สศท.6 เผย ทุเรียนปราจีน GI จ.ปราจีนบุรี สร้างกำไรปีละ 140,000 บาท พร้อมดันตลาดออนไลน์ เพิ่มโอกาสทางการค้า

นายชัฐพล สายะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ทุเรียนปราจีน” จังหวัดปราจีนบุรี เป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559 และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภทการค้าภายในประเทศจากกิจกรรมการประกวดงานวันทุเรียนโลก เมื่อปี 2558 ทั้งนี้ ทุเรียนปราจีนสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดปราจีนบุรีกว่า 50 ล้านบาท/ปี นับว่าเป็นโอกาสทางการค้า และยังเป็นการยกระดับทุเรียนให้เป็นสินค้าคุณภาพที่ได้มาตรฐานการผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผู้ค้า ในด้านของคุณภาพและความปลอดภัย

ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ปลูกทุเรียนปราจีน GI จำนวน 2,770 ไร่ เนื้อที่ให้ผล จำนวน 1,574 ไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูก จำนวน 521 ราย พื้นที่ปลูกครอบคลุมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี กบินทร์บุรี ประจันตคาม ศรีมหาโพธิ และนาดี เนื่องจากเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการปลูกทุเรียน ลักษณะสภาพดินชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย ดินชั้นล่างเป็นหินผุและศิลาแลงทำให้ระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขังในเนื้อดิน การกระจายตัวของธาตุอาหารทั่วถึง ประกอบกับมีลักษณะภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และมีความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม สำหรับทุเรียนปราจีน GI มีสายพันธุ์การค้า และสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งสายพันธุ์การค้า ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี และพันธุ์กระดุมทอง ส่วนสายพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์กบชายน้ำ พันธุ์ชมพูศรี และพันธุ์กำปั่น ทั้งนี้ เกษตรกรจะนิยมปลูกพันธุ์หมอนทองมากที่สุด เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จากการลงพื้นที่ของ สศท.6 เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาทุเรียนปราจีน จังหวัดปราจีนบุรี ที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 25,521 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 5-6 และสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 25-30 ปี) เกษตรกรจะปลูกช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,031 กิโลกรัม/ไร่/ปี (ทุเรียน 1 ลูก มีน้ำหนักเฉลี่ย 2.50-3.50 กิโลกรัม) เกษตรกรได้ผลตอบแทน 166,400 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 140,879 บาท/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ มิถุนายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 200 บาท/กิโลกรัม (ขายแบบคละทั้งหมด) เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานและคุณภาพของทุเรียน เกษตรกรจะให้ความสำคัญในการคัดทุเรียนที่แก่จัดจึงจะตัดออกจำหน่าย ซึ่งทุเรียนหมอนทองจะใช้ระยะเวลาประมาณ 125-130 วัน หลังดอกบาน

สำหรับสถานการณ์ด้านตลาด ผลผลิตทุเรียนปราจีน GI จะเน้นจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 68 จำหน่ายให้กับพ่อค้ารับซื้อในพื้นที่ และอีกร้อยละ 32 เกษตรกรจะจำหน่ายผ่านหน้าร้าน ซึ่งจะใช้พื้นที่หน้าสวนของเกษตรกรเพื่อจำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ เช่น Facebook ให้กับผู้บริโภคโดยตรง โดยจัดส่งสินค้าผ่านหลายช่องทาง อาทิ ไปรษณีย์ไทย และ Kerry Express สำหรับแนวโน้มในอนาคต คาดว่าเกษตรกรจะขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนปราจีน GI เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด รวมถึงเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดปราจีนบุรีอีกด้วย

ผู้อำนวยการ สศท.6 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับทุเรียนปราจีน GI นั้น จะเน้นในเรื่องของตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า ด้านกระบวนการผลิตในการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาดเพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ ด้านการรักษาคุณภาพของผลผลิต เกษตรกรจะมีความประณีตในทุกขั้นตอนการผลิต การจดบันทึกนับอายุผลหลังดอกทุเรียนบาน เพื่อกำหนดอายุการเก็บเกี่ยวร่วมกับการเคาะและตัดทีละผล เน้นที่คุณภาพเป็นสำคัญ ไม่ป้ายสารเร่งสุก และจะคัดเฉพาะทุเรียนที่แก่จัดออกจำหน่าย

ทั้งนี้ สำหรับผลการศึกษาดังกล่าว สามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพทุเรียนปราจีน GI ให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาสู่การส่งออก รวมถึงยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดปราจีนบุรีได้ในระยะยาว หากท่านใดสนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.6 ชลบุรี โทร. (038) 351-261 หรือ อี-เมล [email protected]