ชุมชนบ้านทุ่งต้อม จ.เชียงราย เกษตรผสมผสาน สู่ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ระดับชุมชน

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเกษตรอินทรีย์และเกษตรผสมผสานมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีชุมชนเกษตรหลายพื้นที่ ตระหนักถึงพิษภัยจากสารเคมีตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของเกษตรกรในระยะยาว ทำให้การทำเกษตรอินทรีย์ กลายเป็นทางเลือกที่ชุมชนต่างๆ หันมาสนใจและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการทำเกษตรที่ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาสู่การเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ อย่างครบวงจร และจากการติดตามของ สศก. พบหนึ่งในชุมชนเกษตรอินทรีย์ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ที่ได้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรสู่แนวทางเกษตรอินทรีย์ อย่างชุมชนบ้านทุ่งต้อม ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย

ซึ่งเกษตรกรในชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อทำการเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ ปี 2559 จนปัจจุบัน มีการรวมตัวของเกษตรกรในชุมชนกว่า 185 ราย และมีการแบ่งกลุ่มย่อยทำกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลาย ทั้งการปลูกข้าวอินทรีย์ พืชผักสวนครัว ร่วมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปลานิล กบ) และปศุสัตว์ (หมูดำเหมยซาน วัว และไก่พื้นเมือง) ในลักษณะที่เกื้อกูลมีการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ เช่น การนำมูลสัตว์มาใช้เป็นปุ๋ยคอกในการเพาะปลูก

การนำเศษพืชผัก ฟางข้าว มาปรับปรุงเป็นอาหารธรรมชาติสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำและปศุสัตว์ ปลอดการใช้สารเคมีตลอดกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปผลผลิต และทำการตลาดในระดับชุมชนและช่องทางออนไลน์ ซึ่งผลผลิตที่โดดเด่น เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ ได้แก่ หมูดำเหมยซาน ปลานิลอินทรีย์ และข้าวกล้องอินทรีย์ ภายใต้การดำเนินงานในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง ส่งผลให้ชุมชนบ้านทุ่งต้อม ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัดเชียงรายในการเข้าประกวดชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน และได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยมีชุมชนเข้าร่วมประกวดจังหวัดละ 1 ชุมชน รวมทั้งสิ้น 8 ชุมชน ในปี 2563

สำหรับตัวอย่างการทำกิจกรรมเกษตรอินทรีย์หลักของชุมชน คือ ข้าวอินทรีย์ มีสมาชิกปลูกประมาณ 180 ราย

พื้นที่ปลูกเฉลี่ย 10 ไร่/ครัวเรือน ผลผลิตข้าวเฉลี่ย 350 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนใหญ่หลังจากจัดสรรเพื่อบริโภคในครัวเรือนและเก็บไว้ทำพันธุ์แล้ว จะจำหน่ายให้แก่กลุ่มเพื่อนำไปแปรรูปเป็นข้าวสาร โดยราคาจำหน่ายของข้าวที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จะสูงกว่าข้าวที่ผลิตแบบทั่วไป 3,000-5,000 บาท/ตัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าวและเงื่อนไขการรับซื้อ ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ประมาณ 10,500 บาท/ครัวเรือน/ปี ในส่วนของกิจกรรมเสริมที่เกษตรกรนิยมทำกัน เช่น การเลี้ยงปลานิล ประมาณ 130 ราย และการเลี้ยงไก่ไข่ ประมาณ 50 ราย พบว่า ปลานิลอินทรีย์ มีผลผลิตเฉลี่ย 630 กิโลกรัม/ปี (ปลาขนาด 3-4 ตัว ต่อกิโลกรัม) ส่วนใหญ่นำมาบริโภคในครัวเรือน จำหน่ายภายในชุมชน และนำมาแปรรูปจำหน่ายในนามกลุ่ม โดยมีราคาจำหน่ายประมาณ 50-60 บาท/กิโลกรัม ซึ่งสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้เสริมประมาณ 31,500 บาท/ครัวเรือน/ปี และ ไก่ไข่อินทรีย์ มีการเลี้ยงเฉลี่ย 57 ตัว/ครัวเรือน ผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 7,800 ฟอง/ปี (เฉลี่ย 130 ฟอง/ตัว) ส่วนใหญ่จำหน่ายภายในชุมชน และนำมาบริโภคในครัวเรือน โดยจำหน่ายฟองละ 3.50-5 บาท ซึ่งสามารถช่วยสร้างรายได้และประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 27,300 บาท/ครัวเรือน/ปี

Advertisement

ทั้งนี้ ภาพรวมจากการทำกิจกรรมเสริมในการทำเกษตรอินทรีย์ให้หลากหลายมากขึ้น นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ ยังเพิ่มความมั่นคงทางอาหารจากมีผลผลิตบริโภคในระดับครัวเรือนและชุมชน ซึ่งจากการประมาณการเบื้องต้นคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือมูลค่าจากการมีรายได้เพิ่มและช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนของชุมชนอย่างน้อย 5.45 ล้านบาท/ปี ซึ่งแผนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของชุมชนในระยะต่อไป คือการยกระดับจากชุมชนเกษตรอินทรีย์ สู่การเป็นตำบลและอำเภอต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดเชียงราย ยังได้ให้การสนับสนุนการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจต่างๆ เช่น เลม่อนฟาร์ม เพื่อให้เกิดการพัฒนากลุ่มไปสู่การบริหารจัดการอย่างครบวงจร เชื่อมโยงสู่ตลาดระดับต่างๆ มากขึ้น สำหรับท่านที่สนใจแนวทางกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ของชุมชนบ้านทุ่งต้อม

สามารถสอบถามรายละเอียด หรือเข้าไปชมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนได้ทาง Facebook : ทุ่งต้อมเกษตรอินทรีย์ Tungtom organics village

Advertisement