ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign prostate hyperplasia; BPH) เป็นความผิดปกติที่พบได้ถึง 80% ของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต่อมลูกหมาก ซึ่งสาเหตุของโรคยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่เชื่อว่าอายุ ที่เพิ่มขึ้น ระดับฮอร์โมน testosterone ที่ลดลง และระดับของฮอร์โมน dihydrotestosterone (DHT) ที่เพิ่มขึ้น จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่อมลูกหมากโต อาการที่พบคือ ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน ใช้เวลาในการปัสสาวะนาน รู้สึกว่าถ่ายปัสสาวะไม่หมดกลั้นปัสสาวะได้ไม่นาน ต้องการปัสสาวะทันทีและอาจพบการติดเชื้อได้
การรักษาในปัจจุบันจะเริ่มต้นด้วยการรอดูอาการ ซึ่งในระหว่างนั้นผู้ป่วยต้องงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ไม่รีบปัสสาวะ เลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ก่อนนอน เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้เพื่อไม่ให้ท้องผูก และเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่อาจกระตุ้นให้อาการเพิ่มขึ้น หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการใช้ยา (เช่น -blockers, 5 -reductase inhibitors,muscarinic receptor antagonists, phosphodiesterase5 inhibitors เป็นต้น) การผ่าตัด หรือให้ความร้อนที่มีแหล่งพลังงานจากคลื่นไมโครเวฟ
ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์และนอกจากการรักษาแผนปัจจุบัน การใช้สมุนไพรหรือสารสกัดจากสมุนไพรก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการของภาวะต่อมลูกหมากโต และสมุนไพรที่หาได้ง่าย และมีงานวิจัยยืนยันว่าสามารถใช้บรรเทาภาวะต่อมลูกหมากโตได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ มะเขือเทศ
มะเขือเทศ
มะเขือเทศ หรือ Tomato มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycopersicon esculentum Mill. ชื่อพ้องคือLycopersicon esculentum Mill. เป็นพืชในวงศ์ SOLANACEAE สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ส่วนผลและน้ำคั้น ใช้เพื่อทำให้เด็กอาเจียน (ล้างสารพิษ) ห้ามเลือด ลดข้อบวม นิ่วน้ำดี นิ่วที่ไต ลดไข้ และช่วยระบาย นอกจากนี้มะเขือเทศยังเป็นเป็นแหล่งวิตามิน A, B, C, E และ โพแทสเซียมด้วย ส่วนที่นำมาใช้เพื่อบรรเทาภาวะต่อมลูกหมากโตคือ ผลสด หรือผลที่ผ่านกระบวนการต่างๆ โดยมีสารสำคัญคือ สารไลโคพีน (lycopene) ซึ่งเป็นแคโรทีนอยด์ชนิดหนึ่ง
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
รายงานการวิจัยจำนวนมาก ระบุว่าสารไลโคพีนในมะเขือเทศสามารถบรรเทาภาวะต่อมลูกหมากโตได้โดยสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ต่อมลูกหมาก ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5 -reductase ยับยั้งการสร้าง androgen receptor และทำให้ค่า prostate specific antigen (PSA) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเกิดความผิดปกติของต่อมลูกหมาก มีค่าลดลง
นอกจากนี้มะเขือเทศยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ต้านการอักเสบ ช่วยลดไขมันและน้ำตาลในเลือด และมีฤทธิ์ต้านมะเร็งหลายชนิด สำหรับการศึกษาความเป็นพิษพบว่ามะเขือเทศมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษของการบริโภคมะเขือเทศในรูปแบบของอาหารเลย แต่หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้ผิวหนังมีสีเหลืองส้ม ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไปเมื่อหยุดรับประทาน และในรายที่มีอาการแพ้มะเขือเทศ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง หรือไม่อยากอาหารได้การทดสอบค่าความเป็นพิษพบว่า ขนาดของสารไลโคพีนที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือมากกว่า 5 ก./กก.
การศึกษาทางคลินิก
การทดลองทางคลินิกจำนวนมากเช่นกันที่ระบุว่าสารไลโคพีนช่วยบรรเทาภาวะต่อมลูกหมากโตได้โดยท าให้ค่า PSA ของผู้ป่วยลดลง เมื่อให้ผู้ป่วยรับประทานสารไลโคพีนในขนาด 15 มก./วัน นาน3-6 เดือน ซึ่งสารไลโคพีนทำให้ขนาดของต่อมลูกหมากไม่ใหญ่ขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกและการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยสารไลโคพีนอย่างมะเขือเทศ สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก รวมทั้งช่วยลดขนาดและยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งดังกล่าวได้
โดยทั่วไปเรามักได้ยินว่าการรับประทานผักสดนั้นดีที่สุด เพราะจะทำให้ได้คุณค่าทางอาหารสูงสุดแต่หลักการดังกล่าวนั้นใช้ไม่ได้กับมะเขือเทศ เพราะหากต้องการให้ได้รับสารไลโคพีนจากมะเขือเทศเยอะๆเราควรรับประทานมะเขือเทศที่ผ่านกระบวนการ เช่น การปรุงสุกด้วยความร้อน การบีบอัด หรือการบดละเอียด เพื่อให้สารไลโคพีนที่อยู่ในเซลล์พืชถูกปลดปล่อยออกมา จากการเปรียบเทียบปริมาณของไลโคพีนในมะเขือเทศรูปแบบต่างๆ ที่ขนาด 100 ก. พบว่ามีปริมาณของไลโคพีนเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น > มะเขือเทศผง > ซอสมะเขือเทศ > น้ำมะเขือเทศ > ซุปมะเขือเทศเข้มข้น >มะเขือเทศปรุงสุก > มะเขือเทศสด
นอกจากมะเขือเทศแล้ว “ฟักข้าว (Gac)” ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีสารไลโคพีนสูง (มากกว่ามะเขือเทศ 76 เท่า) ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้เพื่อบรรเทาและป้องกันภาวะต่อมลูกหมากโต รวมทั้งลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้
นอกจากมะเขือเทศแล้ว สมุนไพรที่มีงานวิจัยว่าสามารถบรรเทาภาวะต่อมลูกหมากโตยังมีอีกหลายชนิด เช่น ปาล์มใบเลื่อย (Saw palmetto) ปาล์มขวด (Royal palm) ข้าวไรย์ (Rye) ฟักทองข้าวเจ้า(Pumpkin) และตำแยฝรั่ง (Stinging nettle) ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆแต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช้แบบเดี่ยวๆ เนื่องจากประสิทธิภาพยังน้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน การใช้จึงเป็นในลักษณะของการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกันและกัน อีกทั้งยังเป็นการลดผลข้างเคียงหรืออาการอันไม่พึ่งประสงค์จากการสมุนไพรหรือยาเพียงอย่างเดียวด้วยขอบคุณบทความจาก ภญ.กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล