ที่มา | เทคโนฯ อาชีวะ |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
เก็บตก ผลงานวิจัยเด่นและนวัตกรรมอาชีวศึกษาในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” จัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ในปีนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมออกบูธ นำเสนอผลงานภายใต้ชื่อ “การพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอเพื่อยกระดับชุมชนสู่ความยั่งยืน” ประกอบด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรมอาชีวศึกษา จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ผ้าร่วมสมัยลายอัตลักษณ์ประจำถิ่น โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี 2. ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกผัดมัดย้อมสีธรรมชาติสีลูกจาก โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี 3. อุปกรณ์ขับเคลื่อนกระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ โดย วิทยาอาชีวศึกษาสกลนคร 4. DWM เครื่องฟอกย้อมและล้างเส้นด้ายระดับชุมชน โดย วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ
การนำเสนอผลงานนิทรรศการในครั้งนี้ มุ่งยกระดับทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกี่ยวกับ “สิ่งทอ” (Textile) ซึ่งถือเป็น Soft Power ที่สำคัญของไทย โดยใช้กระบวนการด้านการวิจัยมาบูรณาการต่อยอดเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยได้ร้อยเรียงเรื่องราว (Storytelling) ในการนำเสนอที่ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ “เรียนรู้อดีต” วิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ “เข้าใจปัจจุบัน” วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับบริบทสังคมร่วมสมัย จนเกิดอัตลักษณ์ใหม่และภาพจำใหม่ที่สอดคล้องกับรสนิยมและวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน “สร้างสรรค์อนาคต” วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญาสู่การพัฒนาต่อยอดทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในเชิงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
อุปกรณ์ขับเคลื่อนกระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ
นวัตกรรมชิ้นนี้ เป็นผลงานของนักศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร ประกอบด้วย นางสาวศรัญญา พยุง นางสาวน้ำทิพย์ โคตะ นายณรัฐ ลีทนทา นายณัฐพงษ์ ชมภูราช นางสาวกมลพร บุบผาวัน นายพีรพล นันแพง และทีมอาจารย์ที่ปรึกษา ได้แก่ นายณัฐพล สิงห์แม่ง นายอนันต์ ศรีธัญญาลักษณ์ นายฤทธิ์ณรงค์ คำหงษา นางพงษ์ลดา วงศ์แสง นายถาวร อินทะชัย
กระสวยทอผ้าขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) พร้อมชุดขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ สามารถเคลื่อนที่ซ้าย ขวา และหยุด ลดความยากลำบากในการสอดกระสวยทอผ้าและการใช้แรงงานในการพุ่งกระสวยสำหรับกี่กระตุกที่มีขนาดหน้ากว้าง จากการนำไปทดลองใช้จริงในพื้นที่กลุ่มทอผ้า “ภูพานพัตร” บ้านกกกอกใหม่ ตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ปรากฏว่า ได้ผลดี ทำให้ชาวบ้านสามารถทอผ้าได้หน้ากว้างขึ้นและทอได้เร็วขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับกลุ่มทอผ้า “ภูพานพัตร” เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่บ้านกกกอกใหม่ซึ่งทำนาเป็นอาชีพหลัก และทอผ้าย้อมครามเป็นรายได้เสริม ต่อมาตลาดเริ่มมีคำสั่งซื้อผ้าย้อมครามเป็นจำนวนมาก แต่สมาชิกกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ทอผ้าได้ช้า
“วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร” ซึ่งได้รับงบประมาณจากจังหวัดสกลนคร เพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ด้านเศรษฐกิจ จากผลกระทบวิกฤตโรคโควิด-19 เล็งเห็นปัญหาของชุมชนจึงคิดค้นนวัตกรรม “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตขึ้นเป็น 2 เท่า ทันต่อความต้องการของตลาด จากเดิมที่เคยทอผ้าได้เดือนละ 50 เมตร ก็เพิ่มกำลังการผลิตเป็นเดือนละ 100 เมตร ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าย้อมครามกว่าเดือนละ 60,000 บาท
สำหรับผลงาน “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” ได้รับรางวัลอันดับ 3 ของโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ภาคอีสาน ประจำปี พ.ศ. 2565 อีกด้วย นอกจากนี้ ทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนครได้คิดค้น นวัตกรรม “กี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” ส่งเข้าประกวดแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติ จัดโดย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในงาน TECHNO MART 2023 “พลังนวัตกรรมขับเคลื่อนอนาคต” พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ณ IMPACT Exhibition center HALL 12 เมืองทองธานี ก็คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 มาครองด้วยเช่นกัน
DWM เครื่องฟอกย้อม
และล้างเส้นด้ายระดับชุมชน
ส่วน DWM เครื่องฟอกย้อมและล้างเส้นด้ายด้วยแหล่งพลังงานเตาเผาชีวมวลช่วยประหยัดพลังงาน ทดแทนการใช้แรงงานคนด้วยเครื่องจักร ลดปัญหาด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน สามารถควบคุมคุณภาพด้วยการตั้งเวลา และควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติพร้อมกลไกการหมุนเวียนสีย้อมไม่ให้ตกตะกอน ทำให้สีย้อมมีความสม่ำเสมอและย้อมได้มากที่สุดถึง 18 ไจต่อครั้ง ส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของกลุ่มทอผ้าในพื้นที่ได้อย่างดี
นวัตกรรมชิ้นนี้เป็นผลงานของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ ได้แก่ นางสาวปิยะวรรณ สินชู นางสาวกานต์สินี สุทธิ์ฤทธิ์ นางสาวอภิญญา บางสวนหลวง และอาจารย์ที่ปรึกษา คือ อาจารย์ศักนรินทร์ ผิวเหลือง และ อาจารย์ชัชวาลย์ อานนท์
DWM เครื่องฟอกย้อมและล้างเส้นด้ายระดับชุมชน ทำให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถประกอบอาชีพการย้อมสีผ้าได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตอบโจทย์การทำงานของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยได้อย่างดี ด้วยคุณลักษณะเด่นดังกล่าว ทำให้นวัตกรรมชิ้นนี้ ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดหนองบัวลำภู ประจำปีการศึกษา 2565 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 สิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน ระดับอาชีวศึกษา กลุ่มที่ 1 การเกษตร ในการประกวดเวที Thailand New Gen Inventors Award : I-New Gen Award 2023 สนใจนวัตกรรมชิ้นนี้ชมผลงานได้ทางคลิปวิดีโอ : https://drive.google.com/file/d/1j_mhhRjwSGQUc34qa23bAHP4USCUwO_a/view?usp=sharing
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี