ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายแพทย์ขจร วินัยพานิช สาธารณสุขจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า การเก็บข้อมูลผู้บริโภคเห็ดที่ออกตามป่าเขาในห้วงฤดูฝน ของทุกปีและในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พะเยามีผู้ป่วยที่รับสารพิษจากจำนวน 142 ราย เฉลี่ยแล้วปีละไม่น้อยกว่า 28 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดในปี 2555 รวม 39 ราย นอกจากนั้นแต่ละปีลดลงมาตามลำดับ จากการส่งตัวอย่างเห็ดไปตรวจหาสารพิษจากห้องแล็บ และเห็ดที่พบสารพิษเจือปนคือเห็ดระโงกและเห็ดไข่ห่าน ซึ่งมีพิษค่อนข้างรุนแรง แล้วสังเกตเห็ดที่มีพิษจะมีสะเก็ดบนหมวกเห็ด,เปลือกที่หุ้มคาดอยู่บนหมวก ส่วนจุดสังเกตอีกอย่างเช่นจะมีวงแหวนอยู่ข้างในใต้เปลือก และเห็ดพิษบางชนิดก็ไม่มีวงแหวนอาจสังเกตได้ยาก
น.พ.ขจร กล่าวอีกว่า ในปี 2560 มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวที่บริโภคเห็ดพิษ ที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงคำรวม 2 ราย เป็นเห็ดพิษที่ไม่มีต้นป่อกที่โคน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเห็ดทาง สสจ. ขอแจ้งเตือนให้ประชาชน เลือกซื้อเห็ดที่คุ้นเคยเป็นประจำเช่นเห็ดฟาง- เห็ดโคน- เห็ดนางฟ้าและเห็ดหูหนู แล้วให้สังเกตหากรับประทานเห็ดผ่านไป 4-6 ชั่วโมง ถ้ามีอาการปวดท้อง-คลื่นไส้- อาเจียนหรือเริ่มท้องเสีย ให้สงสัยกินเห็ดเป็นพิษไว้ก่อน ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากล่าช้าผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต เพราะถ้าอาการรุนแรงจะมีผลต่อตับหยุดทำงานอย่างเฉียบพลัน