเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจึงหันมาทำอาชีพบริการเรือท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง รวมทั้งจำหน่ายชุดบายศรี ไหว้บูชาพญานาค ศาลพ่อปู่อือลือ เกาะดอนโพธิ์ บึงโขงหลงสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 พันบาทต่อวัน
วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬพัฒนางานวิจัยเพื่อชุมชน
เนื่องจากเกาะดอนโพธิ์ ตั้งอยู่กลางบึงโขงหลง จึงจำเป็นต้องเดินทางด้วยเรือโดยสาร ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการท่าเรือกว่า 50 แห่งรอบบึงโขงหลง ค่าโดยสารตามระยะทาง เฉลี่ย 50-100 บาทต่อคน เรือบริการนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นเรือเครื่องยนต์สันดาปที่สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินทางเป็นอย่างมาก ยิ่งในช่วงภาวะวิกฤตน้ำมันแพง ทำให้ต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อค่าจ้างเหมาเรือมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
จากปัญหาดังกล่าว ทีมนักวิจัย ประกอบด้วย นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ได้แก่ นายธนากร แว่นวงษ์ นายนุศิล ดาวแก้ว นายกิตติศัพท์ สวัสดี และครูที่ปรึกษาคือ อาจารย์สุภาษิต จิตรไทย (โทร. 084-516-5865) อาจารย์นงค์เยาว์ ประสานทอง และ อาจารย์ทศพล บุญเลิศ ได้ร่วมกันออกแบบ เรือพลังงานไฮบริดส่งเสริมการท่องเที่ยว
เรือพลังงานไฮบริด
ภายในเรือมีระบบวิทยุคลื่นสั้น ระบบ GPS เพื่อใช้ติดตามในกรณีหลงทาง ตัวเรือขับเคลื่อนได้ 2 ระบบคือ ระบบมอเตอร์ไฟฟ้า และระบบปั่นด้วยเท้า สามารถชาร์จบรรจุได้ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ ที่มีอยู่ น้ำหนักเบา เป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิด ฟิล์มบาง 88 V 10 A ช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายด้านพลังงานข้างต้น
ทีมนักวิจัยออกแบบตัวเรือจำนวน 3 ขนาด ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ใต้ท้องเรือใช้เป็นทุ่นลอยน้ำ ขนาด 8 นิ้ว ตัวท้ายเรือจะใช้ใบพัดตีน้ำ 8 ใบ ระบบขับเคลื่อนจะใช้เป็นมอเตอร์บัสเลส 72 V 1,500 W แบตเตอรี่ลิเธียม 72 V 50 A วงจรควบคุมมอเตอร์ 48-72 V 3,000 W ประสิทธิภาพของเรือ ความเร็วในการขับเคลื่อน 0-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 200 กิโลกรัม ระยะทาง 20-30 กิโลเมตร ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ระยะทางขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า+ระบบปั่น
นวัตกรรมเรือพลังงานไฮบริดส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นเรือที่รองรับผู้โดยสารไม่เกิน 4 คน โครงสร้างพื้นเรือถูกออกแบบให้ใช้ทุ่นลอยน้ำที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรง ทำให้เวลาเรือพลิกคว่ำแล้วเรือไม่จมเหมือนเรือทั่วไป ทำให้ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร
เรือพลังงานไฮบริดส่งเสริมการท่องเที่ยวมีระบบบังคับเลี้ยวด้วยพวงมาลัยและขับเคลื่อน ด้วยมอเตอร์ BLDC ขนาด 1.5 กิโลวัตต์ 72 โวลต์ ขับเคลื่อน 2 ระบบ ด้วยเพลาท้าย การควบคุมมอเตอร์เป็นกล่องควบคุมชนิด Sine wave รองรับแรงดันระบบ 48-72 โวลต์ ขนาด 2 กิโลวัตต์ มีระบบขับเคลื่อนอิสระด้วยการปั่นด้วยเท้ามีระบบเก็บพลังงานไฟฟ้าเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมฟอสเฟส LIfepo4 ขนาด 72 V 50 Ah ควบคุมการชาร์จแบตเตอรี่ ด้วยระบบชาร์จ 72 V10 Ah กับแท่นชาร์จกลางน้ำหรือสามารถชาร์จปลั๊กไฟบ้านทั่วไปได้
เรือพลังงานไฮบริดส่งเสริมการท่องเที่ยวสามารถนำไปใช้ขนส่งผู้โดยสารเพื่อสร้างจุดเด่นทางด้านการสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร เดินทางจากวิสาหกิจชุมชนท่าเรือสวนแม่กำนัน บึงโขลงหลง จังหวัดบึงกาฬ ไปยังเกาะดอนโพธิ์ ศาลปู่อือลือ จังหวัดบึงกาฬ เดิมนั้นใช้เรือท้องแบนที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปในการขับเคลื่อนซึ่งมีปัญหาเรื่องเรือโคลงเคลงและล่มได้ง่าย นวัตกรรมนี้ สามารถช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากน้ำมัน เพิ่มความปลอดภัยกับผู้โดยสารและเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชุมชนในพื้นที่
ทีมนักวิจัยวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ คาดหวังว่า สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ จะช่วยให้บริการเรือโดยสารกับนักท่องเที่ยวได้ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิงของผู้ให้บริการเรือท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน เสริมสร้างมิติใหม่ด้านการท่องเที่ยวทางน้ำของจังหวัดบึงกาฬ
วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ได้นำผลงาน “เรือพลังงานไฮบริดส่งเสริมการท่องเที่ยว” เข้าร่วมแสดงใน “วันนักประดิษฐ์” และส่งผลงานเข้าประกวดโครงการ I-NEW GEN AWARD 2023 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566
หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ ติดตามชมได้ทางคลิปวิดีโอ : https://youtu.be/dw01j21L_xk และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์สุภาษิต จิตรไทย วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ โทร. 084-516-5865
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ