น้ำหอมจากน้ำปรุง หลักสูตร สร้างอาชีพ “สกร.เขตมีนบุรี”

เขตมีนบุรี เป็น 1 ใน 50 เขตปกครองของจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในอดีตเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญในฝั่งกรุงเทพตะวันออก เป็นพื้นที่ทำสวน ทำไร่ ทำนา บ่อปลา นาบัว แต่ปัจจุบัน กระแสความเจริญของชุมชนเมือง รวมทั้งด้านอุตสาหกรรมรุกล้ำพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้พื้นที่การเกษตรเริ่มลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม มีการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (มีนบุรี) รวมถึงการผลิตและการแปรรูปสินค้าการเกษตรโดยศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรให้ความรู้ด้านการเกษตร

ด้านการจัดการศึกษาในพื้นที่เขตมีนบุรี ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการของประชากรเพราะมีสถานศึกษาในสังกัดภาครัฐ และเอกชนรวม 38 แห่ง ปัจจุบัน ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เขตมีนบุรี (สกร.เขตมีนบุรี) สังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร (สกร.กรุงเทพมหานคร) เป็นหนึ่งในสถานศึกษาทางเลือกของชุมชนแห่งนี้ มีสถานศึกษาในพื้นที่การปกครอง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สกร.แขวงมีนบุรี และ สกร.แขวงแสนแสบ

คณะครูและนักศึกษา สกร.เขตมีนบุรี

สกร.เขตมีนบุรี ภายใต้การนำของ คุณสมถวิล คำทอง ผู้อำนวยการ สกร.เขตมีนบุรี มุ่งมั่นทำหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สกร.เขตมีนบุรี มีผลคะแนนเฉลี่ยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน (N-NET) ครั้งที่ 2/2565 สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยความขยันตั้งใจและเอาใจใส่ของคณะครู และนักศึกษา สกร.เขตมีนบุรี จากอยู่อันดับบ๊วย ขึ้นมาอยู่ในระดับ TOP 5 ได้อย่างน่าชื่นชม

หลักสูตร น้ำหอมจากน้ำปรุง

สกร.เขตมีนบุรี มุ่งเน้นจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำในกลุ่มอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม คหกรรม และอาชีพเฉพาะทางหรือการบริการ ที่สอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน ความต้องการและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้เด่นต่อหนึ่งศูนย์ฝึกอาชีพ รวมทั้งให้มีการกำกับ ติดตามและรายงานผลการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

น้ำหอมไทยจากน้ำปรุง

“ผลิตภัณฑ์น้ำหอมจากน้ำปรุง” เป็นหนึ่งในหลักสูตรอบรมอาชีพระยะสั้น จำนวน 30 ชั่วโมง ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป เพราะเป็นตำรับโบราณประยุกต์ เครื่องหอมภูมิปัญญาไทย ที่ถ่ายทอดจาก คุณสุวรรณา กลิ่นเอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเครื่องหอมมายาวนาน แบ่งการเรียนเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้อบรมมีความรู้ความเข้าใจเครื่องปรุงเครื่องหอม ที่ประกอบด้วยดอกไม้หลากหลายชนิดและเครื่องปรุงต่างๆ เข้าใจวิธีการทำน้ำหอมมี 3 วิธีหลักๆ คือ การอบ การร่ำ และการปรุง

คุณสุวรรณา กลิ่นเอี่ยม ครูผู้สอนหลักสูตรน้ำหอมไทยจากน้ำปรุง

การอบรมอาชีพ เน้นให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย ทำได้จริง เรียนแล้วสามารถต่อยอด พัฒนาสูตรได้เอง  นอกจากนี้ ครูผู้สอนยังได้สอดแทรกสาระความรู้เกี่ยวกับเครื่องใช้ เครื่องปรุง และวิธีนำไปใช้งาน เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจและรู้จักเครื่องหอมแต่ละประเภทมากขึ้นเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งในการรักษาสุขภาพแบบองค์รวม นอกจากความหอมจะให้ความสดชื่นแล้ว ยังช่วยในด้านจิตใจ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ใช้ดูแลความงามใช้เป็นของชำร่วย ใช้ในงานพิธีและงานเทศกาลต่างๆ ด้วย

“น้ำปรุง” เป็นน้ำหอมที่ได้มาจากการสกัดกลิ่นหอมของดอกไม้หลายๆ ชนิด ซึ่งมักจะใช้ดอกไม้ที่หาได้ง่ายๆ เช่น ดอกมะลิ ดอกโมก ดอกจำปี จำปา กระดังงา กุหลาบ ชมนาด สายหยุด พุทธชาด ฯลฯ  การทำน้ำปรุง จะใช้วิธีลอยดอกไม้สดในน้ำสะอาดเป็นเวลาหลายๆ วัน และต้องเปลี่ยนดอกไม้ทุกวัน เพื่อให้คงกลิ่นหอมไม่จางหายไปและได้น้ำปรุงที่มีคุณภาพ ก่อนจะนำน้ำลอยดอกไม้ไปอบควันเทียนซ้ำกัน หลายๆ ครั้งเพื่อใช้ในการปรุง

ดอกแก้วที่นำมาหมักน้ำปรุง

วิธีการทำน้ำหอมจากน้ำปรุง

การทำน้ำปรุงเครื่องหอมไทย เริ่มจากจัดเตรียม วัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ น้ำดอกไม้สด 1/4 ถ้วยน้ำมันหอมกลิ่นลำเจียก 1/4 ช้อนชา น้ำมันหอมกลิ่นกุหลาบ 1/4 ซ้อนชา น้ำมันหอมกลิ่นมะลิ 1/4 ช้อนชา น้ำมันหอมกลิ่นไฮซิน 1/4 ช้อนชา น้ำมันจันทร์ 1/4 ซ้อนชา มัส (ตัวตรึงกลิ่นให้ติดทนนาน) 1/4 ช้อนชา เทส่วนผสมทุกอย่างใส่ขวดเปล่า แล้วเขย่าเบาๆ ให้เข้ากันปิดฝาพักไว้

การทำส่วนผสม ชุดที่ 2 ประกอบด้วย เอทิลแอลกอฮอล์ 70-90% 1 1/2 ถ้วย แบ่งเอทิลแอลกอฮอล์ 70-90% ใส่ขวดเปล่า ขวดละ 1/2 ถ้วย จำนวน 3 ขวด ใบเนียมหั่นเป็นท่อนๆ 9 ใบ ใบเตยหอมหั่นเป็นท่อนๆ 5 ใบ ผิวมะกรูด 1/4 ถ้วย พิมเสน 1 1/2 ช้อนโต๊ะ ขั้นตอนการทำ นำใบเนียมใส่ในขวดเอทิลแอลกอฮอล์ 70-90% ขวดที่ 1 นำใบเตยหอมใส่ในขวดเอทิลแอลกอฮอล์ 70-90% ขวดที่ 2

ดอกปีบ หรือกาสะลอง ก็นำมาทำน้ำปรุงได้

นำผิวมะกรูด และพิมเสม ใส่ในขวดเอทิลแอลกอฮอล์ 70-90% ขวดที่ 3 (เขย่าให้เข้ากัน) ปิดฝาพักไว้ 1 วัน จึงกรองเอาเศษใบไม้ออก นำของเหลวทั้ง 3 ขวดผสมรวมเข้าด้วยกัน แล้วจึงนำส่วนผสมที่ 1 ที่เตรียมไว้เทผสมในส่วนผสมชุดที่ 2 จนหมด (เมื่อผสมแล้ว หากส่วนผสมที่ได้มีลักษณะขุ่น ให้เติมเอทิลแอลกอฮอล์ 70-90% ลงไปทีละนิดจนน้ำปรุงมีลักษณะใส จึงหยุดเติม) นำใส่ขวดทึบแสงพักบ่มทิ้งไว้ 3 เดือน เก็บในที่ๆ ไม่มีแสงแดด

หากไม่ชอบกลิ่นที่เลือกให้ก็เปลี่ยนเอาเองตามความชอบ แต่เจ้ามัสนั้นควรใส่เพราะเป็นตัวประสานกลิ่นหอมต่างๆ ให้เข้ากัน ขั้นตอนสุดท้ายคือน้ำที่อบควันเทียนสามรอบและอบด้วยดอกไม้สด 1 คืน เครื่องปรุงมีเพียงเท่านี้ จะเห็นว่ามีไม่มากเท่าเครื่องปรุงในการทำน้ำอบไทย วิธีทำขอแบ่งเป็นขั้นตอนเพื่อความเข้าใจได้ง่าย ขั้นตอนแรกเริ่มด้วยการอบน้ำที่จะมาปรุงเสียก่อน และยังเป็นตัวตรึงกลิ่นให้ติดทนนาน

มะลิที่นำมาหมักน้ำปรุง

คุณสมบัติของวัตถุดิบ

ในการทำน้ำปรุงน้ำหอมของไทย

บุหงาดอกไม้สด เป็นการใช้ดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอมและใบไม้ สมุนไพรหอมต่างๆ ผสมกับหัวน้ำมันหอม

สารตรึงกลิ่น ผสมคลุกเคล้ารวมกัน นำไปใส่ในบรรจุภัณฑ์ ใช้เป็นของชำร่วยในงานมงคลต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิด เทศกาลสงกรานต์

บุหงาดอกไม้หอม (ดอกไม้แห้ง) เป็นการใช้ดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอมและใบไม้ สมุนไพรหอมต่างๆ นำไปผ่านกรรมวิธีทำให้แห้งสะอาด และคลุกเคล้าหัวน้ำมันหอม สารตรึงกลิ่น นำไปใส่ในบรรจุภัณฑ์ ใช้เป็นของชำร่วยในงานมงคลต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิด เทศกาลสงกรานต์

น้ำอบไทยดอกไม้สด เป็นการปรุงกลิ่นด้วยควันหรือปรุงกลิ่นด้วยดอกไม้หอม การอบให้มีกลิ่นหอมชั่วระยะหนึ่งกลิ่นหอมนั้นจะซึมซาบเข้าไปในของที่นำไปอบ ใช้ผสมแป้งกระแจะ สำหรับเจิมในพิธีการต่างๆ ใช้สรงน้ำพระพุทธรูปและรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ในเทศกาลต่างๆ เป็นต้น นอกจากจะมีกลิ่นหอมแล้ว ยังช่วยทำให้สดชื่นได้อีกด้วย

เข้าร่วมคัดเลือกผลิตภัณฑ์สินค้า กศน.พรีเมี่ยม ประจำปี 2566

แป้งร่ำสมุนไพร คือแป้งชนิดหนึ่งที่ผสมเครื่องหอมและอบร่ำให้มีกลิ่นหอม ใช้สำหรับทาหน้า ผสมน้ำอบหรือน้ำปรุง แล้วชโลมตัวเพื่อลดอาการระคายผิว ทำให้สบายตัว การทาแป้งร่ำยังช่วยให้หน้าไม่มัน มีกลิ่นหอมสดชื่นแป้งพวงมาลัย คือแป้งหอมที่มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ติดเรียงบนเส้นด้าย นำมาผูกติดกับดอกไม้ประดิษฐ์หรือริบบิ้น

มาลัยแป้งพวง คือแป้งที่มีความงดงาม อ่อนหวาน ประณีต และมีกลิ่นหอมจรุงใจ เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ที่สามารถประดิดประดอย ดัดแปลง แป้งร่ำและน้ำปรุง ขึ้นมาเป็นแป้งพวงที่สามารถใช้บูชาพระ ไหว้ผู้ใหญ่ บุคคลที่เคารพ มอบเป็นของขวัญหรือตั้งโชว์ หรือประดับผม แทนพวงดอกไม้ และยังให้กลิ่นหอมอ่อนๆ ยามเมื่อต้องลมเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เพื่อใช้เป็นของชำร่วยหรือของขวัญสำหรับเทศกาล เก็บไว้ในตู้เสื้อผ้าหรือวางในห้อง ให้กลิ่นหอมยาวนาน

คุณสุพรพรรณ สุทธนนท์พรรณ ผู้อำนวยการ สกร.กทม ชื่นชมน้ำหอมไทยจากน้ำปรุง

น้ำปรุงดอกไม้สด น้ำปรุงเป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับน้ำอบไทย มีกลิ่นหอมเย็นและให้ความรู้สึกแบบไทยๆ ใช้ใส่ผ้าเช็ดหน้าหรือฉีดบุหงาให้มีกลิ่นหอม สกัดจากส่วนผสมที่ได้จากธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีเจือปน ด้วยกรรมวิธีการทำแบบโบราณ จึงปลอดภัยกับผู้ใช้ เป็นน้ำปรุงตำรับชาววัง

ธูปหอม เป็นธูปทรงพีระมิด มีขนาดรูปทรง สี และกลิ่นแตกต่างกันออกไป เช่น กลิ่นกุหลาบ กลิ่นมะลิ กลิ่นส้ม เป็นต้น ใช้จุดให้เกิดกลิ่นหอมภายในห้อง เพื่อกำจัดกลิ่นอับและเพิ่มความหอม หรือใช้เป็นของขวัญในโอกาสพิเศษ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจากเฟซบุ๊ก : สกร.เขตมีนบุรี และ สุวรรณา กลิ่นเอี่ยม