หญ้าเนเปียร์ อาหารสัตว์โปรตีนสูง ช่วยลดต้นทุน ดูแลง่ายโตเร็ว

“หญ้าเนเปียร์” หรือ “หญ้าบาน่า” เป็นหญ้าที่ถูกนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เมื่อสัตว์กินเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกายและไม่เป็นพิษต่อสัตว์อีกด้วย  เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว แพะ แกะ ปลา ไก่ นิยมนำมาปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารหยาบเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม เพื่อช่วยลดต้นทุน

มีคุณค่างทางอาหารสัตว์สูง เป็นหญ้าที่มีโปรตีนสูงอีกด้วย รวมถึงสามารถเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตต่อไร่สูง สามารถเก็บเกี่ยวต้นได้ตลอดทั้งปี และเก็บเกี่ยวได้นาน 5-7 ปีต่อการปลูก 1 ครั้ง

ช่วงหน้าแล้งหญ้าเนเปียร์จะโตช้า การนำหญ้าเนเปียร์สดมาบด ปั่น ตากแห้งเก็บไว้ในช่วงหน้าแล้ง จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่ส่วนใหญ่ทำกัน โดยใช้เทคนิคเดียวกันกับการปลูกอ้อย เป็นพืชที่ดูแลง่าย ใช้ระยะเวลาให้ผลผลิตประมาณ 45 วัน

ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสม

สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่โดยทั่วไปควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม

สายพันธุ์หญ้าเนเปียร์

  1. หญ้าเนเปียร์ยักษ์

ชื่อสามัญ : King grass

ชื่อวิทยาศาสตร์ : P. purpureum King grass

ต้นประเทศที่นำเข้า : ประเทศอินโดนีเซีย

ปีที่นำเข้า : มกราคม 2533

ผู้นำเข้า : นายชาญชัย มณีดุล

ลักษณะเด่นชัด : ลำต้นสูง แตกกอง่าย ใบและลำต้นมีขน ให้ผลผลิตต่อไร่สูง 10-60 ตันต่อไร่ต่อปี หรือมากกว่า (ตัดหลายรุ่นต่อปี) ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ

  1. หญ้าเนเปียร์แคระ

ชื่อสามัญ : Mott Dwarf Elephant Grass

ชื่อวิทยาศาสตร์ : P. purpureum cv. Mott

ต้นประเทศที่นำเข้า : มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปีที่นำเข้า : พฤศจิกายน 2532

ผู้นำเข้า : นายวิฑูรย์ กำเนิดเพชร

ลักษณะเด่นชัด : ลำต้นเตี้ย แตกกอง่าย เป็นพุ่ม ใบและลำต้นมีขน

  1. หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 (พันธุ์ลูกผสม)

ชื่อสามัญ : Pak Chong 1

ชื่อวิทยาศาสตร์ : P. purpureum x pennisetum americanum

พันธุ์ดั้งเดิม : หญ้าเนเปียร์ยักษ์ และหญ้าไข่มุก

หน่วยงานพัฒนาสายพันธุ์ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ โคราช กรมปศุสัตว์

ลักษณะเด่นชัด : ลำต้นสูงใหญ่ เหมือนเนเปียร์ยักษ์ ลำต้นอวบ และออกเขียวอ่อน ใบ และลำต้นไม่มีขน ลดการคันขณะเก็บเกี่ยว ให้ผลผลิตเหมือนกับหญ้าเนปียร์ยักษ์ ผลผลิตต่อไร่สูง 10-60 ตันต่อไร่ต่อปี หรือมากกว่า (ตัดหลายรุ่นต่อปี) ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ

หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นหญ้าระหว่างหญ้าเนเปียร์ยักษ์ และหญ้าไข่มุก ซึ่งในปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และนิยมอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ลำต้นมีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงได้มากกว่า 4 เมตร ลำต้นมีระบบรากแข็งแรง สามารถดูดนํ้า และปุ๋ยได้ดี 

เป็นหญ้าที่เจริญเติบโตเร็ว โดยเฉพาะน้ำเสียจากอุตสาหกรรมการเกษตรต่างๆ อาทิ น้ำเสียจากโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง เมื่อให้แก่ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 พบว่า ลำต้น และใบตอบสนองได้ดีมาก จึงเป็นประโยชน์อีกทางที่จะนำน้ำเสียมากำจัด และใช้ประโยชน์ได้มาก

การปลูกหญ้าเนเปียร์

การเตรียมดิน

เริ่มไถพื้นเมื่อฝนตกครั้งแรก ขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม เพื่อเปิดหน้าดินและทำลายวัชพืช เป็นคำแนะนำจากกรมปศุสัตว์ หลังจากนั้นปล่อยทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์จากนั้นไถพรวนอีก 1-2 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้ละเอียดและร่วนซุยมากขึ้น

การเตรียมท่อนพันธุ์

ท่อนพันธุ์หญ้าเนเปียร์ เตรียมโดยนำต้นหญ้าที่มีอายุ 4-6 เดือนมาตัดเป็นท่อนสั้นๆ แต่ละท่อนมีข้อติดอยู่ 1-2 ข้อ หรือตัดท่อนพันธุ์ยาวทั้งต้น นำไปใช้ปลูกได้โดยตรง หญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ สามารถใช้ตัดเป็นท่อนพันธุ์ สำหรับปลูกในพื้นที่ ประมาณ 10-20 ไร่

วิธีการปลูก

ปลูกด้วยท่อนพันธุ์ ปลูกหลุมละ 2 ท่อนให้ข้ออยู่ใต้ดินลึก 1-2 นิ้ว ระยะปลูก 75×75 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ท่อนพันธุ์ 300-600 กิโลกรัม หรือใช้วิธีที่เกษตรกรแนะนำ คือ นำท่อนพันธุ์ขนาดยาว 20 เซนติเมตร ปลูกให้มีลักษณะตั้งเอียง อยู่ที่ 45 องศา ปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 40-50 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถว 1.20 เมตร คล้ายๆ กับปลูกอ้อย คอยหมั่นดูดินในแปลง ถ้าดินแห้งก็ใส่น้ำเข้าแปลง พอหญ้าเนเปียร์ได้อายุ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ประมาณ 3 กระสอบ ในพื้นที่ 5 ไร่ จากนั้นรอต่อไปอีก 2 เดือน หญ้าเนเปียร์ชุดแรกก็จะโตพร้อมให้ตัดขายได้

การใส่ปุ๋ย

ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้น และควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย ควรใส่ปุ๋ยยูเรีย (40-0-0) อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ หลังการตัดทุกครั้ง

การให้น้ำ

ควรมีการให้น้ำช่วงฤดูแล้ง และในระยะช่วงฝนทิ้งช่วง วิธีการให้น้ำสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ปล่อยน้ำเข้าแปลงพอให้ดินชุ่มชื้นทุก 1-2 สัปดาห์ หรือใช้ระบบสปริงเกลอร์ทุก 3-5 วัน

การใช้ประโยชน์ทางอาหารสัตว์

  1. หญ้าสด

ควรเก็บเกี่ยวเนเปียร์เป็นครั้งแรกหลังปลูก 2-4 เดือน เมื่อมีความสูง 1-1.2 เมตร หลังจากนั้นควรเก็บเกี่ยวหญ้าในช่วง 6-8 สัปดาห์ที่ความสูงเท่ากัน หญ้าเนเปียร์ที่ได้รับการจัดการอย่างดีสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกเดือนในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้น หรือทุกๆ 2 เดือนในพื้นที่แห้งแล้ง

  1. ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

ควรเล็มหญ้าอย่างหนักเพื่อให้ใบและยอดอ่อนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุดสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง การแทะเล็มช่วงสัปดาห์ที่ 6-9 ที่ความสูงประมาณ 90 เซนติเมตร จะให้การใช้ประโยชน์ที่ดี สามารถให้ปุ๋ยไนโตรเจนได้หลังจากการแทะเล็มหรือการตัดหญ้า

  1. หญ้าแห้ง

ควรตัดหญ้าในระยะการเจริญเติบโต เนื่องจากลำต้นจะหยาบเกินไปเมื่อต้นแก่ ในไต้หวันหญ้าเนเปียร์ใช้ในการผลิตเม็ดหญ้าแห้งที่ใช้เป็นอาหารสัตว์สำรอง

  1. หญ้าหมัก

หญ้าเนเปียร์สามารถนำไปหมักเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น หมักด้วยกากน้ำตาล หรือมันสำปะหลังเพื่อปรับปรุงคุณภาพการย่อยได้

วิธีการหมัก

– ตัดหญ้าที่อายุประมาณ 30-45 วัน

– หั่นหญ้าให้มีขนาดเล็กลงด้วยเครื่องบดและตัดหญ้า ให้มีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร

– บรรจุลงในถุง หรือกระสอบพลาสติกที่ใช้แล้ว อัดให้แน่นพร้อมกับปิดปากถุงให้สนิท

– ถ้าหากใช้กระสอบพลาสติกสาน ให้หุ้มด้วยด้านนอกพลาสติกบางใสอีกชั้น เพื่อป้องกันอากาศจากภายนอก เมื่อหมักได้ 3 สัปดาห์ สามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้ 

– ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป เพราะถุงหรือกระสอบอาจถูกแมลงกัดแทะจนเสียหายได้

ลักษณะเด่นของหญ้าเนเปียร์

– เติบโตเร็ว ให้ผลผลิตต่อไร่สูง

– ลำต้นและใบมีน้ำตาล และโปรตีนสูง รวมถึงโภชนาการอื่นๆ สูงด้วย

– ลำต้นและใบมีความอ่อนนุ่ม ใบไม่มีขนและไม่มีคม ทำให้สัตว์ชอบกิน

– ตอบสนองต่อน้ำและปุ๋ยได้ดี

– ลำต้นแตกกอ และเติบโตเร็ว

– ลำต้นและใบแก่ช้า

– ทนต่อสภาพแล้งได้

– เติบโตได้ดี แม้ในฤดูหนาว

– ฤดูหนาวสามารถเติบโตได้ดี ลำต้นไม่หยุดชะงัก

– มีระยะออกดอกสั้น ไม่ติดเมล็ด

– ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี และเก็บเกี่ยวได้นานถึง 5-7 ปี หลังจากการปลูก

– มีปริมาณน้ำตาลในใบและลำต้นสูง

– ไม่มีโรคและแมลงรบกวน

– เหมาะกับฟาร์มหรือเกษตรเลี้ยงโค กระบือ ที่มีพื้นที่น้อย

หญ้าเนเปียร์ เป็นพืชพลังงานสีเขียว ในกลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพมีโครงสร้างสารอาหารเหมาะต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดก๊าซ มีศักยภาพนำมาผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับผลิตไฟฟ้า เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตพลังงานทดแทนเทียบเท่าประมาณ 10,000 MW เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะตัวโดดเด่น เพราะสามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ในพื้นที่แห้งแล้ง หรือในดินเลวที่ไม่สามารถปลูกพืชไร่เศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ได้ดี

ขอบคุณข้อมูลจาก : Thai farmers library / รักบ้านเกิด