กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี คุณภาพเกินคาด รายได้ทะลุเป้ากว่า 300 ล้านบาท

นายบุญเลื่อง หนูช่วย ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า แต่เดิมเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านส้อง ปลูกทุเรียนพันธุ์ชะนีกันอยู่แล้ว ปกติจะสามารถจำหน่ายได้เพียงกิโลกรัมละ 20-30 บาท ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน และขาดรายได้ที่เป็นธรรม เนื่องจากขาดองค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต รวมไปถึงตลาดที่จะจำหน่ายผลผลิตให้ได้ราคาตามที่ควรจะได้รับ

จนกระทั่งในปี 2560 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอเวียงสระ ได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็น “แปลงใหญ่ทุเรียนตำบลบ้านส้อง” เริ่มแรกมีสมาชิกจำนวน 30 ราย พื้นที่การปลูกจำนวน 312 ไร่ สามารถรวบรวมผลผลิตไปจำหน่ายได้ราคาอยู่ที่ 80-100 บาทต่อกิโลกรัม

จึงมีการพัฒนาผลผลิตกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 56 ราย พื้นที่การปลูก รวมจำนวน 560 ไร่ แบ่งเป็นปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 95% และทุเรียนพันธุ์ชะนี 5% ได้ผลผลิตทุเรียนพันธุ์หมอนทอง รวมทั้งหมดประมาณ 1,400 ตันต่อปี ในขณะที่ทุเรียนพันธุ์ชะนี เกษตรกรจะปลูกเพื่อบริโภคในครอบครัว และตัดขายในพื้นที่ และที่สำคัญผลผลิตของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลบ้านส้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ทุกแปลง

โดยในปี 2564 นี้ผลผลิตทุเรียนพันธุ์หมอนทองสามารถจำหน่ายได้ถึง 150 – 160 บาทต่อกิโลกรัม สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรสมาชิกได้ถึง 300 กว่าล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 2 เท่า นอกจากนี้ทางกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังมีการควบคุมคุณภาพผลผลิต ตั้งแต่การออกดอกของทุเรียน โดยจะคัดเลือกตัดดอกที่อยู่ปลายกิ่งทุเรียนทิ้ง เน้นลูกที่อยู่โคนกิ่ง และดูแลคุณภาพตอนออกลูก

ซึ่งผลผลิตต้องมี 4 พูขึ้นไป น้ำหนักอยู่ที่ 2 – 6 กิโลกรัมต่อลูก จึงจะเป็นที่ต้องการของตลาด ด้านนายชัยพร นุภักดิ์ เกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรมีส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วย ประกอบกับในขณะนี้ในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงสนับสนุนการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยมาช่วยทุ่นแรงในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ อีกทั้งกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลบ้านส้อง ได้รับเงินทุนสนับสนุน จากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด จำนวนเงิน 2,900,000 บาท ซึ่งอยู่ในช่วงดำเนินการในการจัดซื้อเครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพ เพื่อจะผลิตและกระจายปุ๋ยให้กับสมาชิกได้นำไปใช้ เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อไป