เผยแพร่ |
---|
ถ้าหากจะกล่าวถึงผลไม้ที่จัดอยู่ในประเภทค่อนข้างที่มีราคาแพงชนิดหนึ่ง คนซื้อส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้กิน และคนกินส่วนใหญ่มักไม่ค่อยที่จะได้ซื้อ จัดอยู่ในประเภทของฝากให้กับผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพนับถือ นั่นก็คือ “มะยงชิด”
พื้นที่การปลูกมะปราง หรือ มะยงชิด เป็นการค้านั้น ควรเป็นแหล่งที่มีฤดูฝนสลับฤดูแล้ง (หนาวและร้อน) ที่เด่นชัด เพราะช่วงแล้งดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อการออกดอกของมะปราง ซึ่งช่วงดังกล่าวจะช่วยทำให้ต้นมะปรางมีการพักตัวชั่วคราว ชะงักการเจริญเติบโตทางใบและกิ่ง และช่วงดังกล่าว ถ้ามีอุณหภูมิต่ำหรืออากาศเย็นจะช่วยให้มะปรางออกดอกติดผลได้ดียิ่งขึ้น แหล่งปลูกมะปรางที่อาศัยน้ำฝนนั้น ควรเป็นแหล่งที่มีปริมาณน้ำฝนกระจายตัวตกต้องตามฤดูกาล
ส่วนแหล่งที่มีปริมาณฝนตกน้อย ควรเลือกพื้นที่ปลูกมะปรางเป็นการค้าที่ใกล้แหล่งน้ำ หรือมีน้ำชลประทานเพียงพอ เพราะในระยะที่มะปรางแทงช่อ ดอก และติดผลนั้น (พฤศจิกายน – มีนาคม) จะเป็นช่วงที่มีปริมาณฝนตกน้อยมาก ซึ่งช่วงดังกล่าวมะปรางต้องการน้ำเพื่อการเจริญเติบโตของผล และถ้ามะปรางขาดน้ำจะมีผลทำให้ผลมะปรางมีขนาดเล็ก ผลร่วง และให้ผลผลิตต่ำกว่าปกติได้
อุณหภูมิเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการแทงช่อดอก การติดผล และระยะเวลาการสุกของผลมะปราง คือ ถ้าอุณหภูมิต่ำและมีช่วงระยะเวลาของอุณหภูมิต่ำนานพอสมควร จะทำให้มะปรางออกดอกและติดผลได้ดีขึ้น และหลังจากมะปรางติดผลแล้ว ถ้าแหล่งปลูกมะปรางมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็ว จะมีผลให้มะปรางแก่ หรือสุกเร็วกว่าในแหล่งที่มีอุณหภูมิต่ำ
แหล่งปลูกมะปรางที่ให้ได้ผลดีนั้น ควรมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ในช่วง 20-30 องศาเซลเซียส ซึ่งดอกมีลักษณะเป็นช่อ เกิดบริเวณปลายกิ่งแขนงที่อยู่ภายในทรงพุ่มและนอกทรงพุ่ม ช่อดอกยาว 8-15 เซนติเมตร ดอก ย่อมมีขนาดเล็ก ประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศ หรือ ดอกกะเทย และดอกตัวผู้ ดอกเมื่อบานจะมีสีเหลือง ในประเทศไทยดอกมะปรางจะบานช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ของทุกปี
หลายคนคงไม่ทราบว่า จังหวัดพิจิตรเป็นแหล่งผลิตมะยงชิดพันธุ์ดีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เฉพาะเขตพื้นที่ ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก มีพื้นที่ปลูกมะยงชิดพันธุ์ดี ประมาณ 2,000 ไร่ ผลผลิตมะยงชิดของจังหวัดพิจิตรเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะผลใหญ่ เนื้อแข็ง และมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลผลิตส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าเป็นจำนวนมากมารับซื้อเพื่อขายตลาดในประเทศ และมีบางส่วนได้ส่งไปขายยังต่างประเทศ
การปลูกมะยงชิด การเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่มีความสำคัญมาก สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจเลือกพันธุ์ก็คือ จะต้องเป็นพันธุ์ที่ติดผลง่าย ผลมีขนาดใหญ่ เมล็ดเล็ก เนื้อแน่น รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเนื้อแน่นจะได้เปรียบมะยงชิดจากแหล่งอื่น เพราะถ้าเนื้อแน่นจะสามารถวางขายผลผลิตในตลาดได้ยาวนานกว่าพันธุ์ที่มีเนื้อนิ่ม พ่อค้า แม่ค้า จะชอบมาก ผู้บริโภคก็ติดใจ
“พื้นที่ปลูกมีความสำคัญมากเพราะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของผลผลิตให้ออกมาต่างกัน เช่น มะยงชิดที่ปลูกในพื้นที่นา หรือพื้นที่ลุ่มผลจะใหญ่ ผิวสีเหลือง แต่เนื้อจะนิ่มออกเละ รสชาติไม่เข้มข้น เพราะดินนาเป็นดินเหนียว ดินเก็บความชื้นไว้นานทำให้ผลผลิตไม่เข้มข้นส่วนดินลูกรังนั้นจะได้เปรียบเรื่องรสชาติ จะเข้มข้น ผิวเหลืองออกส้มเข้มกว่า”
เทคนิคการผลิตมะยงชิดคุณภาพดี
จะต้องเริ่มจากกำหนดระยะปลูกให้เหมาะสม ที่แนะนำคือ 8×8 เมตร โดยในช่วงแรกอาจปลูกแซมพืชอื่นไปก่อน เพราะกว่ามะยงชิดจะให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 5-8 ปี และผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของต้น ซึ่งโดยปกติแล้วชาวสวนจะมีเคล็ดลับและวิธีการดูแลต้นมะยงชิดให้ออกดอกติดผลต่างกัน ที่จะมีการแต่งกิ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ตัดแต่งกิ่งที่แห้งตาย กิ่งที่เบียดชิดกัน และกิ่งที่อยู่ในร่มเงา ตัดแต่งเสร็จใส่ขี้วัวเก่า ต้นละ 2-3 กระสอบปุ๋ย ส่วนปุ๋ยเคมีจะใช้สูตร 8-24-24 อัตราต้นละ 1-2 กิโลกรัม โดยใส่ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับต้นก่อนการออกดอก
เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และมีอากาศหนาวเย็นติดต่อกัน 7-10 วัน ยอดของมะยงชิดจะพัฒนาเป็นตาดอก และจากระยะดอกจนถึงเก็บผลผลิตจะใช้ระยะเวลาเพียง 85-90 วัน ในแต่ละปีมะยงชิดจะออกดอก 2-3 รุ่น รุ่นแรก จะออกดอกเดือนพฤศจิกายน และเก็บผลผลิตประมาณปลายเดือนมกราคม รุ่นที่สองจะออกดอกช่วงเดือนธันวาคม เก็บผลผลิตช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่ถ้าปีไหนอากาศเย็นนานจะมีรุ่นที่สามคือ ดอกจะออกต้นเดือนมกราคม และไปเก็บผลผลิตเดือนมีนาคม
หลังจากเริ่มแทงช่อดอกจะต้องดูแลเป็นพิเศษทางดิน จะต้องเริ่มให้น้ำ 5-7 วัน ต่อครั้ง (ขึ้นอยู่กับความชื้นในสวน มะยงชิดหากให้น้ำมากไปเนื้อจะเละ) จนกว่าผลอ่อนมะยงชิดมีขนาดเท่าหัวแม่มือก็จะเริ่มงดน้ำ ในเรื่องสารเคมีจะต้องพ่นสารเคมีในกลุ่มของกำจัดโรคและแมลงตั้งแต่ระยะเริ่มแทงช่อดอก ศัตรูที่พบมากที่สุดคือเพลี้ยไฟ และโรคที่สำคัญคือโรคแอนแทรกโนส ที่สวนสมหมาย จะให้ความสำคัญในการพ่นสารเคมีในช่วงนี้มาก เพราะต้องการควบคุมคุณภาพของผลผลิตให้ได้และต้องเลือกใช้สารเคมีที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP สารเคมีที่แนะนำให้ฉีดป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ คือ สารอะบาเม็กติน จะฉีดพ่น จำนวน 2 ครั้ง คือ ระยะก่อนดอกบาน และหลังดอกโรย ในช่วงดอกบานจะไม่ฉีดพ่นสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น
โรคแอนแทรกโนส จะใช้สารในกลุ่มโปรคลอราซ ฉีดในช่วงก่อนดอกบาน ส่วนหลังจากดอกโรยจะใช้สารแมนโคเซบ และสารโปรคลอราซ สลับกัน ฉีดพ่นจนกว่าผลมีขนาดเท่าหัวแม่มือ หรือถึงระยะสลัดผลก็หยุดฉีด จะไม่นิยมใช้ปุ๋ยหรือฮอร์โมนเร่งขนาดของผลเลย เพราะการใช้ปุ๋ยเร่งมากๆ จะทำให้เนื้อของมะยงชิดเละไม่แน่น
การเก็บผลผลิตมะยงชิดพันธุ์ดีจะต่างกันแล้วแต่ความต้องการของตลาด ถ้าเป็นตลาดในประเทศจะเก็บที่ความแก่เกือบ 100% คือเก็บไปแล้วรับประทานได้เลย โดยสังเกตจากผิวจะต้องออกเหลืองส้มเกือบทั้งผล รสชาติจะหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย แต่ถ้าเก็บส่งตลาดต่างประเทศจะต้องเก็บที่ความแก่ประมาณ 90% คือผิวจะออกสีจำปาแต่ยังไม่ทันแดง เพราะการส่งตลาดต่างประเทศใช้ระยะเวลานานต้องผ่านหลายขั้นตอน ตัวอย่างประเทศในเขตยุโรป ต้องใช้เวลาในการผ่านกระบวนการต่างๆ ประมาณ 7 วัน ถ้าเก็บที่ความแก่เต็มที่เมื่อถึงปลายทางเนื้อจะเละวางขายได้ไม่นาน
หัวใจของการผลิตมะยงชิดพันธุ์ดี คือเรื่องคุณภาพ
จะเน้นทุกขั้นตอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเก็บผลผลิต จะใช้กรรไกรตัดผล หรือใช้มือเก็บเท่านั้น ผู้ที่เก็บจะต้องมีความชำนาญ และประณีต ต้องดูลักษณะผลเป็น ว่าผลแก่-อ่อนแค่ไหน ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้าเก็บแรงผลจะช้ำ กว่าจะถึงผู้บริโภคผลจะเละ เรื่องการเก็บผลผลิตหลายสวนใช้ตระกร้อสำหรับสอยมะม่วงมาเก็บผลมะยงชิด ทำให้ผลช้ำ สีผิวไม่สวย เวลาขายไม่ค่อยได้ราคา เพราะผลมีตำหนิ
อนาคตการตลาด
เมื่อสอบถามถึงเรื่องการตลาดในอนาคต คุณนคร ตอบด้วยความมั่นใจว่า แม้จะมีผู้ขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นแต่ตลาดก็ยังดี เพราะมะยงชิดเป็นไม้ผลที่บังคับให้ออกดอกนอกฤดูไม่ได้ ต้องอาศัยธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วมะยงชิดจะเริ่มออกสู่ตลาดจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พอหมดก็จะเลื่อนมาที่ปราจีนบุรี นครนายก เขาสู่เขตภาคกลาง ต่อจากภาคกลางก็จะถึงเขตภาคเหนือตอนล่าง คือ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร และสุดท้ายที่เชียงใหม่ ผลผลิตจะถูกควบคุมโดยธรรมชาติมีความต่อเนื่องไม่ตรงกัน
ราคามะยงชิดพันธุ์ดีจะไม่เท่ากันในแต่ละปี ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด เช่น ปีไหนมะยงชิดติดผลน้อย ราคาก็จะสูงมาก เป็นต้น โดยมากถ้าไม่ขายเหมาสวน เกษตรกรก็จะขายเอง โดยคัดเป็นเบอร์ เบอร์ 1 ขนาดผล 13-15 ลูก ต่อกิโลกรัม เบอร์ 2 ขนาดผล 16-17 ลูก ต่อกิโลกรัม เบอร์ 3 ขนาดผล 18 ลูก ต่อกิโลกรัม ผลเล็กหรือตกเกรด ขายรวมกิโลกรัมละ 20 บาท
เคล็ดลับ การปลูกมะยงชิดให้รอดตาย
เกษตรกรหรือผู้ปลูกมะยงชิดมือใหม่หลายรายมักประสบปัญหาต้นมะยงชิดย่อยตายหลังปลูกได้ไม่นาน บางรายปลูกไปแล้ว 1-2 ปี แต่ต้นมะยงชิดก็ยังไม่ยอมเจริญเติบโต ปัญหาเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจถึงเรื่องการปลูกและการดูแลต้นมะยงชิดในระยะเล็ก จึงได้รวบรวมเคล็ดลับต่างๆ ในการดูแลมะยงชิดในระยะเริ่มแรก โดยสอบถามจากชาวสวนที่ประสบความสำเร็จพอสรุปได้ดังนี้
1. ดินและการเตรียมดิน มะยงชิด เป็นพืชที่ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงและต้องมีการระบายน้ำดี หากเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังหรือการระบายน้ำไม่ดีต้นจะตายง่าย ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นดินร่วนทราย หรือดินลูกรังจะต้องผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักก่อนปลูก
2. กิ่งพันธุ์ที่ใช้ระบบรากต้องดี มะยงชิด เป็นพืชที่มีรากน้อยมาก โดยเฉพาะต้นที่มีอายุน้อยจะมีรากเพียง 3-4 เส้น เท่านั้น ดังนั้น ถ้ากิ่งพันธุ์มีระบบรากไม่ดีพอ มักพบปัญหาปลูกแล้วยืนต้นตายหลังแตกใบอ่อนได้เพียงชุดเดียว หรือบางครั้งต้นแคระแกร็นไม่ยอมแตกใบอ่อน แม้จะดูแลดีก็ตาม วิธีเลือกกิ่งพันธุ์ที่ดีจะต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ถ้าเป็นกิ่งพันธุ์ที่มีรากแก้ว การเจริญเติบโตจะดีมาก
3. ปลูกมะยงชิดต้องมีร่มเงา โดยธรรมชาติแล้วมะยงชิดเป็นพืชที่ต้องการร่มเงาในระยะ 1-2 ปีแรกของการปลูก ถ้าปลูกใต้ร่มเงาที่มีแสงรำไรการเจริญเติบโตจะดีกว่า การปลูกในที่โล่งแจ้ง การทำร่มเงาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
หลังจากปลูกมะยงชิดแล้วใช้ตาข่ายพรางแสงทำเป็นร่มเงา หรือบางคนอาจปลูกไม้ร่มเงาเช่นกล้วยไว้ข้างๆ ต้นมะยงชิด เมื่อกล้วยโตจะเป็นร่มเงาให้แก่มะยงชิดอย่างดี อีกประการหนึ่งคือเราจะได้เก็บผลผลิตของกล้วยไปขายก่อนในระยะ 1-2 ปีแรกที่มะยงชิดยังไม่ให้ผลผลิต จนเมื่อมะยงชิดมีอายุ 2 ปี หรือดูว่าแข็งแรงดีจึงค่อยตัดกล้วยทิ้ง
4. ระวังอย่าให้ขาดน้ำ มะยงชิด เป็นพืชที่ต้องการความชุ่มชื้น การปลูกมะยงชิดในระยะแรกของการปลูกจึงห้ามขาดน้ำโดยเด็ดขาด เพราะหากขาดน้ำจนใบเริ่มเหี่ยว โอกาสที่จะฟื้นยากมาก ดังนั้น ให้จำไว้เสมอว่ามะยงชิดห้ามขาดน้ำ ถ้าขาดน้ำเหี่ยวตายทันที แต่เมื่อโตแล้วถือว่าเป็นพืชหนึ่งที่ทนแล้ง
5. ห้ามใส่ปุ๋ยเคมีในปีแรกโดยเด็ดขาด เกษตรกรมือใหม่หลายรายประสบความล้มเหลวในการปลูกมะยงชิดเพราะต้นตาย เนื่องจากการใส่ปุ๋ยเคมีข้อนี้เป็นเรื่องจริง จากที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นคือ มะยงชิดเป็นพืชที่มีรากน้อย ถ้าเรานำปุ๋ยเคมีไปใส่โอกาสที่ต้นจะตายมีสูงมาก ดังนั้น หากต้องการให้ต้นมะยงชิดเจริญเติบโตดีในปีแรก ให้ใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักแทนจะปลอดภัยที่สุด หรือหากจะใส่ปุ๋ยเคมีต้องใส่น้อยๆ แล้วใส่ด้วยความระมัดระวัง
เผยแพร่ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ.2563