‘ผ้าไหมเหลืองสิรินธร’ ความปีติของ ‘นิพนธ์ มนูทัศน์’ ตระกูลช่างทอสุดท้าย ‘บ้านครัว’

ใจกลางกรุงเทพมหานครไม่ไกลจากเชิงสะพานเจริญผล เขตปทุมวัน ที่นี่คือที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่กว่า 200 ปี ที่อยู่คู่มากับการเริ่มต้นของกรุงรัตนโกสินทร์

“ชุมชนบ้านครัว” ชุมชนมุสลิมเชื้อสายจาม ที่ได้รับพระราชทานที่ดินแถบนี้ตั้งแต่วัดพระยายังไปจรดสะพานหัวช้าง คือแหล่งซ่อนตัวของเพชรเม็ดงาม จุดตั้งต้นของตำนานราชาผ้าไหมไทย จิม ทอมป์สัน

ความซับซ้อนของตรอกแคบๆ ขนาดเมตรเศษ ที่คดเคี้ยวไปมาในชุมชนราวกับเขาวงกต ยากที่คนแปลกถิ่นจะเข้าถึง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนบ้านครัวค่อยๆ จางหายไปจากความทรงจำ

“นิพนธ์ มนูทัศน์” ในวัย 70 ปี มุสลิมเชื้อสายจามเพียงคนเดียวที่ยังคงสืบทอดงานทอผ้าไหมจากบรรพชน เจ้าของแบรนด์“ผ้าไหมไทยบ้านครัว” บอกว่า ทุกวันนี้ผ้าไหมทุกชิ้นยังคงเป็นการทอมือ โดยตนเองเป็นคนออกแบบทั้งลวดลายและสีสัน ขณะเดียวกันก็พยายามพัฒนาให้ผ้ามีความแตกต่างจากผ้าไหมในตลาดทั่วไป เป็นที่มาของ “ผ้าไหมเหลืองสิรินธร”

เป็นลูกชายคนที่ 8 ในบรรดาลูก 10 คนของคุณพ่อสมาน มนูทัศน์ มุสลิมหนองจอก กับ คุณแม่สุรีย์ มนูทัศน์ หนึ่งในช่างทอผ้าไหม ชุมชนบ้านครัว ที่มีโอกาสเข้าไปถวายการรับใช้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อยู่ในกองทอ ภายในวังสระปทุม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จิม ทอมป์สัน นักธุรกิจผ้าไหมไทยชาวอเมริกัน ข้ามฝั่งคลองแสนแสบเข้าไปค้นพบว่าที่นี่คือแหล่งทอผ้าฝีมือดี บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จึงเริ่มต้นขึ้นโดยมีชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมป้อนให้

“มนูทัศน์” คือหนึ่งใน 8 ตระกูลช่างทอ ที่ผู้อยู่เบื้องหลังผ้าไหมไทยที่สร้างชื่อในระดับโลกภายใต้แบรนด์ “จิม ทอมป์สัน”
สำหรับเด็กชายนิพนธ์ ความที่คลุกคลีใกล้ชิดกับแม่มาก มีโอกาสช่วยแม่ตั้งแต่คัดไหม กรอ-ปั่นไหม ตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ

Advertisement

สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกริก ทางด้านบริหารธุรกิจ จากนั้นไปอบรมเพิ่มเติมด้านสิ่งทอที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลังการหายตัวไปของ จิม ทอมป์สัน เมื่อ 50 ปีก่อน นิพนธ์ในฐานะทายาทตระกูล “มนูทัศน์” รุ่นที่ 2 นำผ้าไหมที่ยังเหลืออยู่ออกเร่หาตลาดเอง ด้วยคุณภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทำให้ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าบนศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ โรงแรมโอเรียนเต็ล โรงแรมแชงกรี-ลา ฯลฯ

Advertisement

ยอมรับได้ไม่ยากแบรนด์ “ผ้าไหมบ้านครัว” ที่ดำเนินการโดยนิพนธ์จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการก้าวไปข้างหน้าบนเวทีระดับประเทศและต่างประเทศ โดยมีเขาและคู่ชีวิต วรรณี มนูทัศน์ พร้อมกับลูกๆ ทั้งสามคนเป็นกำลังใจกำลังแรงสำคัญ

ตามไปรู้จักกับเขา-นิพนธ์ มนูทัศน์ ตระกูลช่างทอสุดท้าย “ชุมชนบ้านครัว”…

มุสลิมเชื้อสายจามทุกคนทอผ้าเป็น?

เฉพาะผู้หญิงครับ ถ้าผู้ชายจะทำอย่างอื่น แต่ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับผ้าไหม ผู้ชายอาจจะย้อมผ้า สาวไหม ซึ่งคนที่สนใจจะทอผ้าได้บ้างเป็นบางคนเพราะไม่ยาก

มีกฎห้ามผู้ชายทอผ้า?

ไม่เกี่ยวครับ แต่ผู้ชายใส่เสื้อผ้าไหมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโสร่งหรือเสื้อ เพราะผ้าไหมมาจากสัตว์ ไม่ใช่พืช อนุญาตให้ผู้หญิงใส่ได้อย่างเดียว มีการระบุเลยว่าผู้ชายไม่ควรใส่ไหม นอกจากทำจากสัตว์ยังถือในทำนองว่าเป็นลักษณะของการประดับประดาเหมือนผู้หญิง แต่ถ้าเป็นถ้าไหมทอผสม เช่นผสมฝ้ายสามารถใส่ได้ ผมก็มีผ้าไหม แต่เป็นการเย็บปนกับผ้าชนิดอื่น

ทราบว่าคุณแม่เคยทอผ้าให้ในวัง?

ครับ ทอในวังสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่วังสระปทุม คือหลังจากรัชกาลที่ 5 สวรรคต สมเด็จพระพันวัสสาก็มาประทับอยู่ที่นี่ ตอนที่แม่เข้าไปทอผ้าในวังอายุประมาณ 14-15 ปี ไปสืบตะกอไปทออยู่ในวัง

บ้านครัวตอนนั้นเป็นที่รู้กันว่าเก่งทอผ้าไหมอยู่แล้ว?

ถูกต้องครับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรู้จักดี เคยเสด็จมาทอดพระเนตรโรงทอผ้าที่นี่ เพราะ หนึ่ง วังสระปทุมอยู่ไม่ไกลจากที่นี่ และ สอง ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ก็มาพักที่นี่ เวลาพายเรือผ่านก็เห็นคนในชุมชนบ้านครัวทอผ้าตั้งแต่ท่านยังหนุ่มๆ และบอกว่าที่นี่เป็นแหล่งผ้าไหมดี คงพูดกันในวังเช่นนั้นด้วย

เมื่อก่อนเราศึกษาตามประวัติศาสตร์ที่บอกว่าคนจามบ้านครัวทอผ้ามานานแล้ว ผมเพิ่งได้ภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการทอผ้าไหมตั้งแต่บรรพชน พอดีผมติดต่อกับทางกรมหม่อนไหมมาตลอด และพบภาพถ่ายเห็นว่าเกี่ยวกับแขกจามถึงขอยืมมา เป็นภาพของผู้หญิงจามทอผ้า ฉากหลังเป็นกำแพง ไม่ใช่ป่าเขาหรือในบ้านทรงไทย เข้าใจว่าน่าจะเป็นภาพที่ถ่ายในวังสระปทุม นี่คือหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าเรามีการทอผ้าไหมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว เพราะรูปภาพเริ่มมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

คือมีชื่อเสียงด้านการทอผ้าไหมมาตั้งแต่ จิม ทอมป์สัน ยังไม่ได้เข้ามาที่ชุมชนบ้านครัว?

ครับ คุณจิม เข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ.2489 ก่อนผมเกิดหน้านั้น 2-3 ปี ซึ่งตอนแรกที่แกเข้ามาที่ชุมชนบ้านครัวก็มาซื้อผ้าไปเล็กๆ น้อยๆ ผืนสองผืน ส่วนมากเป็นผ้าโสร่ง ผ้าขะม้า หลังจากนั้นราว 3-4 ปี ก็ตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจผ้าไหม โดยให้บ้านครัวเป็นแหล่งผลิตผ้าไหม จึงตั้งบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย ขึ้นปี พ.ศ.2494

ก่อนที่ จิม ทอมป์สัน จะเข้ามา ชุมชนตรงนี้นอกจากทอผ้าใช้เอง ทอขายด้วย?

ครับ แต่จะทอผ้าโสร่ง ผ้าขะม้า และผ้าสำหรับทำโจงกระเบน เราทอผ้าไหมมาตลอดเลย ซึ่งผ้าไหมเท่าที่เราสืบย้อนกลับไป รัชกาลที่ 5 ทรงส่งเสริมพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า โดยตั้งกรมช่างไหมที่อำเภอปักธงชัย ที่โคราช ในปี พ.ศ.2447 ท่านเสด็จสวรรคตปี พ.ศ.2453 หลังจากนั้นปีสองปี กรมช่างไหมก็เลิกไป

ตอนไปสร้างกรมช่างไหมที่ปักธงชัย ท่านโปรดฯ ให้คนญี่ปุ่นที่มีความรู้ทางด้านผ้าไหมไปสอนชาวบ้านแถวนั้น โดยใช้กี่กระทบ ไม่ใช่กี่กระตุกแบบนี้ ส่วนของเราทอตั้งแต่ พ.ศ.2430 ก่อนรัชกาลที่ 5 จะไปตั้งกรมช่างไหมที่ปักธงชัย สมัยก่อนเราทอผ้าแล้วรวบรวม ล่องเรือไปขายที่ เจ้าเจ็ด บ้านแพน จ.พระนครศรีอยุธยา

ทอผ้าที่นี่ แต่ไปขายที่อยุธยา?

ครับ ยายผมเป็นคนอยุธยา แต่ตาเป็นคนเขมร เป็นนายท้ายเรือ เมื่อก่อนจะมีเรือเมล์ขาวเมล์แดงวิ่งในคลอง แม่ผมจึงเป็นเขมร-อยุธยา ส่วนพ่อของยาย เป็นท่านขุนอยู่อยุธยา มีญาติอยู่เจ้าเจ็ด บ้านแพน ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงอ่างทอง

ตอนก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทอเสร็จเราจะรวบรวมผ้าจากบ้านโน้นผืน บ้านนี้สองผืน นั่งเรือไปปากคลองตลาด แล้วไปบ้านแม่ผม ล่องเรือไปขายตลอดแม่น้ำ จนกระทั่งคุณจิมเข้ามา

พี่น้องทุกคนทอผ้าให้กับ จิม ทอมป์สัน?

แม่ผมมีลูก 10 คน ผมเป็นคนที่ 8 คนโตจนถึงคนที่ 6-7 ทอผ้าส่งคุณจิมหมด แต่คนที่ 9-10 ไม่ได้ทอ เรียนจบมาก็ไปเรียนเมืองนอกหมด มีผมคนเดียวที่คลุกคลีและไปเรียนเมืองนอก สืบสายมาทางด้านนี้ ผมถือเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 และมีลูกสาวคนกลางเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3

เรียนด้านบริหาร?

ผมจบจากมหาวิทยาลัยเกริก ทางด้านบริหารธุรกิจ คุณจิมเห็นว่าผมรู้เรื่องบริหารแล้ว อยากให้ผมรู้เรื่องผ้าไหม เรื่องเท็กซ์ไทล์ด้วย จึงส่งไปเยอรมันเรียนด้านเท็กซ์ไทล์ ด้านการย้อม ที่บาเซิล ซึ่งอยู่ใกล้กับเยอรมัน เรียนประมาณ 2-3 ปี

ตอนนั้นทำงานตำแหน่งอะไรในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย?
ไม่ได้มีตำแหน่งอะไร แต่ผมเป็นลูกชายของคนที่ทอผ้าไหมส่งจิม ทอมป์สัน คุณจิมกับแม่รักกันมาก ในบรรดา 8 ตระกูลที่ทอผ้าส่งจิม ทอมป์สัน แม่เป็นคนที่สนิทกับคุณจิมมากที่สุด เวลาจะไปไหน อย่างไปอยุธยาไปหาซื้อบ้านไทยก็จะชวนแม่ไปด้วย ตอนหลังแม่จึงยกบ้านให้คุณจิม (ปัจจุบันเรือนไทยหลังนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน ในซอยเกษมสันต์ 2) แทนมิตรภาพระหว่างชุมชนบ้านครัวกับจิม ทอมป์สัน เพราะทำให้เรามีฐานะดีขึ้น ซึ่งสมัยก่อนทอผ้าได้เป็นแสนๆ

ผ้าไหมเหลืองสิรินธร ทอจากรังไหมพันธุ์ดอกบัว

จิม ทอมป์สัน ติดใจอะไรในผ้าไหมบ้านครัว?

ผ้าไหมบ้านครัวที่ซื้อไปเป็นผ้าที่แปลกไม่ว่าจะสีสัน เนื้อผ้า ไม่เหมือนผ้าที่มีอยู่ในตลาดตอนนั้น แต่ก่อนเราทอแต่ผ้าโสร่ง คุณจิมก็ซื้อไปแต่ผ้าโสร่ง ผ้าขะม้า แล้วเอาไปตัดเสื้อผ้า เอาไปให้เพื่อนๆ ดู และแกแม้จะเป็นทหารแต่ก็เรียนมาทางด้านสถาปัตย์ด้วย ปรึกษากับเพื่อนๆ เห็นว่าน่าจะพัฒนาเป็นอย่างอื่นได้ จึงเปิดบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยขึ้น และนำองค์ความรู้มาผสมผสาน ให้เลิกทำผ้าโสร่งผ้าขะม้า มาทำผ้าพื้น ผ้าตา ผ้าลายเส้น ซึ่งสามารถขายได้อยู่แล้วในตลาด คือเช้าขึ้นมาก็จะมาบอกว่าให้ทอแบบนี้ๆ จะกำหนดแบบลายผ้าและสีสันให้เลย ใช้เป็นทั้งผ้าตัดเสื้อผ้า ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ คือเป็นการเอาองค์ความรู้จากทางบ้านครัวเป็นหลัก ไปผสมผสานกับรูปแบบแฟชั่น ก็เลยก้าวหน้าขึ้นมาเรื่อยๆ

คนในชุมชนบ้านครัวทอส่งจิม ทอมป์สัน8ครัวเรือน?

เรียกว่าเป็น 8 ตระกูลดีกว่า อย่างบางหลังมีพี่มีน้องทอผ้าอยู่รวมกัน 3-4 หลังถือเป็น 1 ตระกูล อย่างของผม “มนูทัศน์” ยังมี “มานะเกษม”, “เกตุเลขา”, “เพชรทองคำ” ฯลฯ เป็นระดับบนๆ ที่มีฐานะของชุมชนบ้านครัวทั้งนั้น อย่างตระกูล “มนูทัศน์” ตอนนั้นใหญ่ที่สุด มี 70 กี่ คนทอมาจากปักธงชัย เป็นคนอีสานหมด เพราะเมื่อก่อนการทอผ้าจะทอด้วยกี่กระทบทั้งหมด มาเริ่มทอด้วยกี่กระตุกที่บ้านครัวเป็นที่แรก คนอีสานเหล่านี้เข้ามาหัดทอ พอทอเป็นก็เรียกพี่ๆ น้องๆ เข้ามาทอ
หลังจากจิม ทอมป์สัน หายตัวไป คนบ้านครัวไม่มีออเดอร์ทอผ้า ทำอย่างไรจึงยืนหยัดอยู่ได้?

ระหว่างที่คุณจิมไปๆ มาๆ สั่งทอผ้าไหม รายได้ของแต่ละบ้านดีขึ้น บ้านไหนที่มีฐานะก็ส่งลูกไปเรียนที่ดีๆ จบแล้วก็ไปทำงานเป็นข้าราชการเป็นอะไรบ้าง อย่างผมเรียนมา และรักตั้งแต่เด็กๆ อายุ 10 ขวบก็มานั่งคัดไหมกับแม่ ปั่นไหม กรอไหมผมทำเป็นหมด แต่ส่วนใหญ่พ่อกับแม่เป็นคนจัดการทั้งหมด ดูแล 70-80 กี่ โดยมีพี่ๆ ช่วยกัน

หลังจากหมดออเดอร์คุณจิม ยังมีผ้าเหลือเราก็เอาผ้าไหมไปเสนอให้กับโรงแรมต่างๆ พอบอกว่าเป็นผ้าไหมบ้านครัว ก็ได้รับการต้อนรับ ทุกคนบอกเอามาได้เลย ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่สามารถทำตลาดได้เองเพราะมีสัญญากับทางคุณจิม แต่พอคุณจิมหายไป เราก็ทำตลาดเองได้ พอบอกผ้าไหมบ้านครัว ใครๆ ก็รู้จัก ก็สั่งผ้าไปขาย เพราะผ้ามีคุณภาพ ก็ทำกันต่อมา ซึ่งโรงแรมแถวนี้จะสั่งผ้าไหมจากที่นี่หมด

ชุมชนบ้านครัวมีการรวมกลุ่มกัน?

ไม่ครับ เพราะทางจิม ทอมป์สัน มีคุณบรู๊ซ เข้ามาแทนที่ หลังจากตั้งคณะกรรมการของเขาเองขึ้นมา เราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวแล้ว เขามาเอากี่ของเราที่่นี่ที่เลิกไป รวมทั้งคนงานไปทอที่ปักธงชัย ทางเราเหลืออยู่ประมาณ 10 กี่ ก็ทอขายกันเป็นอิสระ เราเป็นแค่ผู้ถือหุ้น ไม่ได้ทอผ้าส่งจิม ทอมป์สัน อีกเลย

ส่วนบ้านอื่นๆ ที่เคยทอผ้าก็เลิกกันไป “ผ้าไหมบ้านครัว” ก็คือของผมเอง ปัจจุบันเราจะซื้อรังไหมดิบจากที่ปักธงชัย ซึ่งมีคนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอยู่แล้ว มาฟอก ย้อม และทอเองที่นี่ ถ้าเป็นไหมรังขาวเราซื้อจากปักธงชัย แต่ถ้าเป็นรังเหลืองซื้อจากศูนย์หม่อนไหมที่อุบล (ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ)

แบรนด์ ‘ผ้าไหมบ้านครัว’ เริ่มต้นเมื่อไหร่?

ผมสร้างขึ้นเองหลังจากที่มาจับอย่างจริงจัง และจับกับลูกสาวด้วย เมื่อก่อนสมัยคุณแม่จะเรียกว่า “บ้านครัวการค้า” แต่ผมมาเปลี่ยนเป็น “ผ้าไหมบ้านครัว” เพราะเวลาเราไปออกงานโอท็อป หรือไปประกวด จะเรียกชื่อยาก จึงไปจดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทเมื่อประมาณปี 2548

เอกลักษณ์ของแบรนด์ ‘ผ้าไหมบ้านครัว’ คืออะไร?

ตอนแรกคือผ้าโสร่ง แต่พอมาเริ่มเปิดตลาดเอง จึงหาภูมิปัญญาเก่าแก่ของชาติพันธุ์บ้านครัว ซึ่งทางคุณจิมไม่ได้ให้เราทำแบบนี้ออกไป แต่บางคนก็ยังมีเก็บผ้าเก่าเอาไว้ เราก็เอามาศึกษา ก็มี “ผ้าเกล็ดเต่า” ถือเป็นผ้าดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ยังอยู่กำปงจาม ประเทศกัมพูชา เอกลักษณ์คือ การทอ 2 ตะกอ การจะทอเป็นผ้าเกล็ดเต่าได้ต้องคนที่มีฝีมือและทอเป็นจริงๆ เพราะการทอจริงๆ ต้องใช้ 4 ตะกอ ทอสับไปสับมา เรามีแค่ 2 ตะกอแต่ทอขึ้นมาเป็นเกล็ดเต่าได้

“ผมอยากจะทอ ‘ผ้าไหมเหลืองสิรินธร’ นี้ให้กับประเทศ… อยากให้ผ้าไหมนี้รื้อฟื้นอาชีพทอผ้าขึ้นมา ถ้าเกษตรกรหันกลับมาทอผ้าไหม และมีตลาดแน่นอน จะช่วยเศรษฐกิจของชาติได้”

‘ผ้าไหมเหลืองสิรินธร’ มาอย่างไร?

ตอนแรกเราแค่คิดว่าจะทำผ้าที่แตกต่างไปจากตลาด เราก็มานั่งศึกษา นั่งคุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นคนเก่าแก่ เพื่อนคนหนึ่งก็บอกว่า จำได้ว่าในสมัยแม่มีผ้าอยู่ตัวหนึ่งเป็น “ผ้าไหมดิบ” ซึ่งเอาไหมดิบมาเป็นตัวยืนและตัวพุ่ง ไม่มีการฟอกหรือย้อมก่อนทอ ทำให้ได้ผ้าไหมที่แข็งมากเพราะมันมีกาวอยู่

เราก็มาคิดต่อว่าจะใช้เทคนิคไหนที่ทำให้มันนิ่ม ที่สุดก็ได้ออกมา เป็นผ้าที่แปลกมาก บางเหมือนผ้าแก้ว แต่มีข้อพิเศษคือ เป็นไหมธรรมชาติ ไม่มีการฟอกย้อม มันสวยมาก จึงอยากให้ผ้านี้เป็นตัวแทนของผ้าไหมไทย ผมไปคุยกับทางกรมหม่อนไหมขอถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ขอพระราชทานชื่อ เพราะท่านก็เคยเสด็จมาที่นี่เมื่อปี 2553 มาดูโรงงานเรา ทีแรกไม่ได้คิดว่าจะได้พระราชทานชื่อ หลังจากนั้น 1 เดือน ทรงมีหนังสือตอบรับ ทุกคนดีใจมาก เราปลื้มปีติมาก

ต้องใช้ไหมพันธุ์พิเศษ?

พันธุ์ดอกบัว เป็นพันธุ์ที่สมเด็จพระราชินีทรงได้รับมาจากเมืองจีนเมื่อปี 2525 และโปรดฯให้ศูนย์หม่อนไหมที่อุบลราชธานี นำมาผสมกับพันธุ์ไทย ตั้งชื่อว่า พันธุ์ดอกบัว เป็นพันธุ์พิเศษที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง และญี่ปุ่นเห็นแล้วรับรองว่าดี

เคยเอาไปทำตลาดต่างประเทศ?

ทีแรกก็มีความคิดอยู่บ้าง แต่สองจิตสองใจ ผมอยากให้มีการใช้อยู่ในประเทศไทยเรา ไม่อยากให้ต่างชาติเอาไป เนื่องจากตอนที่เรายื่นหนังสือ ตอนนั้น คุณอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ปัจจุบัน ตอนนั้นเป็นอธิบดีกรมหม่อนไหม ดำเนินการให้ แต่หลังจากที่ได้รับพระราชทานชื่อ “ผ้าไหมเหลืองสิรินธร” แล้ว เพียงเดือนเดียวมีการเปลี่ยนอธิบดีกรมหม่อนไหม เรื่องทุกอย่างจึงค้างคาอยู่แค่นั้น

จริงๆ ผมอยากมีการใช้ผ้าไหมนี้ตัดเป็นชุดประจำชาติ เป็นชุดพระราชทานใส่กันในสภา เวลาที่มีงานเลี้ยงรับรอง หรือตัดเป็นเสื้อแฟชั่นใส่ทุกวันที่ 5 ธันวาคมก็ได้ เพราะสีเหลืองเป็นสีประจำพระชนมวารของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10

เมื่อก่อนตอนที่ผมเข้าไปคลุกคลีกับกรมหม่อนไหม มีผู้ปลูกหม่อมเลี้ยงไหม 1.5 แสนคน ปัจจุบันเหลือ 5 หมื่นคน ถ้ารัฐบาลรับรอง จะช่วยเกษตรกรและคนรากหญ้าตรงนี้ได้อีกมาก แค่ 10 ล้านคน คนหนึ่งใช้ผ้า 3 หลา ก็เป็น 30 ล้านหลา ผมอยากจะทอผ้านี้ให้กับประเทศ ผมเองก็มีกี่อยู่ไม่กี่กี่ แต่อยากให้ผ้าไหมนี้รื้อฟื้นอาชีพทอผ้าขึ้นมาถ้าเกษตรกรหันกลับมาทอผ้าไหม และมีตลาดแน่นอน จะช่วยเศรษฐกิจของชาติได้มีช่างทอ 6 คน 6 กี่

ถ้ารัฐบาลประกาศให้ใช้ผ้าไหมเหลืองสิรินธร?

ถ้าอนุมัติ เราทำได้แน่นอน เราก็จะไปสอนเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งมีประมาณ 7,000 ราย อาจจะสอนที่ศูนย์หม่อมไหมไว้ให้ไปสอนต่อ

มองอนาคตของ ‘ผ้าไหมบ้านครัว’ อย่างไร?

ผมตั้งผ้าไหมเหลืองสิริธรเป็นเป้าหมายสุดท้าย แล้วจะส่งต่อให้ลูกสาวคนรอง (ภัทรามาศ มนูทัศน์) มารับช่วงต่อ ทั้งด้านออกแบบและบริหารด้วย