วว.จับมือ บ.บีแอลซีพี เพาเวอร์ วิจัยพัฒนา นำชีวมวลร่วมกับถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้ง…ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผลิตเป็นเมทานอล

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ บริษัท  บีแอลซีพี เพาเวอร์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยและพัฒนาชีวมวลร่วมกับถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้ง…ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผลิตเป็นเมทานอล สนับสนุนการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างประโยชน์เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ความร่วมมือระหว่าง วว.และ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ หรือ BLCP Power มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้ของเหลือทิ้งจากโรงงานผลิตไฟฟ้า ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผ่านโครงการความร่วมมือ 5 โครงการ ได้แก่ 1. การเพิ่มมูลค่าคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซปล่อยทิ้งของโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับแหล่งก๊าซไฮโดรเจนทางเลือกเพื่อผลิตเมทานอล 200 ลิตร ต่อวัน (เฟส 3) 2. ระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการผลิตชีวมวลและผลิตภัณฑ์ร่วมมูลค่าสูง 3. การศึกษาการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลและประเมินความคุ้มค่าของการใช้งานร่วมกับถ่านหิน 4. การพัฒนาและถ่ายทอดการผลิตเจลจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ pilot scale และ 5. การผลิตสารดูดซับจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ pilot scale

“…วว.และ BLCP Power มีความร่วมมือกันตั้งแต่ปี 2561 โดยการลงนามในวันนี้ถือเป็นการต่อยอดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. ที่มีทีมนักวิจัยที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะนำศักยภาพมาร่วมกันดำเนินงาน โดยมุ่งใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้ง ล้วนเป็นงานวิจัยที่สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของ วว. ที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินงาน BCG เรามุ่งเน้นการทำงานวิจัยที่มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม ใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้ง เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างความยั่งยืน…” ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติม

นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บีแอลพีซี เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ   มีแนวคิดในการส่งเสริมวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายในการทำให้วัสดุเหลือใช้หรือขยะจากกระบวนผลิตให้เป็นศูนย์ ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เริ่มโครงการความร่วมมือกับ วว. ในการค้นคว้าและพัฒนา พบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซปล่อยทิ้งของโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหิน CO2 มารวมกับ H2 ที่ได้มาจากกระบวนการเช่นกัน สามารถพัฒนาเป็นเมทานอลที่เป็นประโยชน์กับวงการแพทย์และอุตสาหกรรม ซึ่งจุดประกายให้เกิดแนวคิดในการร่วมมือค้นคว้าพัฒนาเชิงนวัตกรรมร่วมกับ วว. ในอีก 5 โครงการในวันนี้ ซึ่งบริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพและความมุ่งมั่นของทีมผู้บริหารและนักวิจัยของ วว. จะก่อให้เกิดงานวิจัยที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างสังคมที่มีความสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่าง วว. และ บริษัท บีแอลพีซี เพาเวอร์ จำกัด ทั้ง 5 โครงการ ประกอบด้วย

  1. โครงการเพิ่มมูลค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซปล่อยทิ้งของโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับแหล่งก๊าซไฮโดรเจนทางเลือก เพื่อผลิตเมทานอลระดับ 100 ลิตร ต่อวัน (เฟส 3) โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับ 55 ตัน ต่อปี และได้มาซึ่งผลผลิตเมทานอลในระดับ 57 ตัน ต่อปี อีกทั้งยังเกิดผลเพื่อใช้เป็นแนวทางในการต่อยอดในระดับ Pilot Plant นับเป็นจุดเริ่มต้นของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมและมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างเห็นได้จริง (Carbon capture Utilization and Storage)
  2. ระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อการผลิตชีวมวล และผลิตภัณฑ์ร่วมมูลค่าสูง มีวัตถุประสงค์ที่จะคัดเลือกและประเมินศักยภาพสายพันธุ์สาหร่ายที่มีศักยภาพต่อการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม มาใช้พัฒนาวิธีการเลี้ยงสาหร่ายโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นแหล่งวัตถุดิบหลักและเสริม
  3. การศึกษาการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลและปริมาณความคุ้มค่าของการใช้งานร่วมกับถ่านหิน ทั้งนี้บริษัทมีความต้องการปรับปรุงการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าให้มีความสอดคล้องกับความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น และสนับสนุนการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะต่างๆ จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยนำชีวมวลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหิน คือ ไม้ยางพาราและชานอ้อย ในการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ Co-firing
  4. การพัฒนาและถ่ายทอดการผลิตเจลจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ pilot scale โดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินการศึกษา และศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับกระบวนการสกัดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการขยายการผลิตเจลที่มีการผลิตแบบกึ่งต่อเนื่อง ขนาดกำลังการผลิตเจลไม่น้อยกว่า 800 กิโลกรัม ต่อวัน จากเถ้าถ่านหินเหลือทิ้งและอบรมถ่ายทอดกระบวนการผลิต
  5. การผลิตสารดูดซับจากสารสกัดเถ้าถ่านหิน ในระดับ pilot scale โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการศึกษา และศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับกระบวนการสกัดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในการขยายการผลิตเจลที่มีการผลิตแบบกึ่งต่อเนื่อง ขนาดกำลังการผลิต 300 กรัมของเถ้า ต่อชั่วโมง จากเถ้าถ่านหินเหลือทิ้ง และศึกษาการนำกากเหลือทิ้งจากกระบวนการสกัดกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อการส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุเหลือทิ้งอย่างเต็มวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ