เผยแพร่ |
---|
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร พร้อมกล่าวในพิธีการลงนาม ถึงความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กับทางกรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ลงนามโดย นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามโดย นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ลงนามโดย นางสาวธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) หรือ สวข. ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตร ซึ่งการดำเนินงานจำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านข้อมูลเกษตรกรรมของประเทศไทย เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลภาคเกษตรให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติ สามารถนำไปวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ข้อมูลสำหรับบริการแก่เกษตรกร หน่วยงานรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ทั้ง 4 หน่วยงาน จึงเห็นร่วมกันและกำหนดให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตรขึ้น โดย สศก. จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน ติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดร่วมกันสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร และการเกษตรทุกด้าน จัดทําต้นแบบหรือ โปรโตไทป์เพื่อวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร ควบคุมและดูแลแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคการเกษตร
ขณะที่ พด. จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากโครงการแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ส่วน สวทช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและพัฒนา ให้คำปรึกษาและสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาฐานข้อมูล แพลตฟอร์ม รวมทั้งองค์ความรู้ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผ่านโครงสร้างมาตรฐานเพื่อการแลกเปลี่ยนทางด้านการเกษตร และ สวข. จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้คำปรึกษาในการจัดเตรียมโครงสร้างสารสนเทศพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ ให้คำปรึกษาในการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) และจัดทำบัญชีข้อมูล (Data Catalog) ที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน พัฒนาเครือข่ายบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนานวัตกรรมจากข้อมูลในภาคการเกษตร
“วันนี้เป็นอีกก้าวของความสำเร็จของ 4 หน่วยงาน ในการร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตรด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ร่วมกันพัฒนาภาครัฐให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา และบริหารจัดการข้อมูลการเกษตรให้เป็นระบบและครบวงจร รวมถึงสร้างเครือข่ายบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนานวัตกรรมจากข้อมูลการเกษตร อันจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร หน่วยงานรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยร่วมกันต่อไป” เลขาธิการ สศก. กล่าว