‘สวทช.’ชี้แจงโครงการติดสัญญาณดาวเทียมตัวพะยูน

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขอชี้แจงและให้ข้อมูลเกี่ยวกับข่าวเรื่องมูลนิธิอันดามันค้านติดแท็กพะยูนดังนี้

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) และสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการนำ วทน. มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

จากการที่ สวทช.หารือร่วมกันใน”โครงการบูรณาการทางวิชาการเพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน บริเวณหาดหยงหลำและเกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม” เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ จึงได้ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) โดย อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และจังหวัดตรัง ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อหาแนวทางการพัฒนาการวิจัยและการบริหารจัดการในพื้นที่หาดหยงหลำเกาะมุก อุทยานแห่งชาติเจ้าไหม จังหวัดตรัง

การดำเนินงานโครงการแบ่งส่วนการทำงานดังนี้ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ดูแลและบำรุงรักษาพื้นที่หลักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการศึกษาวิจัยและห้องทดลองทางธรรมชาติวิทยา รวมทั้งการจัดการการท่องเที่ยวในลักษณะการสื่อความหมายธรรมชาติและนันทนาการ ส่วนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ให้การสนับสนุน ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไป และใช้พื้นที่หาดหยงหลำ เกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เป็นกรอบสำหรับงานวิจัยเชิงพื้นที่ของ ม.อ. และจังหวัดตรังให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานในพื้นที่

สวทช.เห็นประโยชน์ของการวิจัยและพัฒนาเชิงนิเวศในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศ ครบวงจรเพื่อให้การอนุรักษ์พะยูนไม่ให้สูญพันธุ์ รวมถึงการรักษาเขตบริเวณโดยรอบในถิ่นที่อาศัย หญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูน เป็นต้น จึงได้สนับสนุนโครงการดังกล่าว ให้ทุนสนับสนุนหน่วยงานในการวิจัยและพัฒนา โครงการที่สำคัญ เช่น การศึกษาขอบเขตและการแพร่กระจายของหญ้าทะเล เป็นอาหารของพะยูน การศึกษาผลกระทบของตะกอนดินมีผลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล โดย ม.อ. การใช้โดรนติดตามจำนวนประชากรของพะยูน และการติดสัญญาณดาวเทียมเพื่อติดตามพฤติกรรมและเส้นทางการหากินของพะยูน โดย อส.

และผลงานวิจัยในช่วงที่ผ่านมา พบหญ้าทะเลทั้งสิ้น 7 ชนิด โดยหญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) เป็นหญ้าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นชนิดเด่นโดยมีความถี่ในการพบประมาณร้อยละ 40.7 ด้านปัจจัยทางกายภาพและทางเคมี มีการสำรวจเปรียบเทียบในช่วงก่อนน้ำท่วม (เดือนพฤศจิกายน) และหลังน้ำท่วม (เดือนธันวาคม กุมภาพันธ์) พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน ลักษณะหญ้าทะเลมีภาวะสมบูรณ์ สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ ได้จัดทำแผนที่หญ้าทะเลโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์อากาศยานขนาดเล็ก พบหญ้าทะเลในพื้นที่ศึกษาประมาณ 7 ตารางกิโลเมตร

สำหรับข่าวที่ได้รับการเผยแพร่เรื่อง “โครงการติดสัญญาณดาวเทียมที่ตัวพะยูน” กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ดำเนินการในการติดสัญญาณดาวเทียมพะยูน เทคโนโลยีที่ใช้ยังมีข้อโต้แย้งด้านผลกระทบและยังหาข้อยุติไม่ได้ ดังนั้น สวทช. เป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย ได้พิจารณาแล้วจึงขอหยุดการสนับสนุนและได้ประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีการทบทวนการติดสัญญาณดาวเทียมจากพะยูนครั้งนี้ เพื่อการอนุรักษ์พะยูนที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตามเจตนารมณ์ของโครงการต่อไป