แพทย์แผนไทย กับการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและวัยผู้ใหญ่กลางคน ซึ่งมีสาเหตุจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลที่กินเข้าไปได้หมด จึงทำให้น้ำตาลคั่งอยู่ในเลือด ถ้ามีน้ำตาลในเลือดมากจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ จึงเรียกอาการดังกล่าวว่า “เบาหวาน” (เบา หมายถึง ปัสสาวะ)

ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย ได้มีการบันทึกไว้เกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคเบาหวาน โดยเน้นการใช้พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านที่หาง่ายในท้องถิ่น และส่วนใหญ่มักใช้มาประกอบเป็นอาหารกินเป็นประจำ เป็นที่น่าสังเกตว่าคนไทยในสมัยโบราณ “กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นพื้น” มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่ปัจจุบันพฤติกรรมกินอาหารเปลี่ยนแปลงไป มีค่านิยมเลียนแบบสังคมตะวันตก เน้นการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ซึ่งมีไขมันสูงและกินผักน้อยลง

ดังนั้น หากมองไปรอบครัวของเรา อาจจะพอหาสมุนไพรพื้นฐานที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดที่ใช้กินได้ ดังนี้

มะระ ใช้ผลดิบที่ยังไม่สุกและยอดอ่อนใช้กินเป็นผักจิ้ม ผลของมะระนำมาลวกกินกับน้ำพริก ซึ่งจะมีสรรพคุณทางยาตามตำรายาไทยว่า มะระขี้นก เป็นยารสขม ช่วยเจริญอาหาร น้ำคั้นจากผลช่วยแก้ไข้และใช้อมแก้ปากเปื่อย ใบสดของมะระขี้นก หั่นชงกับน้ำร้อนใช้ถ่ายพยาธิเข็มหมุด

และนอกจากนั้น ผลและใบของมะระยังมีสารที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่ พี-อิน-ซูลิน (p-insulin) ซึ่งเป็นสารโปรตีน และคาแรนติน (charantin) จึงเป็นข้อมูลสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้นำผลมะระมาประกอบเป็นอาหาร และยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

ตำลึง เป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ประกอบด้วยวิตามินเอ แร่ธาตุ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินอื่นๆ อีกมาก ยอดตำลึงใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงจืด ผัดผัก ลวกจิ้มน้ำพริก แกงเลียง ใส่ก๋วยเตี๋ยว

นอกจากจะมีประโยชน์และคุณค่าทางอาหารสูง ในตำลึงยังพบกรดอะมิโนหลายชนิด ในผลตำลึงพบสารคิวเดอร์ บิตาซินบี (Cucurbitacin B) ซึ่งมีสรรพคุณทางยาในใบและเถาตำลึง มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ โดยมีการทดลองในน้ำคั้นจากใบและเถาตำลึง น้ำคั้นจากผลดิบ และสารสกัดจากเถาตำลึงด้วยแอลกอฮอล์ พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายที่เป็นเบาหวานได้

เตยหอม ใบเตยมีสีเขียว น้ำคั้นจากใบเตย มีกลิ่นหอมนำมาใช้แต่งสีขนม แต่งกลิ่นอาหาร นอกจากนี้ ยังนิยมนำมาเป็นเครื่องดื่ม น้ำที่ได้จากใบเตยมีสารสำคัญหลายชนิด เช่น ไลนาลิลอะซีเตท (Linalyl acetate) เบนซิลอะซีเตท (Benzyl acetate) ไลนาโลออล (Linalool) และเจอรานิออล (Geraniol) และมีสารหอมคูมาริน (Coumarin) และเอททิลวานิลลิน (Ethyl vanilin)

สรรพคุณทางยาในตำรายาไทย ใช้ใบเตยสดเป็นยาบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น ช่วยลดอาการกระหายน้ำ รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ใช้รักษาเบาหวาน น้ำต้มรากเตยสามารถลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้

อย่างไรก็ตาม การนำสมุนไพรมาใช้เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องไปตรวจร่างกายเป็นประจำและต่อเนื่อง เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการกินสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือดหลายๆ ชนิด

ขอบคุณข้อมูลจาก อภัยภูเบศรสาร ฉบับที่ 92-93 คอลัมน์ เรือนไทย โดย กาญจนา บัวดอก

………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ.2560